ประจวบคีรีขันธ์- พบม้าหัวหินป่วยตายแล้ว 6 ตัว ยังไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอหัวหินเร่งระดมเจ้าหน้าที่ และด่านกักกันสัตว์ประจวบฯ เร่งพ่นยาฆ่าเชื้อทั้งจุดที่พบม้าป่วยตาย พร้อมผ่าพิสูจน์เก็บตัวอย่างชื้นเนื้อส่งตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตกจังหวัดราชบุรี
วันนี้ (29 มี.ค.) นายพิทยา คณะมะ ปศุสัตว์อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอหัวหิน และเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน ที่เป็นสถานที่เลี้ยงม้าทั้งในซอยเขาพิทักษ์ บ่อนไก่ เทศบาลเมืองหัวหิน โดยมีนายวัชระพงศ์ ไกรวาส ประธานชมรมม้าชายหาดหัวหิน พาเจ้าหน้าที่ตระเวนไปตามคอกม้าต่างๆ พร้อมทำการเร่งพ่นยาฆ่าเชื้อทั้งบริเวณคอกม้าที่พบว่ามีม้าป่วยตาย จำนวน 6 ตัว และในพื้นที่โดยรอบรัศมี 2 กิโลเมตรของจุดที่มีม้าป่วยตายในซอยเขาพิทักษ์ บ่อนไก่ เขตเทศบาลเมืองหัวหิน
โดยเจ้าหน้าที่ได้ระดมทั้งการใช้แบบสะพายหลังเดินพ่นในคอกม้าขนาดเล็ก 1-3 ตัว และใช้รถยนต์บรรทุกเครื่องพ่นยาที่มีการลากสายหัวฉีดได้ในระยะไกลสำหรับคอกม้าขนาดใหญ่ทั้งแต่ 1-7 ตัว โดยเบื้องต้นปศุสัตว์อำเภอหัวหิน ระบุว่าขณะนี้มีจำนวนม้าในเขตเทศบาลเมืองหัวหินประมาณ 70 ตัว กระจายอยู่ในชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน โดยเจ้าของม้าที่ม้าตัวเองป่วยตาย กล่าวว่า เหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับม้ามาก่อน
ซึ่งยอมรับว่ากลัวกับโรคที่เกิดขึ้นกับม้าในขณะนี้ โดยปัจจุบันนี้ตั้งแต่ม้าตายในหัวหิน ก็ไม่ได้นำม้าออกไปให้บริการนักท่องเที่ยวที่ชายหาดหัวหินแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เจ้าของม้าได้เฝ้าระวังอาการม้าของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้น ปศุสัตว์อำเภอหัวหิน บอกว่าวันนี้ยังไม่พบว่ามีรายวานว่าพบม้าป่วยเพิ่มเติมแต่อย่างใด
นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า สถานการณ์ม้าป่วยตายในพื้นที่อำเภอหัวหิน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ซึ่งมีการแจ้งม้าป่วย มีอาการซึม ล้มนอน หนาวสั่น แล้วล้มตาย ในซอยเขาพิทักษ์ บ่อนไก่ ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน หลังจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้รับแจ้งจึงเข้าพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคและเฝ้าระวังโรคในม้าอื่นๆ โดยรอบ พบว่า มีม้าป่วยตั้งแต่วันที่ 14-28 มีนาคม 2563 จำนวน 6 ตัว เป็นกลุ่มม้ารุ่นและม้าโต
อาการที่แสดงคือ ซึม ไม่กินอาหาร ปากบวม ลิ้นบวม เยื่อเมือกเป็นสีคล้ำ กล้ามเนื้อสั่น เดินเซ ไข้สูงในบางตัว และตายหลังจากแสดงอาการภายใน 2-3 วัน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ทำการรักษาตามอาการ และเก็บตัวอย่างจากสัตว์ป่วยส่งวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ เบื้องต้น พบผลเป็นลบต่อโรคเซอรา หรือที่เรียกว่าปรสิต หรือพยาธิในเลือด (Trypanosomiasis) ซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกับอาการที่ม้าป่วยข้างตัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังรอผลตรวจโรคเพิ่มเติมจากทางห้องปฏิบัติการ
เบื้องต้น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ดำเนินมาตรการเพื่อลดการสูญเสียและการแพร่โรค โดนสั่งกักม้าที่ป่วยแยกออกจากฝูง ไม่ใช้สิ่งของหรืออุปกรณ์ร่วมกับม้าที่ป่วย ระงับการเคลื่อนย้ายม้าเข้าและออกในพื้นที่และหลีกเลี่ยงการนำม้าใหม่เข้ามาเลี้ยง ทำลายเชื้อโรคตามยานพาหนะที่เข้าออก คอกม้าและพื้นที่โดยรอบ ประกอบกับสืบค้นข้อมูลในการเคลื่อนย้ายม้า ลา ล่อ เข้าในพื้นที่ เพื่อทราบปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค
รวมทั้งให้คำแนะนำแก่เจ้าของม้าในบริเวณดังกล่าว ให้มีการดูแลและป้องกันม้าจากแมลงที่เป็นพาหะนำโรค ขณะเดียวกัน ได้มีการผ่าพิสูจน์และนำเศษชื้นเนื้อและเลือดของม้าตัวที่ป่วยส่งตรวจพิสูจน์ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตกจังหวัดราชบุรี นอกจากนี้ ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพ่นยากำจัดแมลงพาหะนำโรคในม้าในวันพรุ่งนี้
โดยเมื่อเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้แถลงข่าวการพบการระบาดของโรคกาฬโรคม้า (African Horse Sickness) ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยและมีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ โดยมีบางอาการของโรคดังกล่าวคล้ายกับม้าที่เกิดโรคในอำเภอหัวหิน ซึ่งโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน ทั้งนี้ ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะแจ้งผลการวินิจฉัยโรคและการสอบสวนโรคให้ทราบต่อไป