xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ลุยดูซากบ้านบอมเบย์เบอร์มา พบหลักฐานกรมศิลป์ส่อเพิกเฉยตั้งแต่แรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพร่ - พี่ศรี พร้อมอดีต ส.ส.ดังเมืองแพร่ ลุยดูซากบ้านบอมเบย์เบอร์มา พบหลักฐานกรมศิลป์ส่อเพิกเฉยตั้งแต่ต้น ป่าไม้ส่งจดหมายถามปี 61 จนถึงปี 63 ยังไม่ตอบ จนเกิดเรื่องบ้านโบราณถูกรื้อ



บ่ายวันนี้ (7 ก.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ผู้ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.เรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีทางราชการรื้อบ้านบอมเบย์เบอร์มา บ้านโบราณที่แสดงถึงประวัติศาสตร์การป่าไม้เมืองแพร่ จนเหลือแต่ซาก ได้เดินทางมาดูสภาพบ้านในสถานที่จริงบริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน เทศบาลเมืองแพร่ พร้อมกับนายแพทย์ทศพรเสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่

โดยนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ได้ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการสอบสวนหาข้อเท็จจริงการรื้ออาคารดังกล่าว พร้อมทั้งประวัติความเป็นมาบริษัทบอมเบเบอร์มา ที่มาตั้งอาคารชั่วคราวเพื่อตรวจนับคำนวณไม้ก่อนล่องซุงเข้าลำน้ำเจ้าพระยา กระทั่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้อาคารบอมเบย์เบอร์มาถูกน้ำพัดเสียหาย

ต่อมา บริษัทอิสเอเชียติ๊ก เข้ามารับช่วงสร้างอาคารใหม่ แต่ใช้งบประมาณอย่างไรไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจน หลังจากนั้นได้ส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย อยู่ในความดูแลของกรมตำรวจ กระทั่งระบบราชการเปลี่ยนแปลงอาคารดังกล่าวจึงตกอยู่กับกรมป่าไม้ มีการซื้อที่ดินเพิ่มเติม แต่ต่อมาแม่น้ำยมเปลี่ยนทิศทางทำให้ที่ดินบางส่วนถูกน้ำกัดเซาะอยู่ในน้ำกว่า 10 ไร่ ก่อนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะมารับผิดชอบในปัจจุบัน


นายอิศเรศ ระบุว่า โครงการซ่อมแซมอาคารบอมเบย์เบอร์มา เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2561 โดยทางจังหวัดมีนโยบายอนุรักษ์อาคารที่อยู่นอกเขตเมืองเก่า แต่อยู่ในที่ดินราชพัสดุหรือกรมธนารักษ์ ซึ่งก็คือบ้านเขียว อาคารที่ถูกรื้อ กับอาคารมิชชันนารี ที่อยู่ในศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแพร่

และเมื่อมีแผนซ่อมแซมอาคารดังกล่าว หัวหน้าสวนรุกชาติเชตวัน ที่ได้เข้าร่วมประชุมกับทางจังหวัดก็ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 สอบถามวิธีแนวทางปฏิบัติกับการใช้งบประมาณฟื้นฟูบ้านที่เป็นโบราณสถาน แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงกลับมา จนถึงปี 2563 งบประมาณตกมาจึงต้องดำเนินการ โดยไม่คิดว่าจะผิดกฎหมาย เพราะกรมศิลป์เองก็ไม่ได้แจ้งกลับมา


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางผู้รับเหมายินดีคืนเงินงบประมาณค่าจ้างรื้อถอนทั้งหมดคืนคลัง โดยกำลังอยู่ระหว่างการทำสัญญาเลิกจ้าง จากนั้นอาคารดังกล่าวจะอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร และใช้งบประมาณของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ราว 20-30 ล้านบาท ในการก่อสร้างฟื้นฟู


นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากระบบราชการที่ล้าหลัง ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนท้องถิ่น และดำเนินการโดยพลการ ไม่ให้ความสำคัญต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ มุ่งไปที่อำนาจของตนเองจนเกิดความเสียหายขึ้นมา

ขณะที่นายศรีสุวรรณ กล่าวว่าตนต้องมาดูสถานที่จริง ดูการสอบสวน ติดตามอย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังใจให้แก้คนทำงานเพื่ออนุรักษ์บ้านดังกล่าว รวมทั้งหน่วยราชการที่ทำงานอย่างบริสุทธิ์ใจ ซึ่งการมาครั้งนี้พบเอกสารสำคัญที่ชี้ชัดว่าสวนรุกขชาติและสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ได้ส่งเรื่องให้กรมศิลปากรดูแล้ว แต่กรมศิลป์ไม่ให้ความสนใจไม่มาดูไม่นัดประชุมไม่ตอบจดหมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานสำคัญที่จะหาผู้กระทำผิดเพิ่ม โดยขณะนี้ได้ยื่นฟ้องไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น