แพร่ - ทั้งนักวิชาการ-ชาวเมืองแพร่ถล่มยับ..ป่าไม้ทุบอาคารประวัติศาสตร์บอมเบย์เบอร์มา อายุกว่า 120 ปี ร่องรอยสนธิสัญญาเบาว์ริง-อัตลักษณ์แพร่เมืองไม้สัก จนเหลือแต่ซาก ผอ.สบอ.13 ยันเจตนาดี แต่ไม่คาดคิดจะเกิดผลกระทบขนาดนี้ได้
สายวันนี้ (16 มิ.ย.) นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้เดินทางลงพื้นที่ดูสภาพอาคารประวัติศาสตร์ป่าไม้เมืองแพร่ที่ถูกทุบทิ้ง ที่บริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน ซึ่งเป็นอาคารไม้ประยุคแบบอาณานิคมอังกฤษ อายุ 120 ปี เคยเป็นสำนักงานบริษัทบอมเบเบอร์มา และยังเคยเป็นท่าเรือล่องซุงของบอมเบเบอร์มา-บริษัทอิสเอเซียติค สมัยยังมีเจ้าหลวงผู้ครองนครแพร่อยู่
อาคารดังกล่าวอยู่ในครอบครองของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 โดยนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ได้สั่งการให้ดำเนินการรื้อถอนอาคารเก่าเพื่อให้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนรุกขชาติเชตวัน หลังจากได้รับงบประมาณที่ขอไว้ในปี พ.ศ. 2561-2562
วันเดียวกันนี้ นายธีรวุธ กล่อมแล้ว วิศวกรชาวเมืองแพร่ พร้อมภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่และชาวบ้านเชตวัน ได้เข้ายื่นหนังสือประท้วงการกระทำดังกล่าวต่อนางกานต์เปรมปรีด์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ที่ศาลากลางจังหวัด โดยระบุถึงประกาศให้เมืองแพร่เป็นเมืองเก่าว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ตามมติ ครม. 10 ก.พ. 2558 จึงเรียกร้องให้จังหวัดฯ ดำเนินการดังนี้ 1. ให้ระงับการก่อสร้างทั้งหมด 2. เปิดเผยข้อมูลงบประมาณ แผนการรื้อถอนและก่อสร้าง 3. หาผู้รับผิดชอบการทุบทิ้งอาคารประวัติศาสตร์ 4. สร้างประชาคมให้มีส่วนร่วมพัฒนาสวนรุกขชาติเชตวัน 5. ให้หน่วยงานรับผิดชอบเสนอแนวทางฟื้นฟู
หลังจากนั้นนางกานต์เปรมปรีด์ได้เรียกหน่วยงานที่รับผิดชอบประชุมด่วนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รู้ผลโดยเร็ว พร้อมกล่าวว่าประชาชนชาวแพร่เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก ทราบว่าการของบประมาณไปเพื่อซ่อมแซมอาคารเก่า จำนวน 4 ล้านบาท แต่ผลออกมาเป็นการรื้อถอนทั้งหมด อย่างไรก็ตามขอให้รอการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน ขอให้ชาวแพร่อดใจรอผลการสอบสวน
ด้านนายพัฒนา แสงเรียง นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า อาคารดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองแพร่ แต่ทำไมการซ่อมแซมถึงกลายเป็นการรื้อไปได้ ซึ่งการขอดูขั้นตอนการทำงานทางวิศวกรรมก็ไม่มีหมายความแล้ว เรื่องนี้คงต้องใช้กฎหมายจัดการ เพราะความผิดสำเร็จแล้ว ความเสียหายเกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์เมืองแพร่แล้ว
นายสุวิทย์ เขมะวิชานุรัตน์ ไกด์ท่องเที่ยว กล่าวว่า นักท่องเที่ยวชาวยุโรปสนใจอาคารนี้มาก บางคนมาเพราะบ้านหลังนี้มีประวัติของต้นตระกูลเขาอยู่ด้วย
นายสุรพงษ์ กองจันทร์ทึก นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เห็นข่าวแล้วสะเทือนใจมาก บ้านหลังนี้เคยเป็นที่ทำงานของคุณพ่อ ตนเคยอยู่สมัยเด็กๆ อาคารนี้มีความสำคัญต่อคนในวงการป่าไม้อย่างมาก แต่ทำไมจะรื้อแล้วไม่บอกใคร
ขณะที่นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กล่าวในที่ประชุมว่า ตนมีเจตนาดีในการปรับปรุงอาคาร แต่ไม่คาดคิดว่าจะส่งผลกระทบมากขนาดนี้ ส่วนแนวทางรื้อถอนอยู่ที่ผู้รับเหมาและนายช่างวิศวกรซึ่งจะมาชี้แจงในวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายนนี้ เป็นวันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้นัดให้มีการชี้แจงอีกรอบ
สำหรับบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ เริ่มทำไม้ในประเทศพม่าก่อนเพื่อส่งออกไม้ไปยังจีน อินเดีย ต่อมาเริ่มเข้ามาทำไม้ในภาคเหนือของไทย เนื่องจากป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์ และค่าสัมปทานถูกกว่าในพม่า โดยเข้ามาทำไม้ในเมืองแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 ได้รับสัมปทานทำไม้ในบริเวณป่าแม่น้ำยมตะวันตก และได้สร้างอาคารสำนักงานดังกล่าว จนถึงปัจจุบันมีอายุราว 127 ปี ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าน้ำบ้านเชตวัน อ.เมือง จ.แพร่