xs
xsm
sm
md
lg

ขอบอมเบย์เบอร์มาเป็นหลังสุดท้าย..ชี้ป่าไม้ทุบบ้านโบราณเหมือนปิดตำนานค้าไม้เมืองแพร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพร่ - ตามรอยปากกา “เสริมศรี เอกชัย-นักเขียนดัง” ลูกสาวอดีตป่าไม้ภาคที่เคยวิ่งเล่นในบ้านโบราณบอมเบย์เบอร์มา-อาคารประวัติศาสตร์ทำไม้เมืองแพร่ ก่อนถูกทุบเหลือแต่ซาก ปธ.หอฯ แพร่รับสุดเสียดาย-ขอเป็นบทเรียนหลังสุดท้าย

นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่
หลังสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (สบอ.13 แพร่) ได้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ โดยเฉพาะการปรับปรุงอาคารให้มีความแข็งแรงสามารถรองรับนักท่องเที่ยว นักเรียนนักศึกษาที่มาเรียนรู้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย เนื่องจากโครงสร้างเดิมชำรุดเสียหายมาก ในวงเงินงบประมาณ 4,560,000 บาท ตามสัญญาจ้างเลขที่ 37/2563 เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 30 พ.ค.-25 พ.ย. 63

แต่สุดท้ายกลับมีการรื้อถอนอาคารไม้โบราณที่เป็นร่องรอยประวัติศาสตร์การทำไม้ของเมืองแพร่ เพราะเป็นอาคารที่บริษัทบอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด จากประเทศอังกฤษ และบริษัทอีสเอเชียติค จำกัด จากประเทศเดนมาร์ก ใช้เป็นสำนักงาน-ที่อยู่อาศัย และใช้เป็นท่าล่องซุงจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาได้ยกพื้นที่และอาคารให้กรมป่าไม้ ซึ่งได้ใช้เป็นที่ทำการและที่พักของป่าไม้ภาคในอดีต


กระทั่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะที่ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ก็ออกมาคัดค้านและยื่นข้อเรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างโครงการ ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ ทันที, เปิดเผยข้อมูลโครงการ งบประมาณ รูปแบบการก่อสร้าง แผนการดำเนินงาน ผู้รับผิดชอบโครงการ, ตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบในการรื้อถอนทำลายอาคารประวัติศาสตร์, สร้างประชาคมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่สวนรุกขชาติอย่างเปิดกว้าง และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูบูรณะ ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 63

ขณะที่นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เรียกหน่วยงานเข้าชี้แจงที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ พร้อมระบุว่า ได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องนี้แล้ว ตอนนี้ขอให้ทางจังหวัดได้ตรวจสอบ ตั้งแต่การเริ่มโครงการ และการของบประมาณ ตลอดจนการทำทีโออาร์ รวมทั้งการก่อสร้าง ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่ โดยจะนัดผู้เกี่ยวข้องพูดคุยกันอีกครั้งในวันที่ 19 มิ.ย.นี้


นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์-นักกฎหมายภาคประชาชน เปิดเผยว่าอาคารศูนย์การเรียนรู้การป่าไม้เป็นอาคารไม้สองชั้น สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมประยุกต์ สร้างไว้บริเวณริมแม่น้ำยม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 หรือมีอายุได้ 131 ปี ถือเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาวจังหวัดแพร่มาหลายชั่วอายุคน แต่ในการปรับปรุงซ่อมแซม กลับเป็นการรื้อทำลาย โดยปราศจากการศึกษาหรือใช้หลักวิชาการในการอนุรักษ์ฟื้นฟูอาคารที่ถูกต้อง และไม่สอดคล้องกับนโยบายในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าแพร่

นอกจากนี้ยังเป็นอาคารที่สร้างนักเขียนที่ชื่อ “เสริมศรี เอกชัย” ได้เติบโตและเข้มแข็ง เป็นนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเสริมศรี เอกชัย เจ้าของนามปากกา “สนทะเล” ได้เขียนถึงชีวิตตนเองสมัยอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ ในฐานะลูกสาวของ “ขุนวนารักษ์ดำรง (ทองคำ สุวรรณเกสร์) ป่าไม้ภาค” ซึ่งมีบ้านหลังนี้เป็นบ้านประจำตำแหน่ง

โดยมีข้อเขียนว่า “..ไม่มีใครรู้ดีกว่าดิฉันเลยว่า ไม่เคยมีความสุขที่ไหน จะเปี่ยมล้นพ้นสมบูรณ์ที่สุด เท่ากับชีวิตของดิฉัน เมื่อพ่อยังมีชีวิตอยู่ เมื่อดิฉันยังเป็นเด็ก เมื่อดิฉันอยู่เมืองแพร่ และเพราะความสมบูรณ์ยิ่งในชีวิตที่เคยได้รับมานี่เองที่เป็นกำลังใจให้ดิฉันสามารถยืนหยัดรับการคุกคามของเหตุการณ์ต่างๆ มาได้ ผ่านชีวิตมาอย่างคนจองหองคนหนึ่ง ที่ไม่เคยคุกเข่าให้ใคร..”

บทความของเสริมศรี เอกชัย นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังที่ให้ความสำคัญต่อบ้านหลังนี้ไว้อย่างชัดเจนในฐานะหนึ่งในลมหายใจประวัติศาสตร์จากบ้านหลังนี้ ท่ามกลางความเสียใจและเสียดายของชาวเมืองแพร่ ที่ต้องการให้บ้านหลังดังกล่าวกลับคืนมาเหมือนเดิมทุกกระเบียดนิ้ว

นายปัญจพล ประสิทธิโศภิน ประธานหอการค้าจังหวัดแพร่
นายปัญจพล ประสิทธิโศภิน ประธานหอการค้าจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การกระทำของส่วนราชการทำให้บ้านเก่าแก่ที่เป็นร่องรอยประวัติศาสตร์ เป็นต้นทุนสำคัญทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดแพร่ ต้องปิดตำนานลงอย่างสิ้นเชิง เพราะแม้จะสร้างใหม่ แต่ความหมายเปลี่ยนไปแล้ว คงไม่ใช่หลังเก่าที่ใครต่อใครเคยมาอยู่อาศัย มาทำงาน บ้านที่เคยมีความสำคัญระดับประเทศ สำคัญข้ามทวีป หมดลงแล้วในวันนี้

เรื่องนี้ต้องถือเป็นบทเรียนสำคัญ อาคารหลังนี้ควรเป็นหลังสุดท้ายหรือไม่ที่ต้องถูกทำลายไป ภาคราชการต้องมาดูและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเพื่อไม่ให้ปัญหาแบบนี้เกิดซ้ำอีก ต้องตั้งกรรมการร่วม หรือให้น้ำหนักภาคประชาชนได้ร่วมทำงาน ร่วมคิดอย่างเป็นรูปธรรมได้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีกฎหมายที่บังคับให้ราชการเอาประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม แต่ก็เป็นเพียงเอกสารไม่เกิดขึ้นจริง วันนี้ต้องทำให้เกิดและควรเป็นการทำลายครั้งสุดท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น