xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ส.ส.ดังโพสต์เฟซฯ แฉชัด..อ้าง “ท่องเที่ยว” ทุบบ้านโบราณบอมเบย์เบอร์มา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพร่ - สบอ.13-กรมอุทยานฯ ระดมกำลัง จนท.-คนงานรับเหมาเก็บไม้เรือนเก่าบ้านโบราณบอมเบย์เบอร์มาหลบฝน..หลังรื้อถอนเหลือแต่ซากภายใต้โครงการซ่อมแซมฯ จนคนวิจารณ์ขรม อดีต ส.ส.เพื่อไทยโพสต์เฟซฯ ระบุที่มาที่ไปอาคารประวัติศาสตร์ถูกทุบชัด


ความคืบหน้ากรณีเรือนขนมปังขิง-บ้านโบราณบอมเบย์เบอร์มา อาคารเก่าแก่อายุกว่า 120-130 กว่าปี ที่ตั้งอยู่ภายในสวนรุกขชาติเชตวัน เขตเทศบาลเมืองแพร่ ถูกรื้อถอนตั้งแต่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตามโครงการปรับปรุงซ่อมแซมศูนย์เรียนรู้การป่าไม้แพร่ ของ สบอ.13 ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าเป็นการทำลายประวัติศาสตร์การป่าไม้แพร่ลงอย่างสิ้นเชิง

ขณะที่นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง พร้อมนัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อมูลอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (19 มิ.ย.) หลังจากเคยเรียกประชุมมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ผู้เกี่ยวข้องยังไม่สามารถให้รายละเอียดคลายข้อสงสัยสังคมได้


ล่าสุด นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผอ.สบอ.13 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ พร้อมคนงานบริษัทรับเหมาร่วม 100 คน ลำเลียงไม้ที่รื้อถอนจากบ้านโบราณดังกล่าวไปเก็บในอาคารอีกหลังหนึ่ง เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกหนัก เกรงว่าชิ้นส่วนไม้จะได้รับความเสียหายก่อนที่จะนำไปสร้างใหม่ นอกจากนั้นยังติดตั้งกล้องวงจรปิดและสปอตไลต์ป้องกันการลักขโมยที่อาจเกิดขึ้นได้ในเวลากลางคืนด้วย


ขณะที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ภาพบ้านโบราณบอมเบย์เบอร์มาทั้งก่อนและหลังการรื้อถอน พร้อมระบุข้อความบนเฟซบุ๊ก “วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล” ว่า..ในที่สุดหลักฐานก็ปรากฏ บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้จัดทำโครงการทุกประการ

..บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดแพร่ หน่วยงานในจังหวัดและท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเมืองแพร่อย่างต่อเนื่อง..ท่องเที่ยวแพร่ ดังแล้วไงครับ บรรลุวัตถุประสงค์ของท่านแล้ว ดีใจมั้ยครับ




ทั้งนี้ นายวรวัจน์ยังโพสต์ระบุชื่อผู้เสนอโครงการฯ คือนางกัญญารัตน์ ท่วมไธสง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ปัจจุบันย้ายจากจังหวัดแพร่แล้ว) ผู้เห็นชอบโครงการคือ นายโชคดี อมรวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ และมีนางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นผู้อนุมัติ ดำเนินการในพื้นที่ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 แพร่ ดูแลโดยนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ภาพจากกเฟซบุ๊ก วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
อดีต ส.ส.แพร่ระบุด้วยว่า ไม่ต้องรายงานการศึกษาความเหมาะสม มีรายการรื้อถอนเพื่อสร้างใหม่ แปลง่ายๆ..ผู้ดูแลสถานที่คือกระทรวงทรัพย์เห็นว่าอาคารที่ดูแลอยู่เก่า ใช้ประโยชน์เป็นสำนักงานไม่สะดวก ก็เลยอยากได้ที่ทำงานใหม่ ก็เลยแอบแฝงเจตนาโดยร่วมมือกับท่องเที่ยวอ้างคำว่า “ท่องเที่ยว” ขอใช้งบผู้ว่า CEO เริ่มตั้งแต่ปี 60 เสนอใช้งบประมาณในปี 63 รองผู้ว่าฯ ก็ผ่านเรื่อง ให้ผู้ว่าฯ เซ็นอนุมัติ ก็เท่านั้นเอง

ในที่สุด อาคารโบราณสถานในจังหวัดแพร่ บอมเบย์เบอร์มา อายุ 127 ปี ในแพร่เมืองเก่าอายุกว่า 1,200 ปี (เก่าแก่ที่สุดในล้านนา) ก็ถูกทำลาย โดยข้าราชการที่ไม่ได้เป็นคนจังหวัดแพร่ อยากได้อาคารใหม่เพื่อเอาไว้เป็นสถานที่ทำงาน ยังมีโบราณสถานที่เป็นบ้านเก่าของเอกชนที่เขารักษา เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น บ้าน 100 ปี บ้านวงค์บุรี ที่ประชาชนขอเข้าไปเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย

ภาพจากเฟซบุ๊ก วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
แต่อาคารโบราณสถานเก่าแก่ที่อยู่ในมือส่วนราชการอีกหลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ไม้สักแพร่ ภายในบริเวณโรงเรียนป่าไม้แพร่ กำแพงเมืองรูปหอยสังข์ แห่งเดียวของโลก ส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพย์ บางส่วนอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย สำหรับคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ โชคดีที่ดูแลโดย อบจ.แพร่ มีคนท้องถิ่นโดยนายอนุวัธ วงค์วรรณ เป็นผู้ดูแล ก็เลยยังสวยงามเป็นมิ่งขวัญให้คนไทยและคนจังหวัดแพร่ชื่นชมต่อไป

แต่อาคารโบราณสถานใน “แพร่เมืองเก่า 1,200 ปี” อีกจำนวนมากที่ถูกยึดอยู่ในมือส่วนราชการ จะทำอย่างไรให้อยู่รอดปลอดภัย..โจทย์นี้คงต้องขอให้คนไทยทุกคนช่วยแสดงความคิดเห็นแล้วครับ..ทุก 1 เสียงของท่านที่จะได้ช่วยกรุณาปกป้อง จะช่วยต่อชีวิตให้อาคารโบราณสถานอีกจำนวนมาก ได้ถูกรักษาเอาไว้เป็นสมบัติของลูกหลาน และเพื่อ “การท่องเที่ยวที่แท้จริง” ต่อไปได้ครับ..ลงชื่อ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล

ภาพจากเฟซบุ๊ก วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
ขณะที่ตัวแทนองค์กรต่างๆ และแกนนำภาคีคนรักษ์เมืองเก่าแพร่หลายคนเกรงว่าการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของนางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จะทำเป็นพิธีเพื่อให้ลดกระแสคัดค้าน-วิพากษ์วิจารณ์ลงเท่านั้น สุดท้ายคนที่ทำให้บ้านโบราณแห่งนี้เสียหายอาจลอยนวล

นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า อาคารบอมเบย์เบอร์มาเป็นอาคารไม้สักทองอายุเก่าแก่ถึง 131 ปี ถือว่าเข้าองค์ประกอบเป็นโบราณสถาน แม้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนต่อกรมศิลปากร ก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ภาพจากเฟซบุ๊ก วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
โดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ระบุว่า โบราณสถาน หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุ หรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย

ซึ่งอาคารนี้สร้างตั้งแต่ราวปี 2432 นับว่ามีอายุยืนนานมาก เป็นอาคารศิลปะแบบตะวันตกขนาดใหญ่ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การทำไม้มาแต่โบราณ จึงเข้าองค์ประกอบเป็นโบราณสถาน ซึ่งได้รับการคุ้มครอง หากผู้ใดทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่า ต้องได้รับโทษตามมาตรา 32 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท

นายสุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมายฉบับนี้ ต้องตรวจสอบและแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย หรือประชาชนผู้พบเห็นสามารถแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้
กำลังโหลดความคิดเห็น