แพร่ - อดีต ส.ส.หลายสมัย คนดังเมืองแพร่..โพสต์แฉซ้ำสัญญาจ้างซ่อมแซมบ้านบอมเบย์เบอร์มา ระบุข้อความให้รื้อเรียบตั้งแต่พื้นคอนกรีตยันหลังคา จนอาคารโบราณเหลือแต่ซากอย่างที่เห็น พร้อมชี้พิรุธที่มาโครงการทุกจุด
หลังจากนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต ส.ส.แพร่หลายสมัย พรรคเพื่อไทย โพสต์ภาพและข้อความเผยแพร่ในเพจ “วรวัจน์ เอื้ออภิญกุล” ถึงโครงการซ่อมแซมบ้านบอมเบย์เบอร์มา สวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ แต่สุดท้ายเหลือแต่เศษซาก กระทบจิตใจผู้คนทั้งเมืองเนื่องจากเป็นอาคารประวัติศาสตร์แห่งการป่าไม้แพร่ อายุกว่า 100 ปี
ล่าสุด นายวรวัจน์ยังได้โพสต์ภาพและข้อความเห็นเชิงวิชาการ ระบุถึงสัญญาจ้างผู้รับเหมาเข้าดำเนินการซ่อมแซมบ้านโบราณดังกล่าวภายใต้หัวข้อ คำตอบความยากจนและหนี้สินประเทศ สรุปได้ว่ากระทรวงทรัพย์ครอบครองและประกาศตัวเป็นเจ้าของ (บอมเบย์เบอร์มา) โดยไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปแตะต้อง และการตั้งงบประมาณในการซ่อมบำรุงให้นั้น “ยากมาก” ทำให้โบราณสถานต่างๆ ของชุมชนเสื่อมโทรมไปโดยไม่ได้รับความสนใจ เราจึงเห็นไม้อัดไปแปะอยู่บนอาคาร 100 ปี โดยทั่วไป
อดีต ส.ส.แพร่หลายสมัยระบุด้วยว่า กระทรวงทรัพย์ไม่ให้ความสนใจสร้างที่ทำงานให้ข้าราชการของตนเอง แต่ใช้วิธียึดโบราณสถานของชุมชนเป็นที่ทำงานแทน ดังนั้น แทนที่ชุมชนเมืองเก่าจะมีอาคารประวัติศาสตร์เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่กลับได้อาคารเก่าผุพังกระจายอยู่ทั้งเมือง ดังนั้น เมื่อข้าราชการไม่ได้รับความสะดวกก็ไม่แปลกที่อยากจะทุบอาคารเก่าทิ้งแล้วสร้างที่ทำงานใหม่เพื่อให้ทำงานได้สะดวกสบายกว่าเดิม โดยที่ไม่สนใจว่าอาคารที่ตนเองใช้งานอยู่นั้นเป็นโบราณสถานอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี และเป็นสมบัติของชุมชน
แต่เนื่องจากไม่สามารถของบประมาณในการสร้างที่ทำงานใหม่จากกระทรวงได้จึงดำเนินการ “ซ่อนเงื่อน” โดยเขียนโครงการเป็นซ่อมแซมและปรับปรุง (งบอาคาร 4 ล้านบาทเป็นงบสร้างห้องน้ำใหม่กว่าล้านบาท) แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นการรื้อถอนและใช้งบซื้อไม้ปลอม “ไม้เชอร่า” และเหล็กชุบสังกะสี มาสร้างเป็นอาคาร 100 ปีแทน
ส่วนไม้สักทองอาคารประวัติศาสตร์เมืองไม้สักทองที่ดีที่สุดในโลกอายุกว่า 100 ปีนั้น สุดท้ายจะนำไปที่ใดไม่มีใครทราบเพราะไม่ได้ปรากฏอยู่ในบันทึกแต่แรก แต่เพิ่งจะได้นำกลับมาใช้สร้างอาคารให้อยู่ในรูปแบบเดิมก็ต่อเมื่อ “ความแตก” เสียแล้ว
ดังนั้น การเสนอตั้งของบประมาณเพื่อการซ่อมแซม แต่ในรายละเอียดเป็นการรื้อถอนทำลายอาคารโบราณบอมเบย์เบอร์มา บริษัทสัญชาติอังกฤษ ที่มาทำธุรกิจค้าไม้ที่จังหวัดแพร่นั้น ถือว่าเป็นการให้การเท็จต่อกรรมาธิการงบประมาณและกระทำการทุจริตงบประมาณของหน่วยงาน ของจังหวัด ของผู้บริหารกระทรวงที่ชี้แจง ก่อให้เกิดความเสียหายทำลายโบราณสถาน เป็นความสูญเสียทางด้านการท่องเที่ยว ศิลปกรรม และชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของประเทศชาติอย่างร้ายแรง
นายวรวัจน์ระบุด้วยว่า การที่รองอธิบดีกรมอุทยานฯ รับปากจะจัดหางบประมาณมาซ่อมแซมให้นั้น ด้วยงบประมาณปี 2563 ที่ประมูลไปแล้วจำนวน 4,560,000 บาท จะนำมาใช้ไม่ได้ เพราะในรายละเอียดเป็นการซื้อวัสดุใหม่ ไม่ใช่การซ่อมแซม จึงไม่ตรงวัตถุประสงค์
ส่วนงบประมาณปี 2564 ตั้งไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีรายการนี้ อย่างเร็วก็ปี 2565 เมื่อถึงเวลานั้นไม้เก่าที่รื้อถอนมา ก็จะชำรุดไปหมดแล้ว ยกเว้นกรมอุทยานฯ จะยอมนำเงินกองทุนที่ได้จากการเก็บค่าเข้าชมอุทยานที่จัดเก็บได้หลาย 1,000 ล้านบาทมาชดเชยให้ จึงต้องรอดูว่ากระทรวงทรัพย์จะดำเนินการได้จริงหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้อดีต ส.ส.แพร่คนดังยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเป็นเลขานุการกลุ่มยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว แต่ทำโครงการทำลายอาคารโบราณสถานที่มีสถาปัตยกรรมร่วมไทย-อังกฤษ ทำลายแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่กระทรวงท่องเที่ยวก็ยังเพิกเฉยไม่ได้ดำเนินการอะไร แต่อย่างใด
ขณะที่รองผู้ว่าฯ อยู่จังหวัดแพร่มานาน กลับเห็นชอบโครงการรื้อทิ้งแล้วให้สร้างใหม่ ไม่มีการทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการ เห็นชอบรูปแบบรายการและจัดทำงบประมาณเป็นเท็จ เอกสารไม่ตรงข้อเท็จจริง ไม่ขออนุญาตก่อสร้างจากท้องถิ่น ไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลปากร ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอนุรักษ์เมืองเก่า ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากชุมชน จัดทำเอกสารประมาณย้อนหลัง ทำเอกสารเท็จเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำเสนอข้อมูลเท็จต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณ ชื่อโครงการเป็นซ่อมแซม แต่รายละเอียดเป็นการรื้อถอน
นอกกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดยอมรับแล้วว่าเป็น “ผู้อนุมัติโครงการ” แต่ยังบอกว่าไม่ได้ให้รื้อถอน ทั้งที่ในแบบแปลนและสัญญาจ้างผู้รับเหมาระบุว่าต้องมีการรื้อถอนเสาไม้ เสาคอนกกรีต พื้นไม้ พื้นคอนกรีต หลังคา ผนัง ประตู-หน้าต่าง บันได ซึ่งการรื้อถอน ทุบทิ้งอาคารโบราณสถานเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการอนุมัติ
ด้านกระทรวงวัฒนธรรมมาช่วยตอนจบ (ไปแล้ว) แต่ถ้าจะกรุณาตัดสินใจในการทำงานให้เร็วขึ้นและถ้าหากเห็นว่าเอกสารไม่สมบูรณ์ จะกรุณาให้เจ้าหน้าที่เดินทางมาดูให้..เหตุการณ์ทุบทิ้ง ทำลาย ก็คงไม่เกิดขึ้น
นายวรวัจน์ยังระบุข้อความเรียกร้องมาตรการ “ความรับผิดชอบ” ในการเยียวยา แก้ไข ปกป้องและแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาอีก ซึ่ง ณ ขณะนี้ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
และการที่สำนักงบประมาณ ปล่อยให้มีการขอรับการจัดสรรงบประมาณที่หละหลวมแบบนี้เกิดขึ้นมาได้นั้น แสดงว่าให้เห็นถึงว่า ในปัจจุบันรายการโครงการที่มีปัญหาทั้งรูปแบบรายการ แบบแปลน การขออนุญาต การคำนวณเม็ดเงิน ฯลฯ ไม่ใช่มาตรฐานของสำนักงบประมาณที่พึงจะมั่นใจ ควรที่กรรมาธิการงบประมาณ ประจำปี จะได้กำหนดมาตรการการตรวจสอบ ทั้งเอกสาร แบบแปลนและเม็ดเงิน ให้เข้มงวดรัดกุมมากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นการลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ หาก “บอมเบย์เบอร์มา” เป็นบทเรียน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในอนาคตอย่างแท้จริง การสูญเสียของพวกเราชาวแพร่ ครั้งนี้..พวกเราจะไม่เสียใจเลย