xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รื้ออาคาร “บอมเบย์ เบอร์มา” ไม่รู้คุณค่าประวัติศาสตร์ ใครรับผิดชอบ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นเรื่องจนได้กับความไม่รู้เดียงสาในคุณค่าประวัติศาสตร์และอ่อนด้อยด้านเทคโนโลยีการซ่อมแซมอาคารเก่า คิดเอาแบบมักง่ายทุบทิ้งสร้างใหม่ นั่นจึงทำให้ อาคารเก่าแก่ “บอมเบย์ เบอร์มา” อายุร้อยกว่าปีถูกรื้อทำลายไปอย่างน่าเสียดาย และยังสะท้อนความคิดไม่เคยเปลี่ยนของทางราชการที่ชอบทำตัวแบบ “คุณพ่อรู้ดี” ไม่ถามไถ่ประชาชนคนแพร่สักคำก่อนจะทำอะไรลงไป

กว่าจะรู้เรื่องกว่าจะเป็นข่าวก็เหลือแต่เศษอิฐเศษปูน และคำกล่าวเสียใจอ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของ นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หน่วยงานต้นเรื่องที่ว่าจ้างผู้รับเหมาเข้า “ซ่อมแซมปรับปรุง” แต่กลับ “ทุบรื้อ” ทั้งหลัง

กระแสวิพากษ์วิจารณ์การทุบรื้ออาคารเก่าแก่ บอมเบย์ เบอร์มา ที่เมืองแพร่ กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เมื่อภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ แพร่ภาพอาคารดังกล่าวถูกทุบทิ้ง แล้วโลกโซเซียลก็แห่แชร์พร้อมกับตั้งข้อสงสัยต่างๆ นาๆ ว่าทำไมไม่อนุรักษ์เอาไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ และประวัติศาสตร์การเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมป่าไม้ของบริษัทข้ามชาติในอดีต

กลุ่มภาคีเครือข่ายฯ ที่มีนายธีรวุธ กล่อมแล้ว เป็นหัวหอก เดินหน้าตามล่าหาความจริง ตบเท้าเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ เมืองแพร่ แล้วเรื่องก็ลามเป็นประเด็นระดับชาติที่ “ลูกท็อป” นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องออกมาอรรถาธิบายต่อสังคมให้แจ่มแจ้ง

ส่วนว่าหลังการชี้แจงแล้วจะฟังขึ้น ไม่ขึ้น สังคมจะยอมรับเหตุและผลที่ทำให้อาคารเก่าแก่สิ้นสภาพไปหรือไม่ เป็นเรื่องไม่ง่าย แต่เมื่อผีถึงป่าช้ารื้อกันไปแล้ว ต้องดูว่าการทำรากฐานใหม่ ก่อสร้างอาคารขึ้นมาใหม่จากชิ้นส่วนเก่าที่ถอดรื้อออกไปจะทำให้ผิดเพี้ยนไปกี่มากน้อย และที่สำคัญการมีส่วนร่วมของประชาคมชาวจังหวัดแพร่จะถูกละเลยไม่ได้เป็นอันขาด

ต้องไม่ลืมว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ประกาศให้เมืองแพร่เป็นเมืองเก่าว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า มีการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าแพร่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติสืบไป ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดแพร่ได้ระดมสมองจากทุกภาคส่วนจัดทำ “แผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าแพร่” จิตสำนึกของคนแพร่ จึงมีความคิดหวงแหน อนุรักษ์ สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมคู่บ้านคู่เมือง

การคิดแบบเถรตรงของ นายประพงษ์ อรรคสีวร หัวหน้าสวนรุกขชาติเชตะวัน ที่เป็นที่ตั้งของ “อาคารบอมเบย์ เบอร์มา” ว่าอาคารดังกล่าวไม่ใช่โบราณสถาน เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอาคารเก่า และยังอยู่นอกเขตควบคุมเมืองเก่า เมื่อทางสวนรุกขชาติ ได้รับงบประมาณก็เริ่มปรับปรุง จึงสวนอารมณ์ความรู้สึกของคนแพร่ราวกับราดน้ำมันลงกองเพลิง จะทำอะไรทำไมไม่บอกกล่าวกัน เพราะอาคารหลังนี้จะอยู่ ไม่อยู่ในเขตควบคุมเมืองเก่าหรือไม่ก็ตาม แต่ถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม งานนี้มีหนาว และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องตอบข้อสงสัยของสังคมให้ได้ ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ ระดมพลเปิดเกมรุกทวงถามด้วยการยื่นหนังสือต่อ นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ระงับการก่อสร้างทั้งหมด เปิดเผยงบประมาณ แผนการรื้อถอนและก่อสร้าง หาผู้รับผิดชอบการทุบทิ้งอาคารประวัติศาสตร์ สร้างประชาคมให้มีส่วนร่วมพัฒนาสวนรุกขชาติเชตวันให้หน่วยงานรับผิดชอบเสนอแนวทางฟื้นฟู

นายธีรวุธ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่ายฯ ย้ำขอให้ตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงานในโครงการที่ระบุว่าซ่อมแซม ปรับปรุง แต่กลับให้ผู้รับเหมาเข้ามารื้อถอนทำใหม่ด้วยงบ 4.5 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าไม่สามารถทำได้ในงบเท่านี้ และที่สำคัญการออกแบบยังไม่ชัดเจนทั้งแบบที่สมบูรณ์ หรือเอกสารประกอบในด้านสถาปนิกที่ถูกต้อง ก็ยังไม่ชัดเจน แต่หน่วยงานกลับเข้าไปรื้อถอนทำให้เกิดความคลางแคลงใจ ชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ชุมชนเชตวัน ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับโครงการนี้

ในวันที่ผู้ว่าฯ จังหวัดแพร่ ลงไปตรวจสอบพื้นที่ก็ถึงกับอึ้งกิมกี่ ได้แต่กล่าวเสียใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้น และสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อเรียกร้องของภาคีเครือข่ายฯ โดยให้นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าฯ แพร่ เป็นประธานสอบ และเรียกหน่วยงานรับผิดชอบประชุมด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว “.... ทราบว่าการของบประมาณไปเพื่อซ่อมแซมอาคารเก่า จำนวน 4 ล้านบาท แต่ผลออกมาเป็นการรื้อถอนทั้งหมด .... ขอให้ชาวแพร่อดใจรอผลการสอบสวน...”

อาคาร “บอมเบย์ เบอร์มา” เป็นเรือนไม้สองชั้น ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2432 มีอายุราว 131 ปี เป็นอาคารสำนักงานของบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง ของอังกฤษ ที่เข้ามาทำไม้ในเมืองแพร่ โดยได้รับสัมปทานทำไม้ในบริเวณป่าแม่น้ำยมตะวันตก อาคารดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำบ้านเชตวัน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน ริมแม่น้ำยม ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่)
อาคารสำนักงานแห่งนี้จึงเป็นอนุสรณ์สถาน บอกเล่าประวัติศาสตร์การทำไม้ที่เมืองแพร่และประเทศไทยในเรื่องการให้สัมปทานป่าไม้กับบริษัทต่างชาติในอดีตเมื่อ 130 กว่าปีก่อน และบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าสักเมืองแพร่ที่มีชื่อเสียงและคงความผูกพันกับชาวเมืองมาจนถึงวันนี้

หลังเรื่องร้อนเดือดปุดๆ ขึ้นมา หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่มีนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักฯ รับผิดชอบโครงการ ได้สั่งระงับการดำเนินการไว้ก่อนเพื่อทบทวน และยืนยันจะทำให้อาคารกลับมาในรูปแบบเดิม

นายอิศเรศ สาธยายว่า ทางสวนรุกขชาติเชตวัน เห็นว่าอาคารไม้ดังกล่าวมีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงของบประมาณจากจังหวัดแพร่ เพื่อซ่อมแซมปรับปรุงให้มั่นคงแข็งแรง โดยของบตั้งแต่ปี 2561 ได้รับอนุมัติงบประมาณในปี 2563 จำนวน 6.7 ล้านบาท จังหวัดแพร่ได้มอบอำนาจให้กับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ กำหนดราคากลาง 5.3 ล้านบาท มีผู้ดาวน์โหลดแบบประมูลไป 23 ราย แต่มายื่นประมูล 3 ราย โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่โกสินทร์ก่อสร้าง ชนะการประมูลที่ราคา 4,560,000 บาท

“ผมมีเจตนาดีในการปรับปรุงอาคาร แต่ไม่คาดคิดว่าจะส่งผลกระทบมากขนาดนี้ ....” นายอิศเรศ กล่าว


ขณะที่นายประพงษ์ อรรคสีวร หัวหน้าสวนรุกขชาติเชตวัน ก็ขานรับเป็นความตั้งใจดีที่พยายามปรับปรุงสวนรุกขชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้โดยเฉพาะการปรับปรุงอาคารให้มีความแข็งแรงรองรับนักท่องเที่ยว นักเรียนนักศึกษา เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย เนื่องจากโครงสร้างเดิมชำรุดเสียหายมาก เบื้องต้นตั้งเป้าจะปรับปรุงซ่อมแซมส่วนที่ผุพังเท่านั้นแต่เมื่อวิศวกรจากสำนักฟื้นฟูและพัฒนาอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ มาประเมินพบว่าเสียหายมากจำเป็นต้องรื้อถอน

ที่ต้องเน้นเป็นพิเศษก็คือ นายประพงษ์ บอกสอบถามไปยังกรมศิลปากรแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบ และยังว่าอาคารดังกล่าวไม่ใช่โบราณสถานเพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอาคารเก่า และอยู่นอกเขตควบคุมเมืองเก่า เมื่อได้งบมาก็ดำเนินการไป แต่เมื่อเกิดเรื่องขึ้นคงต้องฟังเสียงจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

อีกคนที่พยายามอธิบายที่มาที่ไปก็คือ “ลูกท็อป” นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับรายงานจากนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ แล้วว่า นี่เป็นการซ่อมแซม โดยงบของจังหวัด ไม้ทุกแผ่นกองอยู่ข้างๆ ไม่ได้หายไปไหน

ส่วนที่ต้องรื้อไม้ลงมานั้น นายวราวุธ อธิบายว่า เพราะรากฐานคอนกรีตของอาคารเสื่อมสภาพ จะซ่อมต้องทุบทิ้งก่อน และต้องทำรากฐานใหม่ เสร็จแล้วก็ประกอบตัวอาคารใหม่ ไม่ซ่อมก็พัง ถ้าซ่อมแล้วฐานรากไม่แข็งแรงก็พังอีก เมื่อฐานรากคอนกรีตซึ่งมีอายุร้อยกว่าปีแล้วพังก็ต้องมาหล่อกันใหม่ ที่หลายฝ่ายห่วงกันว่าบูรณะแล้วจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ หลายอาคารที่บูรณะก็เหมือนเดิมแต่สีอาจเพี้ยนไปบ้าง

“ลูกท็อป” อาจเชื่อเช่นนั้น แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงวิชาการ หรือแม้แต่อดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ไม่ได้เชื่ออย่างนั้น

เช่น นายวิจารณ์ สิมาฉายา อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่โพสต์ข้อความและภาพถ่ายด้านหน้าอาคารก่อนและหลังถูกรื้อถอนว่าได้แต่เสียดาย ก่อนเกษียณมีโอกาสไปเยือนยังแนะนำเจ้าหน้าที่ให้เขียนเรื่องราวของอาคาร ทั้งพื้นที่ ประเภทและอายุต้นไม้บริเวณข้างเคียงและอนุรักษ์ถือว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นพื้นที่ที่มีการศึกษาและพัฒนาด้านป่าไม้ของไทย มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงทั้งการศึกษาวิจัยป่าไม้และอุตสาหกรรมป่าไม้มาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ นายขวัญชัย ดวงสถาพร อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา โพสต์ภาพอาคารดังกล่าวที่ถ่ายเมื่อเดือนมกราคม 263 และในฐานะเป็นคนสอนและศึกษาวิจัยนโยบายป่าไม้ นอกจากจะชื่นชมความวิจิตรตระการตา มองเห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความยิ่งใหญ่ของการป่าไม้ไทยอย่างลึกซึ้งมากกว่าอ่านตำราอย่างเดียวแล้ว ยังได้หารือนอกรอบในที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติว่า น่าจะอนุรักษ์อาคารไม้สักของเมืองแพร่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ป่าไม้ของประเทศไทย

“.....ทันทีที่ทราบข่าวและเห็นภาพ มีหลายความรู้สึกและหลายคำถามครับ.”

รางวัล ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบุคคล ประจำปี 2561 และสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เมืองแพร่ เทคนิคและวิธีการอนุรักษ์อาคารเก่าตามหลักวิชาการบนโลกใบนี้ถูกลบล้างลงอย่างสิ้นเชิง

เป็นการเสียดสีที่คมบาดลึก สะท้อนความคิดและการทำงานของข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างแจ่มแจ้ง

แต่ก็อย่างว่า ผีถึงป่าช้าแล้วไม่ฝังก็เผา เฝ้าติดตามกันต่อไปว่า การก่อรูปร่างใหม่ของอาคารประวัติศาสตร์ จะมีรูปโฉมออกมาเหมือนเดิมหรือไม่ อย่าถามถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ซึ่งถูกลดทอนลงไปอย่างเสียดายด้วยคำแก้ตัวรู้เท่าไม่ถึงการณ์




กำลังโหลดความคิดเห็น