xs
xsm
sm
md
lg

สยบดรามา โยธาฯ ลำปางยันซ่อม “บ้านหลุยส์ 114 ปี” ยึดแบบเดิม ไม่ซ้ำรอยบ้านโบราณบอมเบย์เบอร์มาแพร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำปาง - อ.อ.ป.-โยธาธิการฯ ลำปางสยบกระแสดรามา คนผวาแผนซ่อม “บ้านหลุยส์ 114 ปี” สุดท้ายจะเหลือแต่ซากซ้ำรอยเรือนขนมปังขิง-บ้านโบราณบอมเบย์เบอร์มาแพร่ การันตีทำตามข้อเรียกร้องชุมชน ยึดแบบเดิม-เสริมให้แข็งแรงขึ้น


หลังจาก สบอ.13 แพร่ ดำเนินโครงการปรับปรุงซ่อมแซมศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน ริมน้ำยม จ.แพร่ ในวงเงินงบประมาณ 4,560,000 บาท แต่สุดท้ายกลับมีการทุบอาคารไม้เก่าแก่ หรือเรือนขนมปังขิง อายุไม่น้อยกว่า 120-130 กว่าปี ที่เคยเป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัท บอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด-บริษัทอิสเอเชียติค จำกัด ในยุคที่เข้ามาสัมปทานทำไม้ในภาคเหนือของไทยจนเหลือแต่ซาก

ชมคลิป https://bit.ly/3fAyc0p

กระทั่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะที่นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง พร้อมนัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อมูลอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (19 มิ.ย.) หลังจากเคยเรียกประชุมมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ผู้เกี่ยวข้องยังไม่สามารถให้รายละเอียดคลายข้อสงสัยสังคมได้


ขณะเดียวกัน เริ่มเกิดกระแสดรามา..เกรงว่า “บ้านหลุยส์” ชุมชนท่ามะโอ อ.เมืองลำปาง จะซ้ำรอยเรือนขนมปังขิง-บ้านโบราณบอมเบย์เบอร์มา เนื่องจากคฤหาสน์หลังนี้อายุกว่า 114 ปี ที่เคยเป็นบ้านของนายห้างค้าไม้ชาวอังกฤษ นามว่า หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ที่เคยทำสัมปทานไม้ร่วมกับบริษัท บอมเบย์เบอร์มาฯ กำลังมีการปรับปรุงซ่อมแซมเช่นกัน

ล่าสุดผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Akadet Nakkabunlung ได้โพสต์ข้อความว่า..“ ‘ด่วน’ ฝากกลุ่มอนุรักษ์และผู้เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล ก่อนที่จะสายเกินไป สถานที่ทางประวัติศาสตร์ของเมืองลำปาง ‘บ้านหลุยส์ลูกชายแหม่มแอนนา ลีโอโนเวนส์’ ตั้งอยู่ในอุตสาหกรรมป่าไม้ ลำปาง


อาทิตย์ก่อนไปเที่ยวลำปางได้เข้าไปดูบ้านหลุยส์ ที่ท่ามะโอ ตอนนี้กำลังมีการปรับปรุงซ่อมแซม ป้ายติดไว้ว่าได้งบมาประมาณ 3 ล้านบาท ตัวบ้านใหญ่ปิด เลยไม่ได้เข้าไป ได้แต่เข้าไปดูแต่ตัวตึกเล็กด้านข้าง ตอนนี้หลังคากำลังรื้อกระเบื้องออก เอาคานเหล็กใส่แทนคานไม้เดิม ซึ่งความจริงป่าไม้น่าจะหาไม้มาทำแบบเดิมได้ไม่ยาก เขาทำการซ่อมโดยไม่เก็บของข้างในออกมารักษาก่อน ข้างในเห็นไม้ร่วงระเกะระกะหล่นใส่ของดั้งเดิมต่างๆ ที่วางไว้

ช่วงนี้หน้าฝน ฝนตกลงมา ข้าวของคงจะเสียหายหมด มีทั้งตู้เซฟเก่ากลางห้อง มีอ่างอาบน้ำโบราณที่เห็นมีน้ำฝนขังอยู่ มีเครื่องมือการทำป่าไม้สมัย 100 กว่าปีวางอยู่ ทั้งเลื่อย สายวัด ของใช้ต่างๆ มีพัดลมผ้าแบบใช้คนดึงแขวนอยู่ น่าจะเก็บของเหล่านี้ออกมาทำทะเบียน ซ่อมแซมก่อน แล้วค่อยนำกลับเข้าไปจัดแสดงที่เดิมเมื่อซ่อมเสร็จ เกรงว่าของเหล่านี้จะถูกทิ้งและโละขายพ่อค้าของเก่าไป


ตัวบ้านและสิ่งของเหล่านี้มีเรื่องราว และคุณค่าทางประวัติศาสตร์น่าอนุรักษ์ไว้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษา ฝากผู้เกี่ยวข้องช่วยกันรีบเข้าไปดูแล แนะนำ ก่อนที่จะเสียหายไปแล้วเรียกกลับคืนมาไม่ได้” พร้อมรูปบ้านหลุยส์ที่มีการซ่อมแซม


ซึ่งโพสต์ดังกล่าวได้มีผู้คนเข้าไปแชร์เผยแพร่ต่อมากกว่า 200 ครั้ง และเริ่มมีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วย เพราะกลัวการซ่อมแซม “บ้านหลุยส์” ออกมาเหมือนบ้านโบราณบอมเบย์เบอร์มาจังหวัดแพร่ บางคนเสนอให้กรมศิลป์เข้ามาตรวจสอบ บางส่วนให้ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ ลำปางให้ยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวเอาไว้ก่อน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Aou ได้โพสต์ข้อความอธิบายในคอมเมนต์ว่า“..ขออนุญาตตอบในนามของตัวแทนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือบน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ขอให้ข้อเท็จจริงดังนี้ บ้านหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ ในยุคที่ชาวต่างประเทศเข้ามาทำสัมปทานไม้สักในเขตภาคเหนือ ต่อมาได้ตกทอดเป็นทรัพย์สินขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้


..มีที่ตั้งอยู่ในที่ดินราชพัสดุ ในความดูแลควบคุมของกรมธนารักษ์ และถูกกำหนดให้เป็นบ้านที่มีศิลปกรรมอันทรงคุณค่าที่ต้องอนุรักษ์สงวนไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ต่อมาได้มีสภาพทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา อีกทั้งจังหวัดลำปางได้กำหนดให้บริเวณชุมชนท่ามะโอเป็นพื้นที่เมืองเก่า ชุมชนดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ที่ต้องสงวนรักษาไว้ เพื่อดำรงศิลปะและวัฒนธรรม โดยได้เริ่มมีการก่อสร้างถนนสายวัฒนธรรม

และต่อมาได้รับการร้องขอจากชาวชุมชนที่ต้องการทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ว่าสมควรมีการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ให้อยู่ในสภาพสวยงามคู่กับชุมชนจังหวัดลำปาง จึงได้มีดำริที่จะซ่อมแซมปรับปรุงคืนสภาพ และประสานมายังองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เพื่อขอเข้ามาทำการซ่อมแซม ทั้งนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของกรมธนารักษ์ และผ่านความเห็นชอบของชุมชนท่ามะโอ ที่อยู่โดยรอบบ้านหลุยส์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กำหนดแหล่งงบประมาณในการซ่อมแซม ใช้งบจังหวัด การซ่อมแซมปรับปรุงให้เป็นไปตามลักษณะสถาปัตยกรรมเดิม


โดยในปี 2563 จังหวัดลำปางได้จัดสรรงบ และมอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ดำเนินการหาผู้รับจ้างมาจัดซ่อม ซี่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งจะได้ติดตามการก่อสร้างให้เป็นไปตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม

ทั้งนี้ จังหวัดลำปาง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กลุ่มอนุรักษ์ เมืองเก่าชุมชนท่ามะโอ และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ได้ควบคุม ดูแล เอาใจใส่การซ่อมแซมทุกขั้นตอนเพื่อปรับปรุงบ้านหลุยส์ทีเลียวโนเวนส์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดังเดิม และจะพร้อมเปิดให้เข้าชมความสวยงามเพื่อย้อนรำลึกถึงอดีตของจังหวัดลำปางในห้วงเวลาที่ผ่านมาได้ในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะ”


จากกระแสดังกล่าว ซึ่งเริ่มบานปลาย..ผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าไปตรวจสอบที่บริเวณบ้านหลุยส์ เมื่อ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีคนงานเข้ามาทำงานเนื่องจากฝนตก พบว่ามีการรื้อหลังคาอาคารบ้านหลุยส์ทั้งสองหลังออกไปแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการทำโครงหลังคาใหม่ทั้งสองหลัง

สอบถาม นายประทีป ประคองวงศ์ โยธาธิการและผังเมือง จ.ลำปาง ระบุว่า การก่อสร้างดังกล่าวก็เกิดจากความต้องการของชุมชน ของคนที่ต้องการอนุรักษ์เมืองเก่า ก่อนจะทำได้มีการออกแบบดูแบบกันมาตลอด เราไม่ได้มาเปลี่ยนแปลงอะไร แค่มาเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงขึ้น อันไหนผุใช้งานไม่ได้ก็เปลี่ยนให้ รูปทรงอื่นๆ เหมือนเดิมทั้งหมดไม่เปลี่ยนแปลง มีเพียงหลังคาของอาคารหลังใหญ่ซึ่งเคยเปลี่ยนมาแล้วเพราะเป็นลอนคู่ ก็เลยจะเปลี่ยนเป็นกระเบื้องว่าว SCG รูปทรงโบราณ สวย ฝ้าเพดานแตก ฝนตกน้ำเข้าภายในอาคารหมด


ล่าสุดเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน กรมศิลปากร ก็ได้เข้ามาขอข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมแซมอาคารดังกล่าวเช่นกันเพื่อนำไปเสนอผู้บังคับบัญชา เพื่อดูว่าอาคารดังกล่าวจะสามารถขอขึ้นทะเบียนได้หรือไม่

“ส่วนการปรับปรุงซ่อมแซม ตามที่ชาวลำปางและกลุ่มอนุรักษ์แสดงความเป็นห่วงนั้น ขอชี้แจงว่าขออย่าได้วิตกกังวล เพราะการปรับปรุงที่กำลังดำเนินการนั้นจะไม่มีการทุบทิ้งเหมือนจังหวัดแพร่อย่างแน่นอน”


ขณะที่ นายศักดิ์ชัย กิจเจริญ สถาปนิกปฏิบัติการสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ได้นำแบบแปลนการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารทั้งสองหลัง และภาพถ่ายก่อนที่จะเข้าทำการปรับปรุงมาให้ดูสภาพความทรุดโทรม พร้อมระบุว่ารูปทรงยังเป็นแบบเดิมทั้งหมด มีการเปลี่ยนแค่บางอย่าง เช่น ภายนอกที่เคยเป็นไม้ ก็ยังคงเป็นไม้เหมือนเดิม ส่วนโครงภายในหลังคาที่เสียหายผุพัง ก็จะใช้โครงเหล็กเพื่อความแข็งแรง

เนื่องจากอาคารดังกล่าวก่อสร้างแบบวัด คือไม่มีฐานราก เมื่อก่อนหน้านี้น้ำท่วมทำให้ดินยุบตัวอาคารจึงเสียศูนย์คือมีการเอียงไปตามสภาพพื้นดิน ส่วนไหนที่เสียหายและดูแล้วจะเป็นอันตรายก็ไปเสริมความแข็งแรงเพื่อความปลอดภัยและยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น


แต่ยืนยันว่าผู้ก่อสร้างยังคงยึดโครงเดิมที่ยังแข็งแรงไว้ทั้งหมด ส่วนที่ใช้ไม่ได้และเสี่ยงอันตรายก็ต้องเอาออก แต่ก็จะทำให้เหมือนของเดิมมากที่สุด บางส่วนเช่นเสา ก็ต้องตัดส่วนที่ปลวกกินออกแล้วต่อเสาใหม่ เพื่อยึดให้แข็งแรง และทำให้คล้ายเสาเดิมมากที่สุด บางส่วนก็ต้องเสริมเสาไม้เข้าไปเพื่อรับน้ำหนัก หลังคากระเบื้องลอนคู่เก่าแตกก็ต้องเปลี่ยน คานเดิมเป็นไม้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ไม้สัก ปลวกกินเกือบหมดก็ต้องเปลี่ยนใช้โครงเหล็กแทน แต่ก็จะต้องปิดเพดานด้วยไม้เช่นเดิม

ส่วนอาคารหลังเล็ก เดิมหลังคาเป็นสังกะสีรั่วเพดานผุหล่นลงมาบางส่วน โครงคร่าวภายในเสียหายมาก ก็ต้องเปลี่ยน ส่วนที่เห็นสิ่งของบางอย่างที่อยู่ในอาคารนั้นไม่ใช่สิ่งของที่สำคัญมาก เพราะส่วนที่สำคัญทาง อ.อ.ป.ได้นำเก็บไว้อีกที่หนึ่งแล้ว ที่เห็นตู้เก็บของ หรือสิ่งของที่เป็นไม้ ของเหล่านี้ไม่มีเสียหายเพิ่มเติม แล้ว อ่างอาบน้ำหรือสิ่งที่เป็นเหล็กต่างๆ ในอาคารไม่สามาถยกออกมาได้ แต่ก็แจ้งให้ช่างได้เพิ่มความระมัดระวังแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น