xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง! คนสูบน้ำใต้ดินหนัก ต้นเหตุหลุมยุบใกล้เขาหินปูนเนินมะปรางซ้ำ 3 รอบใน 7 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - นักธรณีวิทยาฟันธง..หลุมยุบกลางไร่ข้าวโพดเนินมะปรางเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มักพบบริเวณที่ราบใกล้เขาหินปูน เบื้องต้นสั่งกั้นพื้นที่รอ 1 สัปดาห์ดูยุบเพิ่มหรือไม่ก่อนกลบ ย้ำต้องใช้น้ำใต้ดินสมดุลกับปริมาณฝน


ความคืบหน้ากรณีพบหลุมขนาดใหญ่กลางไร่ข้าวโพดนายสอน แสงแก้ว อายุ 73 ปี อยู่บ้านเลขที่ 71 หมู่ 2 ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ที่อยู่ในเขตหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง 6 (สล.6 บ้านมุง) ซึ่งหลุมดังกล่าวเป็นลักษณะดินทรุดตัวเป็นวงกลมและมีลักษณะทรุดตัวลงเรื่อยๆ จากวันแรกที่พบ (เช้า 16 มิ.ย. 63) จนถึงเย็นวันที่ 17 มิ.ย. 63 พบว่าหลุมดังกล่าวยุบตัวลึกลงไปอีกประมาณ 50 ซม. ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงหวั่นเกรงว่าหลุมดังกล่าวอาจจะทรุดตัวมากขึ้นอีก

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสงสัยว่าพื้นที่ ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะเหตุการณ์หลุบยุบเคยเกิดขึ้นแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2557 พบดินยุบพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงโม่ ม.1 ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 บริเวณไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน ม.1 ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เกิดในไร่ข้าวโพด ม.2 ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง


และสังเกตได้ว่าทั้ง 3 ครั้งจะเกิดในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูแล้งเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูฝน เพียงแต่ครั้งนี้จะแตกต่างจากทั้ง 2 ครั้งที่เคยเกิดขึ้น คือดินยุบครั้งนี้ไม่มีน้ำขังอยู่ภายในหลุม ก้นหลุมเป็นดินลักษณะเหมือนผิวดินที่ทรุดตัวลงไปตามปกติ แต่มีการทรุดตัวเพิ่ม

ล่าสุดเย็นวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายธีรัชสิทธิ์ วงศ์วาน ผอ.ทสจ.พิษณุโลก ได้นำ ดร.น้ำฝน คำพิลัง นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 (ลำปาง) เดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุหลุมยุบดังกล่าว ระบุว่าหลุมยุบเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ดินยุบตัวลงเป็นหลุมลึก และมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1-200 เมตร ลึกตั้งแต่ 1 ถึงมากกว่า 20 เมตร


โดยปกติหลุมยุบจะเกิดในบริเวณที่ราบใกล้กับภูเขาหินปูน เนื่องจากหินปูนมีคุณสมบัติละลายน้ำที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนได้ ประกอบกับภูเขาหินปูนมีรอยเลื่อนและรอยแตกมากมาย จะสังเกตได้ว่าภูเขาหินปูนมีหน้าผาชัน หน้าผาเป็นรอยเลื่อนและรอยแตกในหินปูน บริเวณใดที่รอยแตกของหินปูนตัดกันจะเป็นบริเวณที่ทำให้เกิดโพรงได้ง่าย โพรงหินปูนถ้าอยู่พ้นผิวดินก็คือ “ถ้ำ” ถ้าไม่พ้นเรียกว่าโพรงหินปูนใต้ดิน ซึ่งจำแนกเป็น 2 ระดับ คือ โพรงหินปูนใต้ดินระดับลึก (ลึกจากผิวดินมากกว่า 50 เมตร) และโพรงหินปูนระดับตื้น (ลึกจากผิวดินไม่เกิน 50 เมตร) ส่วนใหญ่หลุมยุบจะเกิดในบริเวณที่มีโพรงหินปูนใต้ดินระดับตื้น

ดร.น้ำฝน คำพิลัง นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 (ลำปาง) เปิดเผยอีกว่า น้ำฝนสามารถกัดกร่อนชั้นหินใต้ดินเป็นหินปูนได้ ประกอบกับในพื้นที่มีการสูบน้ำใต้ดินทำให้เกิดโพรงใต้ดิน เมื่อผิวดินมีน้ำหนักมากขึ้นจากน้ำฝนจึงทำให้เพดานโพรงใต้ดินยุบตัวลงเกิดเป็นหลุมยุบดังกล่าว


เบื้องต้นจะรอดูอีกประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อประเมิน หากไม่พบว่าหลุมยุบตัวเพิ่มมากขึ้นก็จะให้เทศบาล ต.บ้านมุงเข้าดำเนินการถมดินในหลุมป้องกันเหตุอันตรายแก่ประชาชนและสัตว์เลี้ยง โดยระยะนี้จะให้เทศบาลฯ จัดทำแนวป้องกันไว้ก่อน

“สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้น้ำใต้ดินอย่างสมดุลกับน้ำฝนที่เติมลงไปใต้ดิน”






กำลังโหลดความคิดเห็น