xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนมะม่วง 3 จว.ยื่นศาลปกครอง ฟ้องผู้ว่าฯ พิษณุโลก-ม.ราชมงคลฯ ทำแท้งงบสร้างศูนย์ผลไม้ส่งออก 150 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงส่งออก 3 จังหวัดฯ รวมตัวร้องศาลปกครองฯ ฟ้องผู้ว่าฯพิษณุโลก-ม.ราชมงคล ส่อทำแท้งโครงการสร้างศูนย์พัฒนาผลไม้ส่งออก ทั้งที่ดันกันมา 2 ปี-งบ 150 ล้านมาแล้ว แต่อ้างไม่มีที่เฉย


วันนี้ (12 มิ.ย.) น.ส.ศิลาพร สิงหลักษณ์ อายุ 36 ปี ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนศูนย์พัฒนาผลไม้สดและแปรรูปเพื่อการส่งออก, นายบุญส่ง สีสะท้าน ประธานวิสาหกิจชุมกลุ่มพัฒนาการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก ม.16 ต.พันชาลี อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พร้อมเครือข่ายกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงในพื้นที่ อ.วังทอง อ.เนินมะปราง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และกลุ่มเกษตรกรรอยต่อในพื้นที่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ กว่า 60 คน ได้เดินทางมาที่ศาลปกครองพิษณุโลก ต.ท่าทอง อ.เมืองพิษณุโลก เพื่อยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นจำเลยที่ 1 และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 เป็นจำเลยที่ 2 กรณียกเลิกโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยแปรรูปและการตลาด มูลค่า 150 ล้าน โดยมิชอบ ทั้งๆ ที่ดำเนินโครงการมากว่า 2 ปี

ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนศูนย์พัฒนาผลไม้สดและแปรรูปเพื่อการส่งออก เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และพื้นที่ใกล้เคียง มีพื้นที่ปลูกมะม่วงประมาณ 2 แสนไร่ ผลผลิตโดยประมาณ 200 ล้านกิโลกรัม มีความคาดหวังในการพัฒนาผลผลิตทำให้ต่างประเทศยอมรับได้

โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลล้านนาและคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ผลักดันโครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาผลไม้สดเพื่อการส่งออก-เครื่องอบไอน้ำ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง

“กลุ่มฯ ใช้เวลา 2 ปีเศษเดินสายชี้แจงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยความหวังว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงได้อย่างแท้จริง กระทั่งทราบว่าได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรปี 2563 ก่อสร้างศูนย์ผลไม้สดเพื่อการส่งออก วงเงิน 150 ล้านบาท และงบมาถึงจังหวัดเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้ว่าฯ พิษณุโลก ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัดกลับไม่สนับสนุนให้โครงการนี้ได้เกิดขึ้น”

ขณะที่กลุ่มฯ ได้ทำเรื่องไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อขอให้ทบทวน ชี้แจงข้อเท็จจริง และได้รับการตอบกลับมาว่า 1. สภามหาวิทยาลัย ไม่สามารถอนุมัติให้ใช้ที่ดินได้ เนื่องจากเกินอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งการใช้ที่ราชพัสดุที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์เดิม คือการใช้ที่ดินเพื่อการศึกษา จะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เท่านั้น 2. สภามหาวิทยาลัย ไม่สามารถที่จะผูกพันเกี่ยวกับเรื่องเงินทุนในการบริหารศูนย์ผลไม้สดเพื่อการส่งออกได้ และไม่สามารถรับการทำ MOU กับแหล่งงบประมาณที่เกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งทางกลุ่มมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงมายื่นหนังสือฟ้องร้องต่อศาลปกครอง


นางเหรียญ ศรีน้อย อายุ 62 ปี เกษตรกรปลูกมะม่วง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตนมาร่วมร้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากตนปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ น้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงมหาชนก มะม่วงฟ้าลั่น รวม 80 ไร่ ต้องการให้มีการโรงอบไอน้ำ และโรงงานแปรรูปผลไม้ ขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำมะม่วงไปโรงงานในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ชลบุรี

“ที่ผ่านมาการนำมะม่วงไปโรงงานอบไอน้ำจะเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 5,000-7,000 บาท ต่อเที่ยว ถ้าหากมีโรงอบไอน้ำ และโรงงานแปรรูป ที่พิษณุโลก น่าจะเสียค่าขนส่งประมาณ 1-2 พันบาทเท่านั้น โดยเฉพาะในปีนี้ประสบปัญหา โควิด 19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ มะม่วงราคาตกต่ำกิโลกรัมละ 15 บาท สูงสุดกิโลกรัมละ 35 บาท ขายไม่ทันปล่อยทิ้งไปก็มี”

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากมีโรงงานในพื้นที่ จ.พิษณุโลก จะสามารถนำมะม่วงเข้าสู่กระบวนการรักษาคุณภาพ ก่อนส่งขายตลาดในประเทศและต่างประเทศได้ แต่หากไม่มีโรงงานในพื้นที่ เกษตรกรต้องแบกรับภาระค่าขนส่งไปโรงงานซึ่งอยู่ไกลเช่นเดิม ที่น่าเสียดาย เมื่อทราบข่าวว่า งบประมาณสำหรับการก่อสร้าง 150 บาท อนุมัติส่งมาที่จังหวัดแล้ว แต่มาอ้างไม่มีพื้นที่ตั้งโรงงาน ซึ่งไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่แท้จริง

ต่อมานายสุวิทย์ เปรื่องธรรมกุล ผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองพิษณุโลก ได้เดินทางลงมาพบกับชาวบ้านและตัวแทนกลุ่ม และชี้แจงการทำงานของกระบวนศาลปกครองว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าคำฟ้องสมบูรณ์หรือไม่ เข้าเงื่อนไขการฟ้องหรือไม่ หากสมบูรณ์ศาลก็จะรับเรื่องไว้พิจารณา หากยังไม่สมบูรณ์ศาลก็จะไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น