xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยคนอนุรักษ์ “คุ้มวิชัยราชา” บ้านโบราณเมืองแพร่ 30 ปีล้มละลาย 3 รอบ หนี้พอก 20 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพร่ – ถอดบทเรียนหนึ่งในนักอนุรักษ์บ้านโบราณเมืองแพร่..30 ปีของการฟื้นฟู “คุ้มวิชัยราชา” โดนสั่งล้มละลาย 3 รอบ หนี้พอก 20 ล้าน เผยไม้เรือนเก่าทั้งแข็ง-อยู่ตัว-มอดปลวกไม่กิน คนนิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์-บ้านน็อกดาวน์


ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์..การซ่อมแซมบ้านโบราณบอมเบย์เบอร์มา เรือนประวัติศาสตร์การป่าไม้เมืองแพร่ อายุกว่า 120-130 ปี ที่สุดท้ายเหลือแต่ซาก ซึ่งแม้ว่านางกานต์เปรมปรีย์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ จะนำผู้เกี่ยวข้องเปิดเวทีชี้แจงต่อสาธารณะเมื่อวานนี้(19 มิ.ย.) แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างได้

ทั้งในประเด็น TOR ของโครงการ รายงานการศึกษาสภาพอาคารก่อนซ่อมแซมจนเหลือแต่ซาก รวมถึงหมุดหมาย/บัญชีไม้ที่มีการรื้อถอนออกมา ฯลฯ มีเพียงการมุ่งประเด็นไปที่การหางบประมาณมาก่อสร้างใหม่ทดแทนให้เหมือนเดิมมากที่สุด โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ กรมศิลปากร ที่ยืนยันว่ารู้หลังจากที่บ้านโบราณแห่งนี้ถูกทุบไปแล้ว จะเข้ามาเก็บรายละเอียดตั้งแต่วันพรุ่งนี้(21 มิ.ย.) เพื่อควบคุมการก่อสร้างฟื้นฟูใหม่เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวแพร่สะพัดว่า..กอ.รมน.ได้รับรายงานว่ามีไม้เรือนเก่าจากบ้านโบราณบอมเบย์เบอร์มาบางส่วนถูกขายให้พ่อเลี้ยงไม้เรือนเก่าคนดังใน อ.สูงเม่น จ.แพร่ ไปแล้ว และกำลังพยายามขนออกนอกพื้นที่หลังจากเป็นข่าวดังไปทั้งในและต่างประเทศ


นายวีระ สตาร์ เจ้าของผู้ครอบครองคุ้มวิชัยราชา หรือบ้านวิชัยราชา คนปัจจุบัน ที่ตั้งอยู่ริมถนนวิชัยราชา ข้างวัดศรีบุญเรือง เขตเทศบาลเมืองแพร่ บ้านโบราณอายุกว่า 100-200 ปี อีกหลังหนึ่งของเมืองแพร่ ให้ความเห็นว่า ไม้เรือนเก่านิยมนำไปทำเฟอร์นิเจอร์-บ้านน๊อกดาวน์กันมาก เพราะเป็นไม้ที่แข็ง-อยู่ตัวแล้ว ปลวกไม่กิน ต่างจากไม้ใหม่สมัยนี้ ที่แม้แต่ไม้สักยังถูกปลวกกิน

“เป็นที่น่าเสียดายยิ่งกับการรื้อทุบทิ้งบ้านโบราณ ซึ่งเคยเป็นที่ทำงานของฝรั่งในการตัดไม้สักส่งไปขายหลายประเทศ เป็นประวัติศาสตร์ของช้างไทย เศรษฐกิจไทย ป่าไม้ไทย ความสัมพันธ์กับประเทศในยุโรป มันสำคัญมากทั้งบ้านหลังที่เพิ่งทุบทิ้ง และอีกกว่า 100 หลังที่ถูกรื้อไป”


นายวีระ กล่าวอีกว่าเราจะหยุดพฤติกรรม หยุดโครงการแบบนี้ได้อย่างไร บ้านโบราณหลังที่เหลืออยู่คนแพร่คงไม่ต้องขอให้รัฐมาช่วยเพราะเกิดความเสียหายมาแล้วนับไม่ถ้วน

“การฟื้นฟูบ้านวิชัยราชา หรือคุ้มวิชัยราชาแห่งนี้ ตลอด 30 กว่าปี ทำให้ตนถูกศาลสั่งล้มละลายมาแล้ว 3 รอบ เป็นหนี้กว่า 20 ล้านบาท แต่บ้านวิชัยราชายังคงสืบตำนานประวัติศาสตร์จนถึงขณะนี้ ซึ่งถ้ารัฐเห็นด้วยสิ่งที่ควรทำคือการพัฒนาหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและชาติไปอยู่ในโรงเรียน กระบวนการอนุรักษ์จะเติบโตเอง” นายวีระกล่าว


ทั้งนี้ “คุ้มวิชัยราชา หรือบ้านวิชัยราชา” ตามหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานฉลองวัดศรีบุญเรือง อ.เมืองแพร่ ลงวันที่ 25 มี.ค.2515 ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า คาดว่าเรือนไม้สักทรงมะนิลา หรือเรือนขนมปังขิงผสมผสานศิลปะล้านนาหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2434-2438 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าบ้านหลังนี้จะมีอายุเก่าแก่เกินร้อยปีแต่ยังมีโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ทั้งยังได้รับการออกแบบอย่างสวยงามโดดเด่น มีลวดลายฉลุุที่สวยงามดูอ่อนช้อย ทั้งที่จั่วบ้าน บังลม ระเบียงตลอดจนไม้ช่องลมเหนือบานประตูและหน้าต่างล้วนเป็นศิลปะที่สวยงาม และหายาก สมควรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง

และการสร้างบ้านในยุคนั้นมีความหมายมาก เป็นนโยบายของชาติในการสร้างความเจริญให้กับพลเมืองทั่วทุกภูมิภาค เพื่อสู้กับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก “คุ้มวิชัยราชา” มีเรื่องราวผูกโยงมาตั้งแต่เจ้าวิชัยราชา เกี่ยวข้องกับการเป็นนครรัฐ มีเจ้าหลวงครองนครแพร่ มาจนถึงพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่ยกทัพหลวงไปปราบฮ่อที่แนวชายแดนเวียดนาม-สปป.ลาว เชื่อมโยงการเข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย

“สมัยที่รัฐบาลสร้างภาพยนต์เรื่องช้างเผือก นายปรีดี พนมยงค์ มาควบคุมการถ่ายทำด้วยตนเองที่ ต.ป่าแดงเมืองแพร่ ก็ใช้บ้านวิชัยราชาเป็นที่พักค้างคืน บ้านนี้อดีตเป็นผู้ที่มีช้างมากที่สุดในภาคเหนือ ประวัติศาสตร์เหล่านี้คือความเป็นมาของรัฐสยาม”
กำลังโหลดความคิดเห็น