xs
xsm
sm
md
lg

ความภูมิใจแห่งเมืองแพร่! บ้านไม้เก่าแก่หลังงามที่คนแพร่พยายามอนุรักษ์ไว้ พวกชอบรื้อควรดูเป็นตัวอย่าง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บ้านวงศ์บุรี บ้านเก่าแก่งดงามของเมืองแพร่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม
สะเทือนใจคนเมืองแพร่ นักอนุรักษ์ และนักประวัติศาสตร์ยิ่งนัก เมื่อเห็นข่าวการรื้ออาคารไม้สักเก่าอายุ 127 ปี หรืออาคารบอมเบย์เบอร์ม่า อาคารประวัติศาสตร์ เรือนไม้ 2 ชั้น ที่อยู่ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยตั้งอยู่ในที่ทำการสวนรุกขชาติเชตะวัน อ.เมือง จ.แพร่ ซึ่งความสำคัญของอาคารหลังนี้คือเป็นอาคารอนุสรณ์การค้าไม้เมืองแพร่อันรุ่งเรืองในอดีต

ขณะที่ในเมืองแพร่ยังคงมีบ้านเรือนเก่าหลังงามอีกหลายแห่งที่คนเมืองแพร่ต่างภาคภูมิใจและพยายามเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นมรดกของเมือง บ้านเก่าเหล่านี้มีความสวยงามแตกต่างกันไป บางแห่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ แต่บางแห่งเป็นบ้านที่ยังคงใช้เป็นสถานที่พักอาศัย สามารถชมและถ่ายภาพภายด้านนอกได้เท่านั้น

อาคารเหล่านี้ต่างก็มีความเก่าแก่ มีความชำรุดทรุดโทรม ต้องการการซ่อมบำรุงดูแล ซึ่งทางเจ้าของบ้านหรือผู้รับผิดชอบต่างก็หาวิธีการซ่อมแซมหรือปรับปรุงให้คงสภาพเดิมไว้มากที่สุด จนบางหลังได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยวันนี้เราได้รวบรวมบ้านเก่าหลังงามในตัวเมืองแพร่ที่ยังคงอยู่และได้รับการดูแลเป็นอย่างดีมาให้ชมกัน

คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่
“คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่” ซึ่งเคยใช้เป็นจวนผู้ว่าในอดีต ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เมือง คุ้มแห่งนี้สร้างโดยเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีขาว ประดับตกแต่งอาคารด้วยงานไม้ฉลุ กรอบหน้าต่างทาสีเขียวอ่อนสบายตา ตกแต่งด้วยลายฉลุสวยงาม ภายในแบ่งเป็นห้องต่างๆ บอกเล่าเรื่องราวของเมืองแพร่ในอดีต

คุ้มวงศ์บุรี
“คุ้มวงศ์บุรี” บ้านสีชมพูหลังงามแบบยุโรปประยุกต์ สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง หลังคาสูงทรงปั้นหยาสองชั้น มีลวดลายไม้แกะสลักที่อ่อนช้อยงดงามนัก บ้านวงศ์บุรีสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2440 ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา ชายาของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ดั้งเดิมของตระกูล ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมความงามกันได้

อาคารน้ำเพชร ภายในโรงเรียนนารีรัตน์  (ภาพ ททท.แพร่)
“อาคารน้ำเพชร” ภายในโรงเรียนนารีรัตน์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ อาคารหลังนี้สร้างในปี 2460 เป็นอาคารไม้สัก 2 ชั้น ทาสีเขียว งดงามด้วยลายฉลุไม้โดยรอบอาคาร ปัจจุบันอาคารหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์และที่ตั้งสำนักงานขององค์กรที่สนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนนารีรัตน์

คุ้มวิชัยราชา
“คุ้มวิชัยราชา” เรือนไม้โบราณที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมล้านนากับเรือนไม้แบบมนิลาเอาไว้ สร้างเมื่อราว พ.ศ.2434-2438 มีความโดดเด่นของลวดลายฉลุไม้ที่งดงามอ่อนช้อย ทั้งบริเวณจั่ว บังลม ระเบียง และช่องลมเหนือบานประตูหน้าต่าง ได้รับรางวัล อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่สมควรเผยแพร่ ประเภท บ้านพักอาศัย (คุ้มเจ้า) ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

บ้านวงศ์พระถาง (ภาพ ททท.แพร่)
“บ้านวงศ์พระถาง” บ้านไม้สักชั้นเดียวยกใต้ถุนสูงทาสีฟ้า หลังคาทรงมนิลามุงด้วยกระเบื้องปูนหล่อเองเป็นรูปว่าว ประดับตกแต่งลายฉลุแบบขนมปังขิงบริเวณจั่ว บ้านวงศ์พระถางเป็นของพ่อเจ้าเสาร์ วงศ์พระถางซึ่งเป็นน้องชายหลวงพิบูลย์ บุตรเขยของแม่เจ้าบัวถา เจ้าของบ้านวงศ์บุรี สันนิษฐานว่าใช้ช่างชุดเดียวกันกับบ้านวงศ์บุรี โดยดัดแปลงให้มีขนาดเล็กลง ปัจจุบันบ้านหลังนี้ยังมีทายาทอาศัยอยู่ ได้รับรางวัลชมเชย อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ประเภท บ้านพักอาศัย ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

บ้านขัติยะวรา (ภาพ ททท.แพร่)
“บ้านขัติยะวรา” บ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง ตัวบ้านเป็นไม้สักรูปแบบไทยล้านนาผสมยุโรปทาสีครีม เหลือง น้ำตาล ลวดลายแบบขนมปังขิง มีลายฉลุที่เชิงชาย หน้าจั่ว และกรอบประตู หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ดเดิมเป็นบ้านของเจ้าน้อยโข้ ขัติยะวรา คาดว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2466 โดยช่างฝีมือชาวจีน ได้รับรางวัลชมเชย อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ประเภท บ้านพักอาศัย ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

บ้านหลวงศรีนครานุกูล (ภาพ ททท.แพร่)
“บ้านหลวงศรีนครานุกูล” บ้านคหบดีชาวจีนช่วงปลายสมัย ร.๖ ต้นตระกูลสุทธภักติ เป็นบ้านไม้สัก 2 ชั้น มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด ทาสีชมพู ครีม และน้ำตาล ด้านหน้าอาคารเป็นมุขยื่นออกมา ตัวบ้านเปิดโล่งแบบฝรั่ง ได้รับรางวัล อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่สมควรเผยแพร่ ประเภท บ้านพักอาศัย ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์ (ภาพ ททท.แพร่)
“บ้านเจ้าหนานไชยวงศ์” บ้านไม้สักทองทรงมนิลา มุงหลังคาด้วยไม้แป้นเกล็ดมีลวดลายฉลุไม้สวยงามยิ่งนัก สร้างราว พ.ศ.2450 โดยพระยาบุรีรัตน์ เพื่อให้เป็นเรือนหอของลูกสาว (เจ้าสุธรรมา) กับเจ้าหนานไชยวงศ์ ได้รับรางวัลชมเชย อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ประเภท บ้านพักอาศัย ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

พิพิธภัณฑ์ไม้สัก (ภาพ ททท.แพร่)
“พิพิธภัณฑ์ไม้สัก” อาคารทรงยุโรปประยุกต์ 2 ชั้น ตั้งอยู่ในสถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่า (โรงเรียนการป่าไม้แพร่เดิม) ปัจจุบันเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์การทำไม้สัก และงานศิลปหัตถกรรมของเมืองแพร่ในสมัยก่อน

พิพิธภัณฑ์เสรีไทย
“พิพิธภัณฑ์เสรีไทย” เรือนไม้สีฟ้าสดใส สร้างโดยนายภุชงค์ กันทาธรรม บุตรของอดีตหัวหน้าเสรีไทยสายแพร่ เพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษผู้กล้าในขบวนการเสรีไทย ภายในจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเสรีไทย

บ้านพักมิชชันนารี (ภาพ ททท.แพร่)
“บ้านพักมิชชันนารี” เรือนไม้เก่าแก่หลังนี้ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน สร้างโดยคณะมิชชันลาวในสังกัดคริสตจักรเพรสไบทีเรียนสหรัฐอเมริกา ที่ได้เข้ามาตั้งศูนย์เผยแพร่ศาสนาใน จ.แพร่ โดยสร้างเพื่อเป็นที่พักและสำนักงานของครอบครัวมิชชันนารีที่เข้ามาดูแลงานด้านการเผยแพร่ศาสนา การศึกษา และการพยาบาลใน จ.แพร่ ได้รับรางวัล อาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภท อาคารสถาบัน ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
....................................................................................................

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น