แพร่ - ชาวชุมชนร่องฟองย้ำจุดยืนต่อต้านโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใกล้บ้าน ชี้พิรุธเลือกใช้พื้นที่บ่อขยะเก่าที่เคยฮือประท้วงจนปิดบ่อได้มาแล้ว ทำชาวบ้านผวามลภาวะซ้ำรอยเดิม บอกจะเริ่มสร้างปีหน้าแต่ยังไม่เห็นปลูกไม้ทำฟืนแม้แต่ต้นเดียว
รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่แจ้งว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่กำลังถูกต่อต้านจากชาวชุมชน ต.ร่องฟอง อ.เมืองแพร่ อย่างหนักและต่อเนื่อง มีการรวมตัวยื่นข้อเรียกร้อง-ขึ้นป้ายคัดค้านทั่วหมู่บ้านเพราะเกรงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา รวมทั้งเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในข้อมูลที่ได้รับ
ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า ที่จริงแล้วในพื้นที่จังหวัดแพร่มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลมากถึง 4 แห่ง ขณะนี้สร้างไปแล้ว 1 แห่งที่อำเภอวังชิ้น ส่วนแห่งที่ 2 มีแผนจะสร้างบริเวณบ่อขยะเดิม ต.เหมืองหม้อ อ.เมืองแพร่ ใกล้กับชุมชน 5 หมู่บ้านของ ต.ร่องฟอง อ.เมืองแพร่ ที่ถูกต่อต้านอยู่ในขณะนี้
นายสุวิทย์ สิงหจันทร์ ประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัทเพาเวอร์โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ร่องฟอง) อยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับชุมชนทั้ง 12 ตำบลในรัศมี 5 กม. โดยการจัดเวทีให้ความรู้และพาไปดูกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่บุรีรัมย์ เมื่อเกิดความเข้าใจทำประชาพิจารณ์เสร็จก็จะดำเนินการก่อสร้างที่หมู่ 7 ต.เหมืองหม้อ โดยมีแผนก่อสร้างในปี 62 ใช้เวลาก่อสร้าง 24 เดือน ใช้งบลงทุนจำนวน 1,600 ล้านบาท กำลังการผลิต 28.5 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเพิ่มอัตรากำลังไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทนจากร้อยละ 8 เพิ่มเป็นร้อยละ 20 ในภาพรวมทั่วประเทศ
“ต้องขอยืนยันว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ไม่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงโดยเด็ดขาด แต่จะใช้เชื้อเพลิงที่มาจากชีวมวลเท่านั้น ซึ่งต้องใช้ไม้ฟืน หรือชีวมวลมากถึง 2,000 ตัน/วัน”
จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีชีวมวลที่สามารถใช้ได้เพียงร้อยละ 40 ของการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่เอกชนไม่น้อยกว่า 6,000 ไร่ จึงจะเพียงพอ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนด้วย
นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงงานที่ปลอดภัยจากมลภาวะ เนื่องจากเป็นชีวมวล และระบบการออกแบบโรงงานอยู่ภายใต้การควบคุมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่วนกรณีที่ชุมชนออกมาต่อต้านโครงการถือเป็นเรื่องไม่แปลก ก็ต้องทำงานให้ความรู้กันต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นไปตามแผนงานโครงการอย่างแน่นอน
ขณะที่ชาวชุมชนตำบลร่องฟองจำนวน 5 หมู่บ้านที่ออกมาต่อต้านโครงการนี้ต่อเนื่องนั้น ถือเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่สำคัญของจังหวัดแพร่ เป็นจุดที่อยู่ห่างจากพื้นที่เป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวไปทางทิศตะวันออกราว 1 กิโลเมตรเท่านั้น
ชาวบ้านเห็นว่าพื้นที่เป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเคยเป็นจุดทิ้งขยะของ อบต.ต่างๆ มานานจนส่งกลิ่นเหม็นเข้าสู่หมู่บ้านร่องฟอง รวมทั้งน้ำที่ไหลมาจากทางทิศตะวันออก นำความโสโครกของกองขยะเข้ามายังแหล่งน้ำของชุมชนอีกด้วย ซึ่งเมื่อปี 58-59 ที่ผ่านมาชาวบ้านเคยรวมตัวประท้วงจนสามารถปิดบ่อขยะแห่งนี้ไปแล้ว จนมีการนำขยะไปทิ้งในที่ดินเอกชนเขต ต.ป่าแมต อ.เมืองแพร่ ที่อยู่ห่างจากชุมชนแทน
แต่เมื่อกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าพุ่งเป้าฟื้นบ่อขยะดังกล่าวเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นมา ทำให้ชาวชุมชนร่องฟองพากันรวมตัวต่อต้านอีกครั้ง
นางสาวณัฏฐ์วรัตถ์ ภัทรเสนาธรรม อยู่บ้านเลขที่ 174/5 หมู่ 4 ต.ร่องฟอง อ.เมืองแพร่ แกนนำคนสำคัญของการต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวบ้านต้องออกมาต่อต้านเพราะโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะสร้างขึ้นนี้อยู่ห่างจากชุมชนราว 1 กิโลเมตรเท่านั้น และอยู่ในเขตเกษตรกรรมของชาวร่องฟอง อยู่ใกล้ศูนย์ราชการของจังหวัดแพร่ และประการสุดท้าย บริเวณดังกล่าวติดกับพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวอันสำคัญของจังหวัดแพร่ คือแพะเมืองผี
ชาวบ้านมองว่าการสร้างโรงไฟฟ้าในจุดที่เคยมีการทิ้งขยะจำนวนมหาศาลน่าจะมีเรื่องขยะใต้ดินมาเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นตามสมมติฐานนี้มลภาวะก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อถึงวันนั้นชาวร่องฟองก็คงต้องรับกรรมกันไป นอกจากนี้ การลำเลียงชีวมวลวันละ 2,000 ตันเข้าโรงไฟฟ้าฯ จะต้องใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่จำนวนมาก การจราจรในเส้นทางต่างๆ ของหมู่บ้านอาจเกิดปัญหาขึ้นได้
กรณีที่โรงไฟฟ้าชีวมวลอ้างว่าโครงการนี้จะทำให้ชาวบ้านในรัศมี 5 กิโลเมตรมีงานทำ ในความเป็นจริงแล้วชุมชนในตำบลร่องฟองเป็นชุมชนอุตสาหกรรมในครัวเรือนอยู่แล้วนั้น กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตขาดแคลนแรงงาน ถ้าปล่อยให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นมาจริงๆ การใช้แรงงานและวัตถุดิบทำเชื้อเพลิงก็จะแย่งอาชีพของชาว ต.น้ำชำ ต.ร่องฟอง ที่ใช้ไม้ในการเผาถ่าน และโรงงานตีมีดด้วย
นางสาวณัฏฐ์วรัตถ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านจะยืนหยัดต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าภายใต้กฎหมายบ้านเมือง อาศัยกฎหมายในการดูแลชุมชนพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ขอจัดเวทีเปิดเผยข้อมูลผลดีผลเสียของการสร้างโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล ในวันที่ 11 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ที่วัดร่องฟอง โดยได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อมูลไม่เพียงนักวิชาการของโรงงานเท่านั้น
“ถือว่าชุมชนใช้หลักการทางกฎหมายในการให้ความรู้ต่อชุมชนมากกว่า กลุ่มสนับสนุนที่พยายามใช้กระบวนการทางอำนาจลึกลับ กลุ่มนักการเมืองในท้องถิ่นมาบีบชาวบ้านให้เลิกล้มการต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา”
ด้านพระยงยุทธ ทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น อ.วังชิ้น จ.แพร่ กล่าวว่า อาตมาเห็นโครงการชีวมวลมาหลายแห่งล้วนไม่ชอบมาพากลเกือบทั้งสิ้น โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะจัดตั้งขึ้นที่จังหวัดแพร่ถือเป็นโรงงานใหญ่แห่งหนึ่งของภาคเหนือ ต้องใช้ไม้ฟืนที่เป็นไม้จากธรรมชาติจำนวนมาก ขณะนี้โรงงานยังไม่มีเครือข่ายผู้ปลูกสวนป่าเลยแม้แต่แห่งเดียว ซึ่งระยะเวลาการปลูกต้นไม้ให้สามารถป้อนเข้าสู่โรงงานได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
และที่เห็นหลายแห่ง เมื่อได้ใบอนุญาตแล้วก็ไม่ได้สร้างเครือข่ายผู้ปลูกสวนป่าเพื่อทำวัตถุดิบป้อนสู่โรงงานแต่อย่างใด ยังคงหาทางจูงใจให้ประชาชนนำต้นไม้จากป่ามาจำหน่ายอยู่ดี ตรงนี้เป็นเรื่องอันตรายของจังหวัดแพร่ และของภาคเหนือที่มีแผนการตั้งโรงงาน แต่ไม่มีแผนการดูแลรักษาจัดการวัตถุดิบป้อนโรงงาน รวมทั้งมลภาวะที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้านร่องฟอง ใครจะตอบได้
“ในการแก้ไขเยียวยา ถ้าโรงงานตั้งไปแล้ว และเกิดผลกระทบ จะไม่มีใครออกมารับผิดชอบ ต้องปล่อยให้ประชาชนดำเนินชีวิตไปตามยถากรรมอย่างแน่นอน”