แพร่ - ผู้บริหารบริษัทโรงไฟฟ้าฯ แพร่ชี้อีก 30 ปีก๊าซอ่าวไทย-ลิกไนต์แม่เมาะหมด..ไทยต้องหาพลังงานทดแทน พร้อมเดินหน้าปักธง “โรงไฟฟ้าชีวมวลแพร่” อิงสายส่งไฟฟ้าจากหงสาจ่ายไฟเข้าระบบ กลางกระแสต้านที่ยังคุกรุ่นต่อเนื่อง
วันนี้ (7 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ต.เหมืองหม้อ อ.เมืองแพร่ ว่า ล่าสุดยังคงมีกระแสการต่อต้านต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 ชุมชนของ ต.ร่องฟอง อ.เมืองแพร่ ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่เป้าหมายที่จะใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ยังคงมีป้ายรณรงค์คัดค้านปรากฏให้เห็น แม้จะถูกมือมืดลอบถอดป้ายออกเป็นจำนวนมากก็ตาม
นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะเปิดเวทีเสวนาทางเลือก-ทางรอด สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนบริษัทเจ้าของโครงการสร้างโรงไฟฟ้าเข้าร่วมให้ข้อมูล และเชิญผู้นำชุมชนใน 12 ตำบลรัศมีรอบจุดก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาร่วมรับฟังด้วย
ด้านนายสุวิทย์ สิงหจันทร์ ประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัทเพาเวอร์โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่กำลังเร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้าน 12 ตำบลถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว ระบุว่า นักวิชาการด้านพลังงานคาดหมายว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดไปภายใน 30 ปีนี้ ขณะที่ถ่านหินที่แม่เมาะจังหวัดลำปางก็จะหมดไปพร้อมๆ กัน แหล่งพลังงานที่สำคัญของไทยต่อไปก็คือ พลังงานทดแทน แม้ว่าเรามีแหล่งพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพลังงานน้ำ-ถ่านหินจาก สปป.ลาว และพม่า แต่การใช้พลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน อาจมีปัญหาตามมาภายหลังก็เป็นได้
ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยสำคัญ
การสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 30 เมกกะวัตต์ไม่ใช่ว่าจะสร้างที่ไหนก็ได้ เพราะจำเป็นต้องมีสายส่งที่เหมาะสม จังหวัดแพร่มีสายส่งไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นมารองรับกระแสไฟจากโรงไฟฟ้าเมืองหงสา สปป.ลาว ผ่านอยู่แล้ว การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดแพร่จึงสามารถส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าที่มีอยู่ได้เลย
ในด้านเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้ในโรงงานไฟฟ้าชีวมวลนั้น ได้มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรฯ สำรวจแล้วพบว่าในรัศมี 100 กิโลเมตรของโรงงานมีชีวมวลที่สามารถป้อนเข้าสู่โรงงานได้ปริมาณเพียง 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่จังหวัดแพร่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 2 โรง คือ โรงไฟฟ้าแม่กระทิง อ.ร้องกวาง และ ต.เหมืองหม้อ อ.เมืองแพร่ และมีโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแล้วที่ อ.วังชิ้น อีก 1 โรง รวมแล้วจะต้องใช้ชีวมวลไม่น้อยกว่า 2,000 ตันต่อวันขึ้นไป
นั่นหมายถึงเชื้อเพลิงชีวมวลในจังหวัดแพร่ไม่เพียงพออย่างแน่นอน จำเป็นต้องหาชีวมวลเพิ่มขึ้นในรัศมี 200 กิโลเมตร สิ่งที่ตามมาคือ ค่าขนส่ง ที่เป็นต้นทุนที่สูงมาก ทางออกที่ดีของโรงไฟฟ้าฯ จึงต้องส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกไม้โตเร็ว การปลูกพืชพลังงานของเกษตรกร โดยทางโรงไฟฟ้าจะเข้าไปสนับสนุน ซึ่งมีอยู่หลายโมเดล เช่น การสนับสนุนเงินทุนปลูกในที่ของตนเอง หรือจะรวมตัวเป็น SME กู้เงินจากสถาบันการเงินหรือกู้เงินจากทางโรงไฟฟ้าไปลงทุนก็สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้บริษัทได้สิทธิตั้งโรงไฟฟ้าที่เหมืองหม้อแล้ว แต่ยังไม่ได้สิทธิในการจำหน่ายไฟเพราะต้องรอการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสียก่อน ซึ่งหากกระบวนการต่างๆ เสร็จสิ้นตามแผนก็จะใช้เงินลงทุนรวม 1.6 พันล้าน เริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 62 แล้วเสร็จใน 24 เดือน หรือปลายปี 64