เจ้าพระยาเป็นบรรดาศักดิ์ขั้นสูงสุดของขุนนางไทย จาก ขุน หลวง พระ พระยา และเจ้าพระยา ส่วน สมเด็จเจ้าพระยา นั้นเป็นบรรดาศักดิ์พิเศษ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีเพียง ๓ ท่านเท่านั้น ส่วนเจ้าพระยามี ๓๐ กว่าท่าน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติหลายท่านที่เข้ารับราชการไทย และทำคุณประโยชน์ให้ประเทศไทยอย่างมาก จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา โดยมาในแบบต่างๆกัน
เจ้าพระยาต่างชาติท่านแรกก็คือ เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) อดีตเจ้าเมืองมอญ และเคยเป็นเจ้าเมืองเชียงแสนในสมัยที่พม่าปกครองมาแล้ว ได้พาผู้คนอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยในสมัยกรุงธนบุรี สาเหตุที่อพยพเข้ามา ตอนนั้นเจ้าพระยามหาโยธาเป็นเจ้าเมืองเตรินซึ่งเป็นเมืองมอญในปกครองของพม่า อยู่ระหว่างเจดีย์สามองค์กับเมืองเมาะตะมะ ในปี ๒๓๑๘ พระเจ้าอังวะวางแผนจะตีกรุงธนบุรี ได้ให้นำทหารมอญ ๓,๐๐๐ คน มีทหารพม่า ๕๐๐ คนคุมเข้ามาตั้งยุ้งฉางเตรียมที่ตำบลสามสบและท่าดินแดงในเขตไทย ขณะที่กำลังทำงานกันอยู่ในเขตไทยนี้ แม่ทัพพม่าก็เกณฑ์มอญขึ้นอีก ๑ กองที่เมืองเตรินเป็นกองกำลังร่วมมาตีไทย แต่พวกมอญไม่เต็มใจจะร่วมกับพม่าพากันหนีทัพ พม่าจึงจับครอบครัวมอญเป็นตัวประกัน ทำให้ญาติพี่น้องของพวกมอญที่กำลังทำงานอยู่ในเขตไทยถูกจับไปด้วย เมื่อมีผู้แอบนำข่าวนี้มาบอกที่ท่าดินแดง พวกมอญพากันโกรธแค้นและคบคิดกันจับทหารพม่าฆ่าทั้งหมด จากนั้นก็รวมกำลังกันกลับเข้าตีเมืองเมาะตะมะ โดยให้พระยาเจ่งเป็นหัวหน้า ลอบเข้าตีในเวลากลางคืน พากันโห่ร้องให้เหมือนทหารไทย พม่านึกว่าถูกกองทัพไทยเข้าตีโดยไม่ทันตั้งตัว จึงตกใจพากันหนีไม่คิดสู้ พระยาเจ่งยึดเมืองเมาะตะมะได้ แล้วรุกตีเมืองสะโตงกับหงสาวดีได้อีก ๒ เมือง
ในขณะที่เข้าตีย่างกุ้งหวังจะกอบกู้อิสรภาพตั้งประเทศมอญขึ้นใหม่ พระเจ้าอังวะก็ส่งอะแซหวุ่นกี้นำทัพใหญ่มาปราบ พระยาเจ่งสู้ไม่ได้จึงพามอญราว ๑๐,๐๐๐ คนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินโปรดให้กองทัพไทยออกไปรับครัวมอญถึงชายแดน มิให้พม่าตามเข้ามาตีได้ พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงเมืองนนทบุรี ตั้งแต่ปากเกร็ดไปจนถึงสามโคก
ตั้งแต่นั้นมา เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปทำสงครามกับพม่าครั้งใด ก็จะมีทหารมอญสมทบไปกับกองทัพไทยด้วยทุกครั้ง
ในพิธีสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยนั้น พระยาเจ่งรามัญได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น พระยามหาโยธา ว่ากองมอญทั้งสิ้น ต่อมามีความดีความชอบในสงคราม ๙ ทัพที่นำกองโจร ๓,๐๐๐ คนไปล่อกองทัพหน้าของพม่าเข้ามาติดกับจนถูกตีแตกพ่ายยับเยินไปเป็นทัพแรก ทำให้ทัพหลวงที่ตามมาระส่ำจนต้องถอยกลับไปเมื่อเข้ามาได้แค่ด่านเจดีย์สามองค์ จึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็น เจ้าพระยามหาโยธา
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ บุตรชายคนหนึ่งของเจ้าพระยาเจ่ง ชื่อ ทอเรียะ (ทองชื่น) เกิดในเมืองมอญ ได้สืบบรรดาศักดิ์เจ้าพระยามหาโยธาแทนบิดา และเป็นที่โปรดปรานสนิทสนมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเคยกรำศึกด้วยกันมาก่อนจะขึ้นครองราชย์
บุตรของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) คนหนึ่งเป็นชาย ชื่อ จุ้ย ได้เป็น พระยาดำรงราชพลขันธ์ และเป็นบิดาของ เจ้าจอมซ่อนกลิ่น ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเศวรฤทธิ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ต้นตระกูล กฤดากร และเป็นพระอนุชาที่เป็นกำลังสำคัญในรัชกาลที่ ๕
เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุลในรัชกาลที่ ๖ พระยาพิพิธมนตรี (ปุย) ผู้สืบสกุลมาจากพระยาเจ่ง ได้ขอพระราชทานนามสกุล ทรงพระราชทานนามสกุลให้ทายาทเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง ซึ่งแปลว่าช้าง) ว่า “คชเสนี”
ส่วนเจ้าพระยาไทยอดีตรัฐมนตรีเบลเยี่ยมก็คือ เจ้าพระยาอภัยราชาสยามนุกูลกิจ (โรลิน ยัคมินส์) ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงต้องการหาบุคคลที่มีความรู้กฎหมายของตะวันตก เพื่อเข้ามาปรับปรุงกฎหมายไทยให้เข้ากับสากล เพราะชาวตะวันตกไม่ยอมรับกฎหมายไทย ให้คนในบังคับของตัวไปขึ้นศาลกงสุล กับทั้งตอนนั้นประเทศไทยมีความขัดแย้งเรื่องเขตแดนกับฝรั่งเศสอยู่มาก เมื่อฝรั่งเศสได้ญวนเป็นเมืองขึ้นแล้ว ก็จะยึดเอาลาวกับเขมรจากไทยไปด้วย อ้างว่าเป็นของญวนมาก่อน จึงต้องต่อสู้กันด้วยกฎหมาย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้รับภาระในเรื่องนี้ ในการเสด็จไปยุโรปในปี ๒๓๓๔ ได้บอกกล่าวกับมิตรสหายชาวต่างประเทศก็ยังไม่สามารถหาผู้เชี่ยวชาญกฎหมายตามต้องการได้ ขากลับทรงแวะดูงานที่อียิปต์ก็ได้พบกับมิสเตอร์กุสตาฟ โรลัง ยัคมินส์ ศาสตราจารย์กฎหมายชาวเบลเยี่ยมที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ เป็นด็อกเตอร์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ เป็นอดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยของเบลเยี่ยม และยังเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลอนุญาโตตุลาการที่กรุงเฮกด้วย แต่ในขณะนั้นกำลังตกอับ เนื่องจากน้องชายที่เป็นพ่อค้าขอให้ช่วยค้ำประกันเงินกู้ที่เอาไปลงทุน แต่ขาดทุนจนล้มละลาย โรลัง ยัคมินส์จึงต้องรับภาระหนี้แทนจนหมดตัวเมื่ออายุใกล้ ๖๐ และไม่ต้องการอยู่ในเบลเยี่ยมต่อไป เมื่อได้ทราบข่าวว่าทางการอียิปต์กำลังต้องการนักกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเดินทางไปเพื่อหางานทำที่นั่น แต่ก็ได้พบกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯก่อน จึงได้มาเมืองไทยตามสเปคที่ทรงต้องการ
กุสตาฟ โรลัง ยัคมินส์ เข้ารับราชการกระทรวงต่างประเทศในปี ๒๔๓๕ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำกระทรวง และเป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป
ในปี ๒๔๓๖ เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งนำเรือรบมาปิดอ่าวไทย โรลัง ยัคมินส์ได้รับมอบหมายให้เจรจา แต่ฝรั่งเศสที่ใช้ปืนเรือก็ไม่ยอมรับฟังกฎหมาย ข่มขู่จะเอาดินแดนให้ได้ กฎหมายสากลก็ยังต้องแพ้ปืนเรือ ไทยจึงต้องเสียดินแดนไป
ด้วยคุณงามความดีที่ทำงานให้ประเทศไทย แม้จะเพิ่งเข้ารับราชการได้เพียง ๔ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๓๙ ให้กุสตาฟ โรลิน ยัคมินส์ เป็น เจ้าพระยาอภัยราชาสยามนุกุลกิจฯ เป็นเจ้าพระยาฝรั่งหนึ่งเดียวของกรุงรัตนโกสินทร์
มิสเตอร์กุสตาฟ โรลิน ยัคมินส์ ได้ช่วยตรวจตรางานทุกกระทรวงเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงตั้งสภารัฐมนตรีเพื่อทดลองความเป็นประชาธิปไตย ใครเฉื่อยชาก็นำมาทูลฟ้องให้ทรงเร่งรัด จนเป็นที่ขุ่นเคืองในหลายกระทรวง
เจ้าพระยาอภัยราชาสยามนุกูลกิจ รับราชการอยู่ในเมืองไทย ๙ ปี เมื่องานการหลายอย่างที่ได้รับมอบหมายเข้าที่เข้าทางแล้ว จึงขอลากลับไปเบลเยี่ยมเมื่อปี ๒๔๔๔ ผลงานของเจ้าพระยาต่างชาติท่านนี้เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยของพระเจ้าอยู่หัวแค่ไหน ก็ดูได้จากที่ทรงบันทึกถึงพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๔ มีความตอนหนึ่งว่า
“...ตั้งแต่เจ้าพระยาอภัยราชากลับออกไปแล้วนี้ สังเกตดูว่าการหงอยช้าลงไปแล้วทุกเดือน ที่เป็นสำคัญนั้นในกระทรวงต่างประเทศ แต่ถึงกระทรวงอื่นๆไปอึดอัดอยู่ก็มี การที่ช้านั้นไม่ใช่ช้าเพราะขัดข้อง นึกไม่ออกอย่างเดียว ช้าโดยปกติของคนไทยนั้นมีเป็นอันมาก...”
สำหรับเจ้าพระยาไทยที่ได้เป็นท่านเซอร์ของอังกฤษด้วยนั้น เป็นชาวไทรบุรี ซึ่งเป็นเมืองอารักขาของไทยมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย มีสุลต่านปกครองสืบต่อกันมาหลายชั่วคน จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯให้สุลต่านปะแงรัน สุลต่านไทรบุรีคนที่ ๒๑ เป็นเจ้าพระยาไทรบุรีคนแรก แต่ในปลายรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยาไทรบุรีคนนี้มีปัญหา แอบเอาเกาะปีนังไปให้อังกฤษเช่า และยังขัดแย้งกับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครจึงยกทัพไปปราบ เจ้าพระยาไทรบุรีได้หนีไปอยู่ปีนัง เจ้าพระยานครจึงส่งบุตรชายไปปกครองไทรบุรีแทน ฝ่ายเจ้าพระยาไทรบุรียกกำลังมาตีคืนหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ จนในสมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรันจึงส่ง ตนกูดาอี บุตรชายมาขอสวามิภักดิ์ จึงทรงให้ตนกูดาอีกลับไปเป็นพระยาไทรบุรี
เมื่อพระยาไทรบุรี (ตนกูดาอี) ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงทรงแต่งตั้งให้ตนกูอาหมัด ผู้เป็นหลานชาย ขึ้นเป็นพระยาไทรบุรีแทน จนในสมัยรักาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าพระยาฤทธิสงครามราชภักดี นับเป็นเจ้าพระยาไทรบุรีคนที่ ๒
เมื่อเจ้าพระยาฤทธิสงครามฯเสียชีวิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ อับดุล ฮามิด บุตรชาย ขึ้นเป็นพระยาไทรบุรีแทนขณะที่มีอายุเพียง ๒๑ ปี และต่อมาอีก ๑๕ ปีก็โปรดเกล้าฯให้เป็น เจ้าพระยาฤทธิสงครามราชภักดี
เจ้าพระยาชาวไทรบุรีท่านนี้มีความจงรักภักดีและสนิทสนมกับราชวงศ์ไทยเป็นอย่างมาก ส่งลูกหลานเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ
ในปี ๒๔๕๒ ไทยต้องเสียดินแดน ๔ รัฐในมลายูให้อังกฤษ เจ้าพระยาฤทธิสงครามฯ (อับดุล ฮามิด) จึงพ้นเป็นขุนนางไทย และอังกฤษได้แต่งตั้งให้เป็น เซอร์ อับดุล ฮามิด ฮาลิม ชะห์ สุลต่านแห่งไทรบุรี
เจ้าพระยาไทรบุรีคนที่ ๔ นี้มีชายาหลายองค์ หนึ่งในจำนวนนี้ก็คือ หม่อมเนื่อง นนทนาคร บุตรีนายอำเภอปากเกล็ด ซึ่งให้กำเนิดบุตรชายคนสำคัญ คือ อับดุล เราะห์มาน นักเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นผู้ประกาศเอกราชของมาเลเซีย และนายกรัฐมนตรีคนแรก
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวต่างชาติหลายคนได้เข้ามารับราชการไทยในช่วงที่ไทย “เรียนลัด” ปรับปรุงประเทศให้ก้าวหน้ารู้ทันตะวันตก ด้วยการจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตกเข้ามาเริ่มงาน แล้วส่งคนหนุ่มออกไปศึกษาเพื่อกลับมารับงานต่อ ซึ่งชาวตะวันตกเหล่านั้นหลายท่านได้ยึดเมืองไทยเป็นเรือนตาย และมีลูกหลานสืบสกุลเป็นคนไทยต่อมาหลายสกุล