xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ Victory Day 9 พฤษภาฯ ใกล้เข้ามา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


วลาดิมีร์ ปูติน
เหลือแค่ไม่ถึง 2 อาทิตย์ก็จะถึงวันประกาศชัยชนะที่รัสเซียรำลึกถึงวันอันยิ่งใหญ่ที่รัสเซียสมัยเป็นสหภาพโซเวียต ได้สามารถปลดปล่อยทั้งค่ายกักกันเอาชวิตซ์ และเบอร์ลิน เคียงบ่าเคียงไหล่สัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ทำให้บทบาทของรัสเซียโดดเด่น...และช่วงสองปีที่ผ่านมา เป็นช่วงโควิดระบาดหนัก จึงไม่มีพิธีสวนสนามใหญ่โตเกิดขึ้น

ปีที่ผ่านมา (2021) เป็นปีที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากการได้พบวัคซีนในปลายปี 2020 (โรคโควิดระบาดตลอดช่วงต้นปี 2020 จนถึงปลายปีนั้น) และโลกได้เริ่มระดมฉีดวัคซีนตลอดปี 2021 จนมาค้นพบยาในปลายปี 2021 นี้เอง

ช่วงปลายปีที่แล้ว จึงทำให้การส่งออกสินค้าพลังงานทั้ง 3 ตัวของรัสเซียคือ ก๊าซธรรมชาติ, น้ำมัน และถ่านหิน (รวมทั้งยูเรเนียมได้ราคาขายในตลาดโลกในราคาสูงมาก...ทำให้รัสเซียโกยเงินรายได้เข้าประเทศอย่างอู้ฟู่ พอๆ กับความมั่งคั่งของชาติสมาชิก OPEC พลัส ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในตะวันออกกลาง

ท่ามกลางความมั่งคั่งจากการขายแก๊สและน้ำมัน ตลอดจนสารตั้งต้นสำคัญๆ เพื่อผลิตชิป (Semicon) ที่จำเป็นของอุตสาหกรรมหลักเช่น รถยนต์, โรบอต, ไอที รวมทั้งอาหารคน, อาหารสัตว์, อาหารพืช, อาหารเครื่องจักร, อาหารเครื่องบิน ที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกลำดับต้นๆ ในตลาดโลก ทำให้รัสเซียพร้อมอย่างยิ่งที่จะแสดงแสนยานุภาพเพื่อกดดันให้ยูเครนต้องยอมเป็นประเทศเป็นกลางทางการทหาร หลังจากการรัฐประหารเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่สนับสนุนโดยสหรัฐฯ...โค่นรัฐบาล ปธน.ยานูโควิช (ที่เป็นมิตรกับสมาชิกของนาโต) และรัฐบาลใหม่ที่มาแทนที่ยานูโควิชต้องการเร่งเข้าเป็นสมาชิกนาโต

รัสเซียน่าจะคำนวณวางแผนมาพอสมควรหลังจากบ่มเพาะพยายามปลุกปล้ำการเพาะปลูกข้าวปลาอาหารมา 8 ปีเต็ม (หลังการรัฐประหาร 2014) จนกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีเป็นอันดับ 1 ของโลก จากเดิมที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าอาหาร (net importer) จนตอนนี้ไม่ขาดแคลนอาหาร และพืช สัตว์ก็ราคาถูก (เช่นเนื้อหมูราคาน่าจะถูกกว่าเมืองไทยด้วยซ้ำ) ซึ่งถ้าจะเข้าสู่สงครามหรือถูกคว่ำบาตรแบบที่เคยโดนเมื่อปี 2014 (โดนคว่ำบาตรอย่างหนักจากรัฐบาลโอบามา ซึ่งกำชับประเทศสมาชิกกลุ่มจี 7-หลังขับรัสเซียออกจากจี 8 เพราะรัสเซียได้ผนวกเอาแหลมไครเมียมาอยู่กับรัสเซีย-ให้คว่ำบาตร ทั้งการค้า การลงทุน และการเงินกับรัสเซีย)

ขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 3 ของสงครามยูเครน และท่ามกลางการคว่ำบาตรระบบ SWIFT; แต่รัสเซียก็แลกหมัดต่อหมัด โดยอาศัยความเป็นต่อที่ตลาดสินค้าพลังงาน, สินค้าโภคภัณฑ์จำเป็น-ตลาดเป็นของผู้ขาย รัสเซียจึงสามารถพลิกเกมจากที่ตะวันตกคาดว่ารัสเซียจะล้มละลายทางการเงิน (ขนาดสหรัฐฯ ได้ประกาศยึดเงินสำรองสกุลหลักที่ฝากไว้ที่สหรัฐฯ และประกาศพันธมิตรถึง 3 แสนล้านเหรียญ!) และนำสู่การล้มละลายทางเศรษฐกิจ...ปรากฏว่า รัสเซียกลับสามารถทำให้เงินรูเบิลแข็งค่าขึ้นกว่าก่อนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ (วันบุกยูเครน) ด้วยซ้ำ โดยขณะนี้อยู่ที่ 71-72 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์ (ขณะที่ก่อน 24 กุมภาพันธ์ อยู่ที่ 85-86 รูเบิล...และได้อ่อนค่าไปถึง 30% ไปอยู่ที่ 119-120 รูเบิล...หลังถูกคว่ำบาตรจากระบบ SWIFT)

การเดินทางไปเคียฟของ รมต.ต่างประเทศและ รมต.กลาโหมของสหรัฐฯ พร้อมเงินช่วยเหลือจัดซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ก้อนใหม่ถึง 800 ล้านเหรียญ (เพื่อซื้ออาวุธจากบริษัทผลิตอาวุธสหรัฐฯ-ซึ่งหุ้นในตลาดที่วอลล์สตรีท ได้ปรับราคาสูงขึ้นมาตลอดขณะนี้) ทำให้ รมต.ต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ออกมาฟันธงว่า นี่เป็นการราดน้ำมันเข้าไปในกองเพลิงสงคราม แทนที่จะลดความร้อนแรงลงกลับเพิ่มการร้อนแรงยิ่งขึ้น...และลาฟรอฟ ก็ได้ประกาศด้วยว่า เป็นการชักธงรบของนาโตกับรัสเซีย คือ นาโตเป็นคู่สงครามกับรัสเซีย ในสงครามตัวแทน (Proxy war) ที่ยูเครนนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ ลาฟรอฟก็ได้ฟันธงว่า มีหัวเรือใหญ่ของนาโต (คือ สหรัฐฯ) ต้องการให้สงครามในยูเครนดำเนินต่อไปมากกว่าหาทางยุติสงครามด้วยการเจรจา (ซึ่งวันนี้มาถึงทางตัน)... เพื่อทำให้เศรษฐกิจรัสเซียล้มครืนลงมา

และ รมต.กลาโหม ลอยด์ ออสติน ของสหรัฐฯ ก็ออกมายอมรับว่า เป้าหมายของสหรัฐฯ คือ ทำลายแสนยานุภาพของรัสเซียให้อ่อนแอลง ด้วยการเดินหน้าส่งอาวุธให้ยูเครน เพื่อให้ทำการรบกันต่อไป แทนที่จะหาทางยุติสงครามด้วยการเจรจา

แต่ก็มีนักวิเคราะห์ทางการทหารบางคนที่วิเคราะห์ผ่านสื่อจีน (CGTN) และสื่อรัสเซีย (RT) ว่า รัสเซียที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์คงไม่รีบร้อนเผด็จศึก เพราะสามารถทำสงครามได้ยาวนาน และยิ่งสงครามยืดเยื้อออกไป ยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจของตะวันตก (สหรัฐฯ และอียู) กลับเผชิญกับปัญหาข้าวของราคาสูงขึ้น เกิดเงินเฟ้อที่กำราบยาก ยิ่งถ้าใช้วิธีเร่งขึ้นดอกเบี้ยให้แรงและเร็วแบบที่มีการเสนอกันในสหรัฐฯ อาจทำให้เศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ, อียู, อังกฤษ รวมทั้งประเทศในจี 7, ในนาโต ต่างมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วยซ้ำ

อย่างที่ รมว.คลังสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน ได้ออกมาเตือนอียูว่า คงไม่สามารถลดการพึ่งพิง (ตัดขาด) พลังงาน+สินค้าโภคภัณฑ์จากรัสเซียในระยะเวลาอันใกล้นี้ (พูดตรงข้ามกับนโยบายของ ปธน.ไบเดน ด้วยซ้ำ) เพราะจะทำให้เศรษฐกิจอียูกระทบอย่างหนักหนาสาหัส (และรวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วย)

ขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติพยายามหาทางยุติการรบในยูเครน ซึ่งความร้อนแรงจากจุดยืนของนาโตที่จะยังเพิ่มความช่วยเหลือด้านอาวุธส่งให้ยูเครน และการไม่ตอบรับจากปูตินที่จะเจรจาใดๆ ก็น่าจะทำให้การสู้รบในยูเครนดำเนินความร้อนแรงต่อไป

แม้จะมีข้อเสนอบางส่วนให้หาทางให้รัสเซียสามารถประกาศชัยชนะในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ถ้ารัสเซียจะช่วยปลดปล่อยเขตดอนบาสส์ หรืออาจจะรวมบริเวณเมืองที่เป็น land bridge เชื่อมไครเมียกับดอนบาสส์ อย่างน้อยก็ทำให้รัสเซียได้ดินแดนเพิ่มเติม

ส่วนหลังจากนั้น จะยังคงมีการปะทะกันต่อไปบริเวณชายแดนทางตอนใต้ ที่อาจจะเป็นแค่สงครามชายแดน มากกว่าการระดมยิงขีปนาวุธไปถึงเคียฟ

และด้านสงครามเศรษฐกิจก็น่าจะดำเนินต่อไปเช่นกัน

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น