xs
xsm
sm
md
lg

อดีต จนท.คณะบริหารของสหรัฐฯ ชี้รัสเซียเจอ ‘ปัญหายูเครน’ เนื่องจากเจตนาของวอชิงตัน บวกกับความผิดพลาดร้ายแรงของมอสโก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อาเดรียล คาซอนตา ***


(ภาพจากแฟ้ม) ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เมื่อครั้งไปเยือนแนวหน้าในภูมิภาคดอนบาสส์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2022  (ภาพเผยแพร่โดยสำนักประธานาธิบดียูเครน)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

West vs Russia: reaching point of no return
By ADRIEL KASONTA
12/04/2022

พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์ ผู้เป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ นักเขียน และอดีตเจ้าหน้าที่ของคณะบริหารเรแกน ให้สัมภาษณ์แลกเปลี่ยนทัศนะของเขาเกี่ยวกับสงครามที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน

พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์ (Paul Craig Roberts) เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจ (US assistant secretary of the Treasury for economic policy) ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ เรแกน เขาเป็นคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังนโยบายเศรษฐกิจในสมัยแรกของคณะบริหารเรแกน อีกทั้งได้รับการยกย่องว่าเป็น “จิตสำนึกทางเศรษฐกิจ” ของประธานาธิบดีผู้นี้

หลังออกมาจากแวดวงรัฐบาลแล้ว โรเบิร์ตส์เข้ารับตำแหน่งนักวิจัย วิลเลียม อี ไซมอน แชร์ ในด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง (William E Simon Chair in Political Economy) ที่ ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies) ในช่วงระหว่างปี 1983 ถึงปี 1993 และเป็นนักวิจัยเกียรติคุณ (distinguished fellow) อยู่ที่สถาบันคาโต (Cato Institute) ระหว่างปี 1993 ถึงปี 1996 รวมทั้งได้เคยนั่งอยู่ในบอร์ดบริหารของบริษัทหลายๆ แห่ง

โรเบิร์ตส์ ซึ่งเคยผ่านงานหนังสือพิมพ์ ในฐานะเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ยังได้เขียนหนังสือเอาไว้หลายเล่ม ซึ่งจะขอตัวอย่างเป็นบางเล่ม ดังเช่น The Supply Side Revolution: An Insider’s Account of Policymaking in Washington (Harvard University Press, 1984), The Capitalist Revolution in Latin America (Oxford University Press, 1997), The Failure of Laissez Faire Capitalism and Economic Dissolution of the West (Clarity Press, 2013), and The Neoconservative Threat to World Order: Washington’s Perilous War for Hegemony (Clarity Press, 2015)

พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์
ต่อไปนี้เป็นบทคัดสรรส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ ซึ่ง พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์ พูดกับผู้เขียน (อาเดรียล คาซอนตา)

อาเดรียล คาซอนตา :
เวลาผ่านไปมากกว่า 1 เดือนแล้วตั้งแต่ที่รัสเซียเริ่มต้นการปฏิบัติการทางทหารของพวกเขา (หรือถ้าจะว่ากันอย่างที่พวกเราพูดกันในโลกตะวันตก ก็ต้องบอกว่า “การรุกราน”) เข้าไปในยูเครน โดยที่ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเชื่อว่า จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ ถ้าข้อเสนอของทางมอสโกที่ให้ค้ำประกันความมั่นคงของพวกเขาจะได้รับการพิจารณาสนองตอบกันอย่างจริงจัง การพูดกันเช่นนี้ควรถือว่าเป็นการเสนอประเด็นที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ หรือว่าเป็นเพียง “การโฆษณาชวนเชื่อของเครมลิน” อันซ้ำๆ ซากๆ เท่านั้น? และถ้าหากมันเป็นคำพูดที่มีคุณค่าน่าพิจารณาอยู่เหมือนกัน ทำไมจึงไม่ได้มีการทำอะไรกันเลย เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดสงครามขึ้นมา?


พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์ :
ยูเครนกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมีหลายด้านหลายมิติสำหรับรัสเซีย เหตุที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะมันเป็นเจตนาของวอชิงตัน และอีกส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย

รัสเซียกลายเป็นปัญหาหนึ่งขึ้นมาสำหรับวอชิงตันเมื่อปี 2007 ตอนที่ (ประธานาธิบดีวลาดิมีร์) ปูติน ประกาศในเวทีการประชุมความมั่นคงนครมิวนิก (Munich Security Conference) ว่า ฐานะของอเมริกาในการเป็นขั้วอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลกได้สิ้นสุดลงแล้ว ทั้งนี้ การที่รัสเซียจะหวนกลับคืนมาเป็นปัจจัยหนึ่งที่คอยขัดขวางยับยั้งลัทธิทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ เป็นเรื่องซึ่งสร้างความโกรธกริ้วให้แก่พวกอนุรักษนิยมใหม่ (neoconservatives)

การตอบโต้ของวอชิงตันก็คือต้องออกแรงบีบคั้นใส่รัสเซีย ในปี 2008 กองทัพของประเทศจอร์เจียที่ได้รับการฝึกอบรมและประกอบอาวุธจากวอชิงตัน จึงถูกใช้ให้เข้ารุกราน เซาท์ออสซีเชีย (South Ossetia) ดินแดนระดับจังหวัดแห่งนี้ได้ประกาศแยกตัวออกมาจากจอร์เจีย เมื่อตอนที่จอร์เจียแยกขาดออกจากรัสเซียภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เซาท์ออสซีเชีย มีกองกำลังรักษาสันติภาพของรัสเซียคอยตรวจการณ์รักษาความปลอดภัยอยู่ และมีสมาชิกกองกำลังของรัสเซียถูกสังหารระหว่างการรุกรานของจอร์เจีย

ปูติน เดินทางกลับจากการไปร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่ง และกองทัพรัสเซียได้เข้าไปผลักดันกองทัพจอร์เจียให้ถอยออกจากเซาท์ออสซีเชีย รวมทั้งเมื่อพิจารณากันในทางสาระสำคัญแล้ว ยังได้เข้าพิชิตยึดครองจอร์เจียเอาไว้เป็นเวลา 4-5 วัน ฝ่ายรัสเซียในตอนนั้นมีโอกาสที่จะนำเอาจอร์เจียกลับมารวมเข้ากับรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง
และยุติลู่ทางโอกาสของการที่จอร์เจียจะกลายเป็นสมาชิกรายหนึ่งขององค์การนาโต้ แต่ตรงกันข้าม รัสเซียกลับถอนทัพออกมา ปล่อยให้จอร์เจียหลุดรอดไป

นี่คือความผิดพลาดร้ายแรงในทางยุทธศาสตร์ประการหนึ่ง เครมลินอย่างน้อยที่สุดก็ควรจัดตั้งรัฐบาลที่ตนเองควบคุมได้ขึ้นมาแทนที่รัฐบาลซึ่งวอชิงตันควบคุมอยู่ ถึงแม้มันเป็นชัยชนะทางการทหารสำหรับรัสเซีย แต่มันก็เป็นชัยชนะทางการโฆษณาชวนเชื่อสำหรับวอชิงตัน การที่จอร์เจียเข้ารุกรานเซาท์ออสซีเชีย ถูกพลิกเปลี่ยนให้กลายเป็นการที่รัสเซียรุกรานจอร์เจีย

ในปี 2014 เครมลินกระทำความผิดพลาดร้ายแรงทางยุทธศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปให้ความสนใจมากกว่ากับการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองโซชิ แทนที่จะจับจ้องการปฏิวัติสี (color revolution) ซึ่งวอชิงตันกำลังเตรียมตัวก่อขึ้นมาในยูเครน ครั้นเมื่อวอชิงตันเปิดฉากการโค่นล้มรัฐบาลยูเครน รัสเซียก็บกพร่องล้มเหลวไม่ได้เข้าไปแทรกแซง รัฐบาลชุดที่เป็นมิตรกับรัสเซียจึงถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลซึ่งเป็นปรปักษ์กับรัสเซีย

รัสเซียยังเพิ่มเติมความผิดพลาดร้ายแรงทางยุทธศาสตร์คราวนี้ด้วยความผิดพลาดร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการที่เครมลินปฏิเสธไม่ยอมรับผลการลงคะแนนของพวกสาธารณรัฐในดินแดนดอนบาส ที่ประกาศแยกตัวออกจากยูเครน ทั้งนี้ ผลโหวตดังกล่าวนี้ออกมาว่าพวกเขาต้องการที่จะกลับมารวมชาติกับรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง ทำนองเดียวกับไครเมีย ความผิดพลาดนี้ยังตามมาด้วยความผิดพลาดร้ายแรงอีกอย่างหนึ่งด้วย

กล่าวคือ รัสเซียยินยอมปล่อยให้พวกกองกำลังอาวุธท้องถิ่น “อาซอฟ” (Azov) ที่มีแนวคิดแบบนาซีใหม่ (neo-Nazi) โจมตีถล่มใส่ผู้คนชาวรัสเซียในดอนบาสเป็นเวลาถึง 8 ปี โดยที่ในระหว่างเวลาดังกล่าว มอสโกมุ่งมั่นพยายามดึงเอายูเครนและฝ่ายตะวันตกให้มาสนับสนุนข้อตกลงกรุงมินสก์ (Minsk Agreement) ซึ่งยูเครนร่วมลงนามรับรองเอาไว้แล้วด้วยซ้ำไป ระหว่าง 8 ปีเหล่านี้ มีแรงกดดันภายในประเทศรัสเซียต่อปูตินมากขึ้นเรื่อยๆ ให้เข้าปกป้องคุ้มครองชาวรัสเซียดอนบาส

ปี 2022 เปิดฉากขึ้นมาด้วยการที่ยูเครนชุมนุมกำลังทหารขนาดใหญ่เอาไว้ตรงบริเวณชายแดนดอนบาส ตั้งท่าเตรียมพร้อมที่จะบุกโจมตีเพื่อยึดดอนบาสกลับคืน รัสเซียเพิ่งมาตอบโต้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ด้วยการประกาศรับรอง 2 สาธารณรัฐที่ประกาศแยกตัวออกจากยูเครน รวมทั้งมาตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า การที่ยูเครนน่าจะได้เข้าเป็นสมาชิกรายหนึ่งขององค์การนาโต้นั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทางด้านความมั่นคง เนื่องจากมันจะหมายความว่าฐานขีปนาวุธของสหรัฐฯ ตั้งประชิดอยู่ตรงชายแดนของรัสเซีย

ด้วยความหงุดหงิดผิดหวังจากการที่ฝ่ายตะวันตกเมินเฉยต่อความกังวลห่วงใยด้านความมั่นคงของรัสเซีย รัสเซียจึงเข้าแทรกแซงด้วยกำลังทหารในยูเครนตะวันออก และประสบความสำเร็จในการเข้าโอบล้อมพวกนาซีใหม่อาซอฟเอาไว้ โดยไมมีข้อสงสัยใดๆ เลยว่าพวกนี้จะต้องประสบความพ่ายแพ้ ทว่าถึงแม้ว่าจุดมุ่งหมายเพียงแค่จำกัดเช่นนี้จะประสบความสำเร็จ แต่มันก็กระทำกันในวิถีทางซึ่งทำให้ฝ่ายตะวันตกสามารถเปิดการรณรงค์ด้านการปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างใหญ่โต ป้ายสีรัสเซีย และประธานาธิบดีของประเทศนี้ด้วยข้อหาต่างๆ ที่ดำมืดสุดๆ

แล้วเนื่องจากการสู้รบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในดินแดนดอนบาสที่มีประชากรเป็นชาวรัสเซีย ทางรัสเซียจึงเลือกที่จะกำจัดกวาดล้างพวกนาซีใหม่อาซอฟ โดยไม่มีการใช้อาวุธขนาดหนัก ซึ่งจะพลอยทำลายประชากรชาวรัสเซียพื้นถิ่นให้ยับเยินไปด้วย ความยับยั้งเช่นนี้หมายความว่ามันจะเป็นกระบวนการที่ลากยาวยืดเยื้อ ซึ่งฝ่ายตะวันตกก็ไม่พลาดโอกาสที่จะเข้าฉกฉวยหาประโยชน์

วอชิงตันนั้นต้องการมากที่สุดเลยให้การเข้าแทรกแซงทางทหารของรัสเซีย สามารถที่จะประทับตราว่าเป็น “การรุกรานยูเครนของรัสเซีย” และใช้เรื่องนี้สำหรับวัตถุประสงค์ทางการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อแบ่งแยกยุโรปออกจากรัสเซีย หากทำเช่นนี้ได้ก็จะเป็นการปกปักรักษาจักรวรรดิอเมริกัน และทำให้ฟินแลนด์ และสวีเดนเกิดความแตกตื่นตกใจวิ่งเข้าสู่นาโต้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะยิ่งขยับขยายการตั้งวงโอบล้อมรัสเซียเอาไว้

อาเดรียล คาซอนตา : การส่งอาวุธต่างๆ ให้ยูเครน (ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่รับรู้เข้าใจกันว่าเป็นหนทางหนึ่งของการสร้างแรงกดดันต่อรัสเซีย) สามารถที่จะเป็นหนทางนำสันติภาพมาสู่ยูเครนได้หรือไม่ หรือว่ามันจะก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม โดยเป็นการประวิงเวลาให้การสู้รบขัดแย้งในยุโรปตะวันออกนี้ยิ่งยืดเยื้อออกไป? แล้วถ้าหากว่ามันเป็นอย่างหลัง ทำไมสหรัฐฯ และพวกพันธมิตรของเขาจึงยังทำเช่นนี้ต่อไปอีก?

พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์ :
การส่งอาวุธให้เช่นนี้ คือวิธีการของฝ่ายตะวันตกในการสู้รบในสงครามตัวแทนกับรัสเซีย นั่นก็คือ สู้ไปจนกระทั่งถึง “ชาวยูเครนคนสุดท้าย” อาวุธเหล่านี้จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในดอนบาส การทหารของยูเครนและโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารของยูเครนโดยสาระสำคัญแล้วคือจะถูกทำลายอย่างยับเยิน อาวุธเช่นนี้ถูกมองว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้บ้างในการโจมตีประชากรที่เป็นพลเรือน แล้วจากนั้นก็พลิกผันให้กลายเป็นการปฏิบัติการให้ร้ายป้ายสีเพื่อประณามใส่ฝ่ายรัสเซีย

อาเดรียล คาซอนตา :
คุณเชื่อไหมว่าการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ซึ่งจนถึงบัดนี้ยังดูเหมือนสามารถจำกัดขอบเขตกันเอาไว้ได้ อาจจะสามารถบานปลายและขยายตัวเข้าสู่ยุโรปไกลออกไป โดยมีการแปรเปลี่ยนกลายเป็นการปะทะกันโดยตรงระหว่างองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) กับรัสเซีย? ทั้งนี้ทั้งนั้น โปแลนด์เวลานี้ก็พยายามลักดันไอเดียที่จะให้จัดตั้ง “กองกำลังรักษาสันติภาพ” ของนาโต้ขึ้นมา และจัดส่งเข้าไปในยูเครน


พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์ :
การสู้รบขัดแย้งกันครั้งนี้สามารถแผ่ขยายออกไปอยูแล้ว แต่มันจะไม่มีการปฏิบัติการรักษาสันติภาพของนาโต้ใดๆ ขึ้นมาหรอก กองกำลังนาโต้ใดๆ ก็ตามที่เข้าสู่ยูเครน มีแต่จะถูกทำลายไป ฝ่ายรัสเซียไม่ได้เข้าไปที่นั่นเพื่อพิชิตยึดครองยูเครน และไม่ได้มีทหารอยู่ในส่วนตะวันตกของยูเครน ในกรณีที่ยูเครนสามารถที่จะเรียกระดมกองทัพอีกกองหนึ่งขึ้นมาในยูเครนตะวันตก และเข้าโจมตีฝ่ายรัสเซียในพื้นที่ดอนบาส สงครามคราวนี้ก็อาจจะขยายตัวกว้างมากขึ้น แต่เรื่องนี้ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นมาได้

อันตรายที่จะเกิดสงครามซึ่งขยายตัวแผ่กว้างออกไปนั้นจะมาจากการที่สหรัฐฯ/นาโต้ ผลักดันให้นำเอาฟินแลนด์และสวีเดนเพิ่มเข้าไปในนาโต้ และจะมาจากการที่สหรัฐฯ ตั้งฐานขีปนาวุธขึ้นในสโลวะเกีย ฝ่ายรัสเซียบอกแล้วว่าพวกเขาจะไม่ยอมอดทนอดกลั้นหากมีฐานขีปนาวุธใดๆ มาตั้งอยู่ใกล้ๆ และนี่ย่อมครอบคลุมถึงพวกฐานที่มีอยู่แล้วในโรมาเนีย
และในโปแลนด์ด้วย

มันเป็นการยั่วยุกันอย่างสุดโต่งและมีอันตรายมากสำหรับการที่วอชิงตันจะนำเอาขีปนาวุธของตนเข้าไปในสโลวะเกีย และเอาประเทศอื่นๆ เพิ่มเข้าไปในนาโต้อีก มันเท่ากับการเมินเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อคำเตือนอย่างชัดแจ้งของเครมลิน ในสภาพที่รัสเซียจนตรอกหลังพิงกำแพงเช่นนี้ ชะตากรรมของฐานขีปนาวุธเหล่านี้น่าจะเป็นการถูกทำลายไป โดยที่กองกำลังทางนิวเคลียร์ของรัสเซียจะถูกสั่งเตรียมพร้อมเต็มอัตราศึกเพื่อเป็นการข่มขวัญมุ่งสยบการตอบโต้จากฝ่ายนาโต้

อาเดรียล คาซอนตา : มันดูเหมือนกับว่าวอชิงตันมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะ “ลงโทษ” มอสโกสำหรับการที่พวกเขาตัดสินใจเข้ารุกรานยูเครน แม้กระทั่งเมื่อพลเมืองของตนเองจะต้องเป็นผู้สูญเสีย โดยในขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องดิ้นรนหนักหน่วงเพื่อหางบประมาณมาใช้จ่ายทำให้แผนการ “Build Back Better” (สร้างอเมริกาขึ้นมาใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเก่า) ของเขากลายเป็นความจริงขึ้นมา แต่เวลานี้กลับกำลังมีการจัดสรรเงินทองก้อนมหึมาไปให้แก่ยูเครน ทั้งโดยสหรัฐฯ และโดยพวกสถาบันการเงินระหว่างประเทศของพวกเขาอย่างไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก คุณจะช่วยอธิบายขยายความในเรื่องนี้ได้ไหม?

พอลเคร็ก โรเบิร์ตส์ :
ผลลัพธ์ของมาตรการแซงก์ชันลงโทษต่างๆ ในคราวนี้ ที่สำคัญแล้วจะตกอยู่กับชาวยุโรป แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐฯ หรือพวกรัฐหุ่นเชิดของพวกเขากังวลสนใจหรอก ความกังวลสนใจของวอชิงตันอยู่ตรงที่จะต้องพยายามรักษาจักรวรรดิของตนเอาไว้ไม่ให้ถูกกัดกร่อน บั่นทอน สืบเนื่องจากการที่พวกยุโรปต้องพึ่งพาอาศัยพลังงานและแร่ธาตุต่างๆ ของรัสเซีย ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ประชาชนในโลกตะวันตกต้องแบกรับคือต้นทุนค่าใช้จ่ายของสงครามชนิดที่วอชิงตันกำลังดำเนินอยู่นี่แหละ ประชาชนในโลกตะวันตกกำลังเสียค่าใช้จ่ายให้แก่สงครามคราวนี้ด้วยการที่มาตรฐานความเป็นอยู่ต้องตกต่ำเสื่อมทรามลง แทนที่จะต้องจ่ายด้วยชีวิตของพวกเขา

อาเดรียล คาซอนตา :
คุณมีความคิดเห็นยังไงกับการที่สหภาพยุโรปตัดสินใจที่จะโยนทิ้งพลังงานรัสเซีย และมองหาซัปพลายเออร์รายอื่นๆ มาแทนที่ อย่างเช่นจากสหรัฐฯ? แผนการนี้มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจสักแค่ไหน และที่สำคัญที่สุดก็คือมันเป็นการตอบสนองผลประโยชน์ของยุโรปหรือไม่?


พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์ :
มันไม่มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจหรอก
พลังงานที่จะทดแทนที่ว่านี่จะมาจากไหน และการลำเลียงขนถ่ายตลอดจนการเอามากระจายแจกจ่ายถึงมือผู้ใช้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่? สิ่งที่วอชิงตันต้องการจะทำคือการเตะรัสเซียให้ออกไปจากยุโรปเท่านั้นแหละ และค่าใช้จ่ายจำนวนมากเลยจะตกอยู่กับคนอื่นๆ

อาเดรียล คาซอนตา :
คุณช่วยบอกเราเพิ่มเติมอีกสักนิดได้ไหม
เกี่ยวกับผลลัพธ์ทางสังคมและทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวของมาตรการแซงก์ชันรัสเซียนี่?

มาตรการเหล่านี้จะสามารถสนองวัตถุประสงค์ที่ประกาศเอาไว้ของมันได้ไหมในเรื่องการทำลายเศรษฐกิจของมอสโกให้ยับเยินไป หรือว่ามันจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือจะสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายตะวันตกอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก? ถ้าหากเป็นกรณีหลังแล้ว วัตถุประสงค์ของการแซงก์ชันเหล่านี้คืออะไรกันแน่?


พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์ :
วัตถุประสงค์ของการแซงก์ชันพวกนี้ คือการแยกยุโรปให้ออกห่างจากรัสเซีย สำหรับรัสเซียแล้วการแซงก์ชันพวกนี้คือเรื่องประเสริฐที่พระเจ้าประทานมาให้ การที่พวกบริษัทตะวันตกถอนตัวออกไปกลายเป็นการสร้างโอกาสสำหรับพวกบริษัทรัสเซียในการเข้าแทนที่การนำเข้า นี่เป็นการกำจัดพวกบริษัทต่างชาติที่กำลังสูบเอากำไรออกไปจากรัสเซีย และมันยังเป็นการกำจัดความสามารถของฝ่ายตะวันตกที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของเงินรูเบิลด้วยการดึงเอาเงินทุนออกไปจากรัสเซียอีกด้วย

พวกประเทศที่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศนั้นก็มีแต่พวกซึ่งปราศจากกองทุนทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ และขาดไร้โนว์ฮาวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น รัสเซียมีทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการพึ่งตนเอง ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ยอดเยี่ยมที่สุดอย่างเหนือชั้นไม่ว่าสำหรับประเทศใดก็ตามที สหรัฐฯ นั้นแต่เดิมก็สามารถพึ่งตนเองได้จวบจนกระทั่งสหรัฐฯ โยกย้ายอุตสาหกรรมของตนไปยังเอเชีย

อาเดรียล คาซอนตา :
เมื่อคำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่า รัสเซียมีโครงข่ายของการติดต่อคบค้าทางด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางกับประเทศต่างๆ อย่างเช่น จีน อินเดีย บราซิล มันเป็นไปได้หรือที่จะถอดปลั๊กตัดขาดมอสโกออกจากโลกในทางเศรษฐกิจและในทางการเงิน?

พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์ :
จุดมุ่งหมายของวอชิงตันอยู่ที่การถอดปลั๊กยุโรปออกจากการต่อเชื่อมกับรัสเซีย วอชิงตันไม่ได้มีความสามารถที่จะถอดปลั๊กรัสเซียให้ขาดจากโลกหรอก

อาเดรียล คาซอนตา :
รัสเซียยังไม่ได้มีการตอบโต้เอาคืนการที่พวกเขาถูกแซงก์ชันเหล่านี้เลย มอสโกสามารถที่จะตอบโต้ในลักษณะไหนบ้าง และมันจะส่งผลกระทบกระเทือนประชาชนในยุโรป ในสหรัฐฯ ตลอดจนในส่วนอื่นๆ ของโลกยังไงบ้าง?


พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์ :
เครมลินสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายของตนในยูเครนอย่างง่ายๆ เพียงแค่ด้วยการปิด (การจัดส่ง) พลังงานและแร่ธาตุให้แก่ยุโรปเท่านั้น เยอรมนีซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยรัสเซียสำหรับพลังงานประมาณครึ่งหนึ่งที่ตนต้องใช้สอย สมควรที่จะออกมาเรียกร้องให้รอมชอมกับข้อกังวลห่วงใยด้านความมั่นคงของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม เครมลินขาดแคลนสติปัญญาที่จะใช้อำนาจเช่นว่านี้ เพราะรัสเซียมีผู้ว่าการธนาคารกลางที่ไร้ความรู้ความสามารถ ผู้ซึ่งมีความคิดที่ผิดพลาดว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัสเซียจะต้องพึ่งพาการหารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพื่อนำมาใช้สำหรับสนับสนุนทางการเงินให้แก่การพัฒนาประเทศของรัสเซีย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ว่าการธนาคารกลางคนนี้คิดเหมือนกับว่ารัสเซียเป็นประเทศในโลกที่สามประเทศหนึ่งซึ่งไม่สามารถทำอะไรด้วยตนเองได้

ผมสามารถที่จะพูดได้เยอะแยะในเรื่องที่รัสเซียยังคงจัดส่งพลังงานให้แก่เยอรมนีอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เยอรมนีเพิ่งจัดส่งอาวุธไปให้แก่ยูเครน ตลอดจนเยอรมนียังสนับสนุนนโยบายอย่างอื่นๆ จำนวนมากที่เป็นการคัดค้านต่อต้านรัสเซีย ผมมองว่าในส่วนของรัสเซีย นี่เป็นพฤติการณ์แบบคนไร้สมอง สมมติฐานของผมก็คือรัสเซียไม่ได้ลำบากเดือดร้อนจากมาตรการแซงก์ชันเหล่านี้จนเพียงพอที่จะรู้สึกว่าต้องนำมาตรการตอบโต้การแซงก์ชันอย่างชนิดหนักหน่วงมาใช้เพื่อเป็นการแก้เผ็ดเอาคืน

อาเดรียล คาซอนตา :
เรามาจนถึงจุดที่ไม่มีทางหวนกลับคืนไปได้เสียแล้ว หรือว่ายังมีโอกาสใดๆ ไหมที่จะนำเอาความสัมพันธ์ของเรากับรัสเซียกลับขึ้นมาจากขอบเหว?

พอล เคร็ก โรเบิร์ตส์ :
“เรา” ที่ว่านี้คือใครกันล่ะ? ฝ่ายตะวันตกนั้นทำลายความสัมพันธ์ที่ตนมีอยู่กับรัสเซียอย่างจงใจ นี่แหละแผนการของพวกเขา ตัดขาดรัสเซียออกจากยุโรป โอบล้อมรัสเซียด้วยขีปนาวุธที่สามารถบินไปถึงมอสโกได้ในเวลา 4 นาทีเพื่อยับยั้งรัสเซียเอาไว้ไม่ให้สกัดขัดขวางการวางตัวเป็นเจ้าใหญ่เหนือใครในโลกของสหรัฐฯ จุดอันตรายร้ายแรงในนโยบายของฝ่ายตะวันตกอยู่ตรงที่ว่าการยั่วยุรัสเซียอย่างเลินเล่อขาดความยั้งคิดมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้จะส่งผลกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมา

อาเดรียล คาซอนตา

เป็นที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมืองและนักกฎหมายซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงลอนดอน เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่สภากิจการระหว่างประเทศของรัสเซีย (Russian International Affairs Council หรือ RIAC) ในกรุงมอสโก และเป็นอดีตประธานของคณะกรรมการกิจการระหว่างประเทศอยู่ที่ โบว์ กรุ๊ป (Bow Group) ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองแนวทางอนุรักษนิยมที่เก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักร คาซอนตา สำเร็จการศึกษาจาก London School of Economics and Political Science (LSE)



กำลังโหลดความคิดเห็น