หลังจากพังครืนลงครั้งประวัติศาสตร์ ตามหลังปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย สกุลเงินรูเบิลฟื้นตัวอย่างน่าตื่นตะลึง แข็งค่าสุดในรอบหลายเดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ได้แรงหนุนจากมาตรการควบคุมเงินทุนอันเข้มงวดและการส่งออกพลังงาน อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เชื่อว่ามันเป็นแค่ความสำเร็จแบบเทียมๆ และไม่ใช่ลางดีสำหรับสถานะทางเศรษฐกิจของรัสเซีย
สกุลเงินของรัสเซียแข็งค่าสู่ระดับต่ำกว่า 72 รูเบิลต่อดอลลาร์ และราวๆ 77 รูเบิลต่อยูโร ระหว่างการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มอสโกเมื่อวันศุกร์ (8 เม.ย.) ทำให้เวลานี้ รูเบิลแข็งค่าสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์ นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อน และแข็งค่าสุดเมื่อเทียบกับยูโร ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2020
รูเบิลอ่อนค่าดำดิ่งแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากมอสโกเปิดปฏิบัติการรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากอียูและสหรัฐฯ พร้อมทั้งพันธมิตรกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานระบบการเงินของรัสเซีย ครั้งหนักที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยในวันที่ 7 มีนาคม ค่าเงินรูเบิลร่วงลงไปถึง 150 รูเบิลต่อดอลลาร์ และ 164 รูเบิลต่อยูโร
อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลรัสเซียนำมาใช้ ในนั้นรวมถึงการควบคุมเงินทุนและบังคับใช้ชำระเงินค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินในประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลแข็งค่าขึ้นกว่าเท่าตัวนับตั้งแต่นั้น ขณะที่แพกเกจคว่ำบาตรรอบใหม่ของอียูที่กำหนดเล่นงานรัสเซียในวันศุกร์ (8 เม.ย.) ไม่อาจหยุดยั้งรูเบิลจากการแข็งค่าได้
กระนั้นสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างคำกล่าวของ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในวันพุธ (6 เม.ย.) ว่าการแข็งค่าของรูเบิลที่ฟื้นตัวเกือบสมบูรณ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ใช่สัญญาณว่าเศรษฐกิจรัสเซียกำลังสามารถยืนหยัดรับมือกับมาตรการคว่ำบาตรของวอชิงตันและพันธมิตรได้
เยลเลน ให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่า ตลาดรูเบิลกำลังถูกบิดเบือนอย่างมากจากความเคลื่อนไหวต่างๆ ของรัฐบาลรัสเซียและธนาคารกลางรัสเซีย ในการจำกัดกระแสเงินทุน "คุณไม่ควรสรุปอะไรจากค่าเงินรูเบิล" เธอกล่าว
4 วันหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ส่งทหารบุกโจมตียูเครน ประเทศเพื่อนบ้านฝักใฝ่ตะว้นตก จนกระตุ้นให้ตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งฉุดให้ค่าเงินรูเบิลดิ่งลงอย่างหนัก ธนาคารกลางรัสเซียดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบายเป็น 20% เพื่อพยุงระบบการเงินของประเทศ
แต่ในวันศุกร์ (8 เม.ย.) ธนาคารกลางรัสเซีย เคลื่อนไหวที่สร้างความประหลาดใจอย่างมากด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 17% พร้อมระบุว่า ในเวลานี้ความเสี่ยงต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินจบลงแล้ว
เลียม พีช นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันแคปิตอล อีโคโนมิคส์ ให้ความเห็นว่า "มันชัดเจนว่าธนาคารกลางรัสเซียประเมินว่าเศรษฐกิจรัสเซีย ตอนนี้กำลังโผล่พ้นจากระยะเฉียบพลันที่สุดของวิกฤต และเงื่อนไขการเงินแบบเข้มงวดไม่มีเหตุผลอันควรอีกต่อไป"
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ มองว่าการที่รูเบิลแข็งค่าขึ้นสู่ระดับที่เคยอยู่ก่อนหน้าการรุกรานยูเครน เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจรัสเซียอาจกำลังปรับตัวเข้ากับมาตรการคว่ำบาตร
ซอฟยา โดเนตส์ หัวหน้านักเศรษศาสตร์จาก Renaissance Capital มองว่าการฟื้นตัวของรูเบิลได้แรงหนุนจากตัวเลขเกินดุลการค้าอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ท่ามกลางราคาพลังงานที่พุ่งสูง "มีการนำเข้าลดลง ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการคว่ำบาตร ส่วนหนึ่งเพราะความไม่แน่นอน และความวุ่นวายทางโลจิสติกส์"
"แต่การส่งออกแข็งแกร่ง ด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูง เราคาดหมายว่าตัวเลขเกินดุลน่าจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ราวๆ 20,000-25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคม" เธอกล่าว
น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สินค้าส่งออกหลักของรัสเซีย ยังคงไหลป้อนต่างแดน เติมเต็มเงินทุนรัฐบาลรัสเซีย
สหรัฐฯ ห้ามน้ำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ส่วนอียูแบนนำเข้าเหล็กจากรัสเซีย แต่มาตรการลงโทษเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วยังไม่กระทบการส่งออกสำคัญๆ ของรัสเซีย "มันส่งผลกระทบต่อการส่งออกของรัสเซียแค่ 5% ดังนั้นมันจึงส่งผลกระทบไม่มากนัก" โดเนตส์ กล่าว
การส่งออกที่กำยำของรัสเซียได้รับแรงเสริมจากมาตรการคุมเข้มเงินทุนที่บังคับใช้โดยธนาคารกลางรัสเซีย
ตะวันตกอายัดทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียในต่างแดนราว 300,000 ล้านดอลาร์ ความเคลื่อนไหวที่ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศให้คำจำกัดความว่าเป็นการ "ขโมย" และรัสเซียตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรนี้ด้วยการบังคับให้บริษัทส่งออกทั้งหลายแหล่ต้องเทขาย 80% ของรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ แล้วให้ซื้อรูเบิลแทน
นอกจากนี้ รัสเซียยังห้ามถอนเงินสกุลเงินต่างประเทศเกินกว่า 10,000 ดอลาร์ หรือห้ามนำเงินมากกว่าจำนวนดังกล่าวออกนอกประเทศ และนักลงทุนต่างชาติถูกห้ามขายทรัพย์สินต่างๆ ของพวกเขาในรัสเซีย
เมื่อวันศุกร์ (8 เม.ย.) ธนาคารกลางรัสเซียผ่อนปรบข้อจำกัดบางประการ โดยบอกว่านับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนเป็นต้นไป พวกเขาจะยกเลิกคำสั่งห้ามซื้อดอลลาร์และยูโร ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการฟื้นตัวของรูเบิล ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจของรัสเซียนั้นมีความแข็งแกร่ง "ตลาดหุ้นรัสเซียและรูเบิงยังคงแยกจากปัจจัยระดับมหภาคของโลก และกระแสทุนใหม่ ก็สืบเนื่องจากการควบคุมเงินทุน" อัลฟาแบงก์ระบุ พร้อมคาดหมายว่ารูเบิลจะซื้อขายที่อยู่ราวๆ 80-85 ดอลลาร์ในอนาคตอันใกล้
พวกนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าผลกระทบเลวร้ายทางเศรษฐกิจจากมาตรการคว่ำบาตรยังคงมาไม่ถึง และคาดหมายว่า รัสเซียซึ่งพึ่งพิงการนำเข้าอุปกรณ์การผลิตและสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นอย่างมาก จะดำดิ่งสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง
อัตราเงินเฟ้อของรัสเซียแตะระดับ 16.7% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุในวันศุกร์ (8 เม.ย.) เป็นระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ปี 2015 ท่ามกลางราคาอาหารที่พุ่งสูงอย่างมาก
สถาบัน Capital Economics ชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาผู้บริโภครัสเซียถึง 7.6% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 และทาง Renaissance Capital ประมาณการว่าอัตราเงินเฟ้อรายปีของรัสเซีย จะพุ่งแตะระดับ 24% ในช่วงฤดูร้อนนี้
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี/อาร์ทีนิวส์)