xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (46): ทำไมรัชกาลที่หกถึงส่งพระราชนิพนธ์ไปลงหนังสือพิมพ์ Siam Observer ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

คราวที่แล้วได้เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์นิทานเรื่องอินกับจันกลับจากอุตตุกุรุทวีปเป็นภาษาอังกฤษ เป็นส่วนหนึ่งของบทความตอนแรกเรื่อง  “Education and Unrest in the East” (การศึกษาและความไม่สงบในโลกตะวันออก)  ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ใน  Siam Observer 
มีผู้สงสัยถามมาว่า Siam Observer เป็นหนังสืออะไร ? และทำไมพระองค์ถึงทรงส่งพระราชนิพนธ์บทความไปลงใน Siam Observer ?

 Siam Observer เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับแรกของประเทศไทย (ก่อนหน้านี้ มีหนังสือพิมพ์ต่างชาติที่ตั้งขึ้นมาก่อน แต่ออกเป็นรายสัปดาห์) ผู้ก่อตั้งคือ นายวิลเลียม อัลเฟรด กูนเนอ-ติเลกี (William A. Goone-Tilleke) และนาย จี.ดับบลิว วอร์ด (G.W. Ward) หนังสือพิมพ์ Siam Observer เริ่มออกรายสัปดาห์ในปี พ.ศ. 2432 และรายวันในปี พ.ศ. 2436 

หนังสือพิมพ์ Siam Observer ได้เริ่มออกรายวันในปี พ.ศ. 2436 ในช่วงที่เกิดความไม่สงบและหลังจากเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสยกกองเรือมาปิดกรุงเทพฯ ในช่วงเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นที่สนใจโดยชาวต่างประเทศอย่างยิ่ง ตอนนั้น นายติเลกีและนายวอร์ดไม่มีโรงพิมพ์และยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะผลิตหนังสือพิมพ์รายวัน หลังจากที่เสาะหาอยู่สักพัก ทั้งสองก็ได้รับความช่วยเหลือจากหมอสมิธ มิชชันนารีชาวอเมริกัน โดยหมอสมิธได้ให้ใช้สำนักพิมพ์ของเขาที่บางคอแหลมในการทำ Siam Observer รายวันได้สำเร็จ ทำให้ Siam Observer ประสบความสำเร็จและสามารถตั้งตัวได้อย่างมั่นคง ทำให้หนังสือพิมพ์สองฉบับที่เคยออกเป็นรายสัปดาห์ต้องหันมาออกรายวันเพื่อรับมือกับหนังสือพิมพ์รายวัน Siam Observer



สำนักงานหนังสือพิมพ์ Siam Observer บริเวณหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญ พ.ศ. 2438
 หนังสือพิมพ์สองฉบับที่ว่านี้คือ Bangkok Times และ Siam Free Press 

Bangkok Times ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2430 โดย  นายที. ลอยด์ วิลเลียมมิส (T. Lloyd Williamese)  ส่วน Siam Free Press ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2434 ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 ได้ถูกซื้อไปโดยนักหนังสือพิมพ์ชาวฝรั่งเศส และเดือนมกราคม พ.ศ. 2453 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Bangkok Daily Mail หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลได้สั่งให้ปิดกิจการไปในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ด้วยเหตุผล  “มีความสัมพันธ์กับพวกเจ้า” 

ขณะที่ Siam Observer ก็ต้องเลิกกิจการไปเมื่อปี พ.ศ. 2476 เช่นกันด้วยสาเหตุด้านการเงิน ส่วนหนังสือพิมพ์ Bangkok Times ยังคงดำเนินกิจการไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง นับเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดที่สามารถดำเนินกิจการมายาวนานเกือบหนึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 จนถึง พ.ศ. 2482 ในขณะที่หนังสือพิมพ์ Bangkok Post มีอายุ 75 ปี (ก่อตั้ง พ.ศ. 2489)







พระยาอรรถการประสิทธิ์
 หลังจากที่เราได้รู้จักหนังสือพิมพ์ Siam Observer ไปแล้ว คราวนี้เรามาทำความรู้จักนายวิลเลียม อัลเฟรด กูนเนอ-ติเลกี นักกฎหมายผู้ก่อตั้ง Siam Observer ซึ่งอาจจะทำให้เราตอบคำถามที่มีผู้อ่านถามมาว่า ทำไมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกส่งบทความพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษไปลงใน Siam Observer ทั้งๆ ที่ตอนนั้นมีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอีกสองฉบับเป็นอย่างน้อย นั่นคือ Bangkok Times และ Siam Free Press ?

 นายวิลเลียม อัลเฟรด กูนเนอ-ติเลกี เกิดในครอบครัวของชาวสิงหล บิดาของเขาเป็นผู้พิพากษา และตัวเขาเองก็จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยกัลกัตตา และเมื่อได้รับการรับรองฐานะเนติบัณฑิตซีลอนแล้วจึงเริ่มรับว่าความที่กัณฎิ (Kandy) และได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองกัณฏิในปี พ.ศ. 2428 หลังจากนั้นก็ได้ปฏิบัติงานในหน้าที่ตุลาการของเทศบาลเมือง 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2433 เขาได้เดินทางเข้ามาในสยาม และในปี พ.ศ. 2437 เขาได้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักจากร่วมกับ  หลวงดำรงธรรมสาร นักกฎหมายชาวสยามว่าความให้ พระยอดเมืองขวาง สามารถพิสูจน์ได้ว่า เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะพระยอดเมืองขวาง หรือ ขำ ยอดเพชร เจ้าเมืองคำม่วน ได้ตกเป็นจำเลยในคดีสังหารนายทหารชาวฝรั่งเศสระหว่างเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436)

ในปี พ.ศ. 2445 ติเลกีได้ก่อตั้งสำนักงานกฎหมายตีเลกี & กิบบินส์ เป็นบริษัทกฎหมายแห่งแรกของสยามและประเทศไทย และยังคงดำเนินกิจการจนถึงทุกวันนี้ โดยเป็นหุ้นส่วนร่วมกับราล์ฟ กิบบินส์ นักกฎหมายชาวอังกฤษซึ่งรับราชการเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม (ภายหลังได้เป็นตุลาการศาลระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2459)

 ที่สำคัญคือ ในปี พ.ศ. 2439 ติเลกีได้เข้ารับราชการในกรมอัยการของสยาม จนได้รับความไว้วางพระทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายชาวต่างประเทศอีกด้วยและยังได้มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของประเทศสยาม 

ต่อมาในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ติเลกีได้สละสัญชาติบริเตนเพื่อถือสัญชาติสยามเมื่อ พ.ศ. 2453 และได้เป็นพลเมืองสยามอย่างเต็มตัวมานับตั้งแต่นั้น

หลังจากรับราชการในฐานะว่าที่เจ้ากรมอัยการมานาน ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ติเลกีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมอัยการของสยามเมื่อปี พ.ศ. 2455 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งบทความไปในลงในหนังสือพิมพ์ Siam Observer ภายใต้นามปากกา “อัศวพาหุ”  

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งองคมนตรี จำนวน 40 คน ตั้งเป็น สภากรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี ขึ้นใหม่ทุกปีในวันที่ 4 เมษายน เนื่องในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในขณะที่กฎหมายกำหนดให้องคมนตรี ดำรงตำแหน่งจนถึงสิ้นรัชกาล และมีกำหนดหลังจากนั้นอีก 6 เดือน เมื่อสิ้นรัชกาลจึงมีองคมนตรีมากถึง 233 คน

และหนึ่งองคมนตรีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งก็คือ ติเลกี 

ติเลกีรับราชการจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมในตำแหน่งดังกล่าวด้วยโรคอัมพาตเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2460 รวมอายุได้ 57 ปี

 และถ้ากล่าวถึงบรรดาศักดิ์ที่ติเลกีได้รับ ท่านผู้อ่านคงต้องร้อง “อ๋อ” !! 

 เพราะติเลกี ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ชั้นสุดท้ายในฐานะข้าราชการไทยเป็นที่มหาอำมาตย์โท พระยาอรรถการประสิทธิ์ (อย่างน้อยท่านผู้อ่านก็คงต้องเคยได้ยินชื่อ “ซอยอรรถการประสิทธ์” ถนนสาทร) 

อีกทั้งพระยาอรรถการประสิทธิ์ยังได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “คุณะดิลก”  (อักษรโรมันใช้ “Guna Tilaka”) เมื่อ พ.ศ. 2456 โดยแปลงนามสกุลจากภาษาสิงหลให้อยู่ในรูปอักษรไทย

ทั้งนี้ มีหมายเหตุกำกับไว้ในทะเบียนนามสกุลพระราชทานว่า  “เขาชื่อเช่นนี้มาแต่เดิมแล้วแต่ต้องการได้รับอนุมัติ จึ่งตกลงให้เขียนว่า “คุณะดิลก” เช่นนี้ เพื่อให้เป็นไทย เดิมเขียนว่า “คุณะติละกะ” (ตัวโรมัน “Guna Tilleke”)” 

ทายาทของพระยาอรรถการประสิทธิ์และเครือญาติสกุลคูน-ติเลกี ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย จึงได้ใช้นามสกุล “คุณะดิลก” สืบมาจนถึงปัจจุบัน

 มาถึงตอนนี้ เชื่อว่า เราคงตอบได้ว่า ทำไมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกส่งบทความพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษไปลงใน Siam Observer 

(ข้อมูลได้จาก http://seasiavisions.library.cornell.edu/catalog/seapage:363_295 และวิกิพีเดีย)




กำลังโหลดความคิดเห็น