xs
xsm
sm
md
lg

ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลังเกษียณควรเป็นที่ปรึกษาบริษัทที่เป็นคู่ค้าหรือคู่ความของรัฐหรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมได้เคยอ่านสัญญาจ้างงานของบริษัทเอกชนหลายๆแห่งเวลารับผู้บริหาร/พนักงานเข้าไปทำงานจะเขียนกำหนดไว้เลยว่า “หลังออกจากงาน/เกษียณบริษัทนี้แล้ว ห้ามไปทำงานหรือเป็นที่ปรึกษาใดๆกับบริษัทที่เป็นคู่ค้า คู่ความ คู่แข่ง หรือแม้กระทั่งเป็นลูกค้าของบริษัทแห่งนั้นอย่างน้อยเป็นเวลา 2 หรือ 3 ปี (แล้วแต่บริษัท)”

การที่บริษัทเอกชนเขียนสัญญาจ้างเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ผมเห็นว่ามีความชอบธรรม เพราะการที่เข้าไปทำงานในบริษัทใดก็ตาม ยอมรับรู้ความลับทางการค้า มีสายสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า คู่ค้า และอาจจะเกิดการใช้ข้อมูลจากบุคคลภายใน (Insider information) ไปก่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้าได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตนและอาจจะเกิดการล้างแค้นบริษัทที่ตนเคยทำงานมาก่อน หรือในระดับต่ำสุดก็ผิดศีลธรรมอันดีที่พึงมี

การกำหนดเช่นนี้ ผมคิดว่าไม่ได้ผิดกฎหมายแต่ประการใด ในเมื่อผู้ที่เข้าไปทำงานในบริษัทแห่งนั้น หากมีความสุจริต จริงใจ จากกันไปด้วยดี ก็ย่อมไม่ประสงค์ที่จะไปทำงานในธุรกิจที่เป็นคู่แข่ง คู่ค้า คู่ความของบริษัทเก่า ในแง่คุณธรรมน้ำมิตรก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลและไม่ไปแข่งหรือท้าทายล้มล้างบริษัทซึ่งเคยเป็นเจ้านายหรือจ้างตนทำงานมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้เรียนรู้และพัฒนาตน ได้โอกาสเติบโตจากบริษัทนี้มาก หากไปอยู่บริษัทที่เป็นคู่แข่งก็อาจจะกลายเป็นการอกตัญญูได้ เว้นเสียแต่ว่าบริษัทเก่าได้กลั่นแกล้งหรือปิดกั้น ไม่ให้เติบโตหรือมีการรังแกกันอย่างชัดเจน ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ในระยะหลังมานี้ ผมเห็นว่ามีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากซึ่งแท้จริงแล้วสามารถต่ออายุราชการเป็นที่ปรึกษาหรือหากเป็นข้าราชการตุลาการก็อาจจะเป็นผู้พิพากษาอาวุโส หากเป็นอัยการก็อาจจะเป็นอัยการอาวุโสหลังเกษียณต่อไปได้จนถึงอายุ 65 หรือ 70 ปี

แต่ก็มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งที่ผมพบว่าไม่ยอมต่ออายุราชการเป็นที่ปรึกษาในหน่วยราชการหรือเป็นผู้พิพากษาอาวุโสหรือเป็นอัยการอาวุโสทั้งที่จริง ๆ ก็ทำได้ แต่เลือกที่จะไปอยู่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลาย ๆ บริษัท ซึ่งน่าจะมีรายได้ดีกว่ามาก

ผมพบว่าบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายบริษัทมีอดีตประธานศาลฎีกาและอาจจะมีอัยการสูงสุดบางท่านเข้าไปเป็นที่ปรึกษาภายหลังเกษียณเป็นจำนวนมาก

นี่เองจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผมเกิดความสงสัยอย่างยิ่งว่าทำไมพ่อค้าถึงไปรู้จักกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมได้มากมายเช่นนี้ แล้วผมก็ถึงบางอ้อเมื่อพบว่าสังคมไทยแย่งกันจะเป็นจะตายเพื่อจะเข้าไปเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้เน้นเนื้อหาความรู้แต่เน้นการสร้าง Connection หรือสายสัมพันธ์ (โปรดอ่านได้จากบทความ หลักสูตรสร้าง Connection หรือสร้าง Cronyism? https://mgronline.com/daily/detail/9600000074650

สังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมในระบบคุณธรรม (Merit system) แต่เป็นสังคมในระบบอุปถัมภ์ (Patronage system) เน้นการเล่นพวกพ้องที่เรียกว่า cronyism ทำให้หลักสูตรเหล่านี้กลายเป็นหลักสูตรสำหรับสร้างความสัมพันธ์และน่าสงสัยว่าจะเป็นต้นเหตุของการวิ่งคดีหรือไม่ เช่นการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการหรือการวิ่งเต้นเพื่อเลือกองค์คณะในศาลยุติธรรม อันเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถสังเกตวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะได้

ข้อนี้ทำให้ผมเกิดความกังวลว่าในหน่วยงานของรัฐนั้นไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางด้านกระบวนการยุติธรรมหรือหน่วยงานทางด้านความมั่นคง หน่วยงานที่มีการจัดซื้อจัดจ้างย่อมกุมความลับของทางราชการไว้มากมาย

สมมุติว่าอธิบดีกรมหนึ่งภายหลังเกษียณไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทผู้รับเหมา หรือผู้ที่เข้ามาประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ สิ่งที่น่ากังวลก็คือว่าบริษัทที่มีอดีตอธิบดีหลังเกษียณไปเป็นที่ปรึกษานั้น จะได้รับข้อมูลลึกซึ้งหรือในทางลับจากหน่วยงานเดิมซึ่งตนเคยเป็นหัวหน้าหน่วยงานสูงสุดหรือไม่ และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น อาจจะได้รายละเอียดของ TOR มาก่อน หรืออาจจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในการกำหนดรายละเอียดเชิงเทคนิคหรือแม้กระทั่งรู้รายละเอียดในเชิงการเงิน หรืองบประมาณก่อนคนอื่น ๆ หรือได้ข้อมูลมากกว่าคนอื่น ๆ ที่จะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ ถึงจะไม่มีหลักฐานให้เอาผิดได้แต่ก็เป็นการทำผิดตามพระราชบัญญัติฮั้วประมูล 2542 อยู่ดี และอาจจะกลายเป็นติดคุกหลังเกษียณก็เป็นได้ถ้าหลักฐานปรากฏแจ่มชัดมาในภายหลัง

สำหรับในระบบของศาลยุติธรรมนั้นผู้พิพากษาย่อมเริ่มต้นสายอาชีพจากการเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาและจะมีผู้พิพากษาอาวุโสเป็นพี่เลี้ยงคอยสอนการดำรงตนและแนวในการวินิจฉัยหรือเขียนคำพิพากษา ผู้ช่วยผู้พิพากษาจะให้ความเคารพยกย่องผู้พิพากษาอาวุโสที่คอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ประมาณปีหรือ 2 ปีเป็นอย่างยิ่งและเรียกพี่เลี้ยงว่าอาจารย์ ยิ่งหากเป็นผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่หรือเป็นระดับอธิบดีหรือประธานศาลฎีกาแล้วย่อมต้องมีทั้งลูกศิษย์และลูกน้องอยู่มากมายในศาล

สมมุติว่าอดีตประธานศาลฎีกาไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ สังคมก็คงจะเกิดความสงสัยว่าได้ว่าอดีตประธานศาลฎีกาจะมีส่วนหรือไม่ในการวิ่งเต้นคดีในกรณีที่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ซึ่งตนเป็นที่ปรึกษาอยู่นั้นมีคดีในชั้นศาล

ความไม่ยุติธรรมอาจจะเกิดขึ้นจากการเลือกองค์คณะที่มีความโน้มเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง แน่นอนว่าการที่ทำงานด้วยกันมากว่า 30-40 ปีย่อมทราบความคิดจิตใจทัศนคติของทั้งลูกน้องและลูกศิษย์เป็นอย่างดี อดีตประธานศาลฎีกาที่ไปทำงานเป็นที่ปรึกษาในบริษัทเอกชนแล้วนั้นอาจจะไม่ได้ใช้ความรู้ความชำนาญในทางกฎหมายเพื่อให้คำปรึกษาแก่บริษัทเอกชนเท่านั้นแต่อาจจะใช้บารมีเก่าที่ตนมีหรือสายสัมพันธ์เก่าที่ตนมีในการวิ่งเต้นคดีก็เป็นได้และเป็นสิ่งที่สังคมก็อาจจะเกิดความสงสัยได้ว่าทำไมบริษัทเอกชนขนาดใหญ่มักไม่ค่อยแพ้ก็ดีหรือเขี้ยวลากดินในการดำเนินคดีได้เสมอ นี่คือสิ่งที่สังคมอาจจะสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้เพื่อประโยชน์สาธารณะเช่นเดียวกัน

แม้ว่าคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด แต่ในกระบวนการยุติธรรมอาจจะมีการผลกระทบอย่างรุนแรงก็ได้ เช่นการขังผู้ต้องหาบางคนอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี เพราะต้องโทษคุมขัง แม้จะเป็นเพียงการฝากขัง ที่จริงๆ แล้วก็อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ และทำให้บริษัทของนายทุนขนาดใหญ่ที่อดีตประธานศาลฎีกาเป็นที่ปรึกษาอยู่ส่งคนของตนเข้าไปเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงที่ตนจะได้รับผลกระทบหรือมีผลประโยชน์ในอนาคตอย่างชัดเจน หรือเป็นคู่ความในอนาคต เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องพึงระวังและอาจจะเกิดขึ้นได้ สังคมก็อาจจะสงสัยได้ว่าเอ มีอะไรไม่ปกติในกระบวนการศาลยุติธรรมหรือไม่ อย่างไร

สมมุติว่าอดีตอัยการสูงสุดคนหนึ่งเข้าไปเป็นที่ปรึกษาของบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่งภายหลังเกษียณ แต่ก่อนที่อัยการสูงสุดคนนี้จะเกษียณนั้น ได้เสนอแต่งตั้งลูกน้องเก่าหรือเลขาฯส่วนตัวที่แสนจะสนิทสนมเข้าไปเป็นอนุญาโตตุลาการในคดีที่บริษัทที่ตนได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาภายหลังเกษียณ คดีนี้เป็นคดีระหว่างรัฐกับเอกชนขนาดใหญ่ โดยทั่วไปภาครัฐนิยมให้อัยการทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ คำถามคือ หากอดีตอัยการสูงสุดแต่งตั้งคนของตนเองไปเป็นอนุญาโตตุลาการก่อนพ้นจากตำแหน่ง จะทำให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการมีความยุติธรรมเที่ยงธรรมได้อย่างไรและจะรักษาผลประโยชน์ของภาครัฐหรือไม่

ที่น่าห่วงยิ่งกว่าคือหากบริษัทเอกชนแห่งนี้ก็มีคดีกับกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ หรือภาครัฐเป็นจำนวนมากมาย หากอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จะกลายเป็นมหากาพย์แบบคดีลูกชายเครื่องดื่มชูกำลังที่อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ หรือคดีที่กู้เงินแบงค์กรุงไทยที่มีความเห็นไม่สั่งฟ้องอุทธรณ์ลูกชายของอดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แล้วเราจะไว้ใจได้อย่างไรว่าอดีตอัยการสูงสุดที่เป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนจะไม่ใช้สายสัมพันธ์หรือประเพณีเก่าที่มีอยู่ในสำนักงานอัยการสูงสุดในการสั่งลูกน้องหรือลูกศิษย์ให้วินิจฉัยสั่งฟ้องไปในทางใดทางหนึ่งตามที่ตนปรารถนาเพื่อประโยชน์ให้กับบริษัทที่ตนเข้าไปเป็นที่ปรึกษาหลังเกษียณ

ได้ยินมาว่าการเป็นอัยการหรือผู้พิพากษาอาวุโสได้เงินเดือนค่าตอบแทนไม่มากนักและต้องกลับมาทำงานหนัก อ่านสำนวนคดีเป็นแฟ้มๆ แต่ถ้ามาเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ยักษ์ได้ค่าตอบแทนเดือนละเจ็ดหลัก ผมก็พอเข้าใจได้ว่ารายได้สำคัญมากกว่าศักดิ์ศรีและคุณธรรมใช่หรือไม่ หรือว่าไม่ใช่?

อดีตนั้นเป็นตัวทำนายอนาคตที่ดีที่สุด พฤติกรรมของอดีตอัยการสูงสุดท่านหนึ่งเมื่อตอนรับราชการอยู่เป็นอย่างไรภายหลังเมื่อไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนขนาดใหญ่แล้วจะเป็นอย่างไรก็เป็นสิ่งที่เราพอจะทำนายได้โดยไม่ยาก ดังที่นักจิตวิทยาพูดเอาไว้ว่า The best predictor of the future behavior is the past behavior.

สิ่งที่น่าฉุกคิดคือ รัฐบาลจีนห้ามเจ้าหน้าที่รัฐทำงานให้บริษัทเอกชนหลังเกษียณอายุราชการ 5 ปี จะไปเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการหรือผู้บริหาร ฯลฯ ตำแหน่งอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น

ผมมีความเห็นว่าเรื่องนี้ถ้าจะให้เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้นั้น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ กพ. ควรจะเอาอย่างบริษัทเอกชนโดยการเขียนสัญญาเข้ารับราชการให้รัดกุมเช่นเดียวกับที่เอกชนได้เขียนไว้ คือหลังลาออกจากราชการหรือเกษียณจากอายุราชการห้ามไปทำงานในบริษัทหรือหน่วยงานใดก็ตามที่เป็นคู่ค้า/คู่ความของทางราชการอย่างน้อยเป็นเวลา 2-3 ปี เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเพราะว่าข้าราชการนั้นมีอำนาจหน้าที่ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างใหญ่หลวงและอาจจะเกิดการทุจริตได้โดยง่ายหากไม่มีการป้องกัน

ไม่เพียงแค่สำนักงานกพ. จะได้ดำเนินการดังกล่าวเป็นต้นทางและเป็นต้นแบบแล้ว คณะกรรมการข้าราชการตุลาการ หรือ ก.ต. และคณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ. ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาดำเนินการในทางเดียวกันเพื่อป้องกันปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติได้ดังที่เคยเกิดมาแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น