อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ สังคมไทย โดยเฉพาะพ่อค้า นายทุน และข้าราชการไม่ว่าจะทหารหรือพลเรือน ต่างนิยมแย่งชิงกันเข้าไปเรียนในหลักสูตรหลังปริญญา ที่เป็นการอบรมพิเศษเป็นรุ่นๆ ซึ่งจัดโดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนมีเป็นจำนวนมากจริงๆ หลายหลักสูตรได้รับความนิยมมากเรียกว่าเป็น Grand Slam อันประกอบด้วย วตท ยธส ปปร และ วปอ (หลักสูตรวิทยาการตลาดทุน หลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับสูง หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และ หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร จัดโดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า และ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ) และยังมีหลักสูตรๆ อีกหลายๆ หลักสูตรที่มีประโยชน์มาก และโดยเนื้อแท้เป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรของประเทศเป็นอันมาก จัดโดยหลายหน่วยงาน เช่น คปภ กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
แม้กระทั่งบางหลักสูตรจัดโดยภาคเอกชนก็มีเช่นกัน หลายหลักสูตรเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าเรียนแต่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน และหลายหลักสูตรผู้เรียนต้องเสียเงินเรียนเอง การไปเรียนหนังสือด้วยกันนั้นนอกจากจะได้ความรู้แล้วยังได้สร้างเครือข่ายด้วยเช่นกัน แต่น่าจะถือว่าการได้ connection นั้นเป็นผลพลอยได้มากกว่าหลังจากที่ได้เรียนและทำกิจกรรมร่วมกันมาเกือบครึ่งปีหรือบางหลักสูตรก็สามเดือน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามคนที่สมัครเข้ามาเรียนในหลักสูตรเหล่านี้ หลายคนไม่ได้สนใจในเรื่องความรู้ที่ได้จากการเรียนแต่อย่างใด แต่สนใจการเป็นรุ่นเดียวกัน การเป็นเครือข่าย
อันที่จริงการมีเครือข่ายก็เป็นสิ่งที่ดีมาก ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เปิดโลกทัศน์ ทำให้การทำงานสะดวกมากขึ้น ร่วมมือร่วมใจกันในการพัฒนาประเทศจากเครือข่าย อย่างไรก็ตามผลของการเป็นรุ่นเดียวกันนั้นมีผลมาก การทดลองทางจิตวิทยาสังคมที่เหนี่ยวนำให้เกิดสถานการณ์ที่เป็นกลุ่มน้อยที่สุด (Minimal group situation) เช่น จับสลากแล้วได้ไปอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เพียงเท่านี้ก็เกิดให้เกิด in-group และ out-group คือความเป็นพวกเราและพวกเขา ทำให้เกิดอคติเข้าข้างพวกเราและคิดว่าพวกเราย่อมดีกว่าพวกเขา การเข้าข้างเพราะเป็นพวกเขาพวกเรานี้โดยธรรมชาติก็อาจจะทำให้เกิดการเข้าข้างคนผิด พยายามช่วยเหลือพรรคพวกเดียวกันแม้ว่าจะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็เป็นไปได้
ในระยะหลังมานี้ ในประเทศไทยกลายเป็นว่าหลักสูตรพัฒนาคนกลายเป็นหลักสูตรสร้าง connection นั้นมีมากยิ่งขึ้น มีหลายหลักสูตรที่แย่งกันเรียน ใช้เส้นแข่งขันกันเข้าไปเรียนก็เยอะมาก และหลายหลักสูตรก็เน้นกิจกรรมร่วมกัน เช่น จัดปาร์ตี้ แต่งตัวแฟนซี ตีกอล์ฟ ทำกิจกรรมการกุศลต่างๆ ต้องใช้เงินมากเป็นหลายแสนเพื่อทำกิจกรรมเหล่านี้ร่วมกัน และเป็นกิจกรรมที่ในรุ่นเดียวกันจัดกันเองนอกเหนือไปจากหลักสูตรในห้องเรียน หลายครั้งสังคมก็แปลกใจที่กลุ่มคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันอย่างสุดขั้วพอเข้ามาเรียนในหลักสูตรเดียวกันเหล่านี้แล้วก็จูบปากสนิทสนมกลมเกลียวเป็นพวกเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้โต้เถียงกันในที่สาธารณะแทบเป็นแทบตาย เป็นต้น
หลายคนที่สมัครเข้าไปเรียนหลักสูตรเหล่านี้ ไม่ได้ไปหาความรู้กันเท่าไหร่ ไปหา connection กัน และใช้ connection ทำให้เกิด cronyism หรือการเป็นกลุ่มพวกกันโดยขาดการคำนึงถึงความถูกต้อง และหลายครั้งก่อเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ไปจนถึงการทุจริตประพฤติมิชอบได้ (corruption) กัน เพราะเป็นพรรคพวกกันทั้งสิ้น ขอเรียกโดยรวมว่าเป็น connection ในทางที่ไม่ดี
นอกจากนี้ภาษิตโบราณยังกล่าวเอาไว้ว่า Familiarity breeds contempt อันแปลได้ว่า ความคุ้นเคยบ่มเพาะความรู้สึกเหยียดหยาม หรือพูดง่ายๆ ว่า Connection เหล่านี้อาจจะทำให้เกิด Contempt ได้ ยิ่งมี Conflict of interest หรือ Corruption ยิ่งสุ่มเสี่ยงกับการเกิดความเหยียดหยามได้ ดังแสดงในรูปด้านล่างนี้ ซึ่งขอเรียกโดยรวมๆ ว่าทำให้เกิด Connection ในทางที่ไม่ดี
มีอยู่หลักสูตรหนึ่งที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงที่เมื่อมี connection แล้วอาจจะนำไปสู่ connection ในทางที่ไม่ดี คือ หลักสูตรบริหารงานยุติธรรมระดับสูงหรือ บยส ซึ่งพ่อค้า นายทุน ต่างแย่งกันเข้าไปเรียนหลักสูตรนี้ ร่วมกับข้าราชการตุลาการ การที่ข้าราชการตุลาการด้วยกันได้ร่วมเรียนหนังสือร่วมกันเป็นเรื่องที่ดีมาก ทำให้เกิดการประสานงานเพื่ออำนวยกระบวนการยุติธรรม แต่การให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมเรียนด้วยนั้นค่อนข้างสุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิด Connection ในทางที่ไม่ได้ดีได้ง่าย
บรรพตุลาการท่านพยายามวางตัวไม่สนิทสนมหรือมี connection กับพ่อค้า วางตัวดี ไม่ไปกินเลี้ยงกับพ่อค้า พยายามไม่คบหาสมาคมกับคนมากเกินไป ดังนั้นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้พ่อค้ามาเป็นพรรคพวกสร้าง connection กับตุลาการ อาจจะทำให้เกิดความเอนเอียงและอคติได้ง่าย
จึงขอทักท้วงและตั้งข้อสังเกตนี้ไว้ หากจะมีการแก้ไขในอนาคตก็จะเป็นสิ่งที่ดีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งแม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ขอฝากให้คิดเพื่อพิจารณาทบทวน