xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.สกธ.ประชุมร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทำผิดซ้ำในคดีอุกฉกรรจ์ ร่วมทุกภาคส่วน นำความเห็นวิเคราะห์ เฝ้าระวังสังคมปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (15 ก.ย.) พ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความมุ่งหวังผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำผิดซ้ำในคดีอุกฉกรรจ์ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามพฤติกรรมของผู้ต้องหาภายหลังพ้นโทษกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่น โดยสำนักกิจการยุติธรรมจึงได้จัดสัมมนาทางวิชาการผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ซึ่งมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันจัดอภิปรายในหัวข้อ “แนวทางการปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันอันตรายจากผู้กระทำความผิดหรือผู้พ้นโทษที่มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคม” และข้อเสนอแนะต่อ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….”  ได้แก่ ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.สุรสิทธิ์ แสงวิโรจน์พัฒน์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์, ศาสตราจารย์ ดร.คณพล จันทน์หอม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงผู้เข้าร่วมอีกกว่า 105 คน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา อาทิ กรมคุมประพฤติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงานกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษา และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากส่วนราชการ  ภาคประชาชน และภาคเอกชน เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว

พ.ต.ท.พงษ์ธร เปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ทำโพลร่วมกับนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่อง “มาตรการใหม่ในการป้องกันการกระทำผิดอุกฉกรรจ์ซ้ำซาก” พบว่า ร้อยละ 95 เห็นว่า ผู้ต้องขังคดีร้ายแรงอุกฉกรรจ์ ไม่ควรได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำก่อนครบกำหนด ควรติดตาม สอดส่องให้นานและเข้มข้นขึ้น ในส่วนของมาตรการใหม่ในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำนั้น ร้อยละ 50.95 ระบุว่า ให้มีมาตรการทางการแพทย์ เพื่อป้องกัน การกระทำผิดซ้ำ ร้อยละ 46.45 ระบุว่า ให้มีมาตรการคุมประพฤติภายหลังพ้นโทษไม่เกิน 15 ปี, ร้อยละ 42.91 ระบุว่า ให้มีคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษ และคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน ในกรณีมีความเสี่ยงที่จะทำผิดซ้ำ และ ร้อยละ 33.07 ระบุว่าให้มี การแจ้งเตือนชุมชนเมื่อผู้กระทำผิดเข้ามาพักอาศัยร่วม ซึ่งมาตรการที่จะนำมาใช้นั้น ต้องคำนึงจากความร้ายแรงของคดี ระบุว่า ประวัติการกระทำความผิด สาเหตุแห่งการกระทำความผิด ลักษณะส่วนตัวของผู้กระทำความผิด ความคิดเห็นของผู้เสียหาย และโอกาสในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด ซึ่งรายละเอียดผลการสำรวจ สามารถติดตามได้ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานกิจการยุติธรรม

“ผลจากการรับฟังความคิดเห็นในการสัมมนาครั้งนี้ จะถูกนำไปใช้วิเคราะห์ร่วมกับผลโพลอย่างรอบด้าน ก่อนเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำคดีอุกฉกรรจ์ เราหวังอย่างยิ่งว่าบทบัญญัติในการป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม จะสร้างความปลอดภัยให้สังคม และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม” พ.ต.ท.พงษ์ธร ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น