xs
xsm
sm
md
lg

ตีโจทย์ ‘ที่ดินจุฬาฯ หมอน 34’ เพื่อสุขภาพหรือพาณิชย์?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หลักเกณฑ์ให้เอกชนเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่ทำศูนย์การแพทย์ เน้นให้ผลตอบแทนสูง ระยะเวลาสั้น ทิ้งข้อกังขาสุขภาพหรือพาณิชย์สำคัญกว่า

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนที่มีศักยภาพเข้าเป็นผู้ลงทุนในพื้นที่บริเวณหมอน 34 เขตพาณิชย์สวนหลวง-สามย่าน เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ ให้เป็นศูนย์การแพทย์และพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Wellness/Health Complex) ที่ประกอบด้วย ศูนย์การแพทย์ครบวงจรที่สามารถให้การดูแลผู้ป่วยในระดับตติยภูมิ โดยมีการใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ขั้นสูง รวมถึงมีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center) และศูนย์การดูแลสุขภาพ ตามแนวทาง Smart Hospital และพื้นที่เชิงพาณิชย์อื่นๆ ที่สอดคล้องและส่งเสริมกับแนวคิด Wellness/Health Complex เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างคุ้มค่าสูงสุด

โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ในส่วนของข้อกำหนดและหลักเกณฑ์การให้เอกชนเข้าร่วมประมูลโครงการฯ จนถึงวันที่ 20 ก.ย.2564 (https://pmcu.co.th/?p=22604)

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดของข้อเสนอ พบว่า มีประเด็นหลักๆ ที่ควรมีการปรับเปลี่ยนให้มีคุณค่าในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้มีเอกชนสนใจเข้ามาร่วมประมูลมากขึ้นด้วย เช่น ระยะเวลาของการให้สิทธิสัมปทานที่กำหนดไว้อย่างน้อย 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี หากดูผิวเผินจุดนี้ไม่ต่างจากโครงการสัมปทานอื่นๆ ของรัฐ แต่หากพิจารณาถึงปัจจัยที่แตกต่างกันในหลายมิติ จะพบว่าระยะเวลาเพียงเท่านี้อาจจะสั้นเกินไป สำหรับการลงทุนที่มีมูลค่าสูง ที่ต้องให้ผลตอบแทนในรูปตัวเงินแก่ PMCU อย่างมหาศาล

“มีเรื่องของเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่เป็นอันรู้กันว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นการลงทุนที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยอยู่เสมอ ต้นทุนการดำเนินการตรงนี้จึงค่อนข้างสูงและวิ่งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อการได้ทุนคืนและการทำกำไรของเอกชนที่เข้ามาพัฒนา ทำให้ต้องตั้งค่าบริการไว้สูงมาก เน้นให้เห็นเป้าหมายลูกค้าชาวต่างชาติเป็นหลัก แต่กลับเป็นการปิดโอกาสในการเข้าถึงบริการของลูกค้าในประเทศบางส่วนที่ควรจะได้ไปด้วย ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าสูงสุด” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังบอกว่า ระยะเวลาการทำโครงการควรเผื่อเอาไว้สำหรับเหตุไม่คาดฝันที่ทำให้ธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยังมีรายจ่ายที่ต้องแบกรับแบบหยุดไม่ได้ ซึ่งมีเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันให้เห็นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 หรือวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงักหรือพังราบกันไปหมด

ประเด็นต่อมาอยู่ในส่วนของหลักเกณฑ์การพิจารณา ที่เน้นหนักอย่างชัดเจนในเรื่องของผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องให้ PMCU มากกว่าประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสุขภาพของผู้ใช้บริการ โดยเทน้ำหนักของคะแนนไปที่การให้ผลประโยชน์ตอบแทนถึง 65 คะแนน ขณะที่คะแนนในส่วนของแนวทางการพัฒนาและดําเนินการศูนย์การแพทย์อยู่ที่ 20 คะแนนเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าเนื้อแท้แล้วไม่ได้สนใจในคุณค่าหรือสาระที่จะเกิดกับผู้ใช้บริการหรือการยกระดับศักยภาพทางการแพทย์ของไทย แต่ต้องการประโยชน์ทางการเงินมากกว่า

“หาก PMCU ต้องการขีดเส้นใต้ที่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงๆ กลับมา ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดรูปแบบของโครงการให้เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์ แต่ควรเปิดกว้างให้เอกชนไปคิดรูปแบบมานำเสนอว่าจะลงทุนพัฒนาพื้นที่แบบใดที่จะให้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินกลับมาได้มากกว่า จะได้ไม่เป็นเสมือนการเอาสุขภาพร่างกายและชีวิตของคนมาหากิน” แหล่งข่าวแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในส่วนของคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและข้อมูลด้านเทคนิคอื่นๆ แต่ละข้อ เน้นหนักๆ ไปในเรื่องของผลประโยชน์เป็นสำคัญ เปิดทางให้ผู้ลงทุนระดับท็อปที่ต้องมีธุรกิจมูลค่าพันล้านขึ้นไป และมีประสบการณ์ด้านบริการทางการแพทย์โดยตรงถึงจะเข้าร่วมวงประมูลได้ แต่ก็ต้องไปลุ้นกันเองว่าใครจะโดนล็อกสเปกไว้ หรือใครสนใจจะเข้าร่วมโครงการนี้บ้าง

แต่ไม่ว่าใครจะได้ไปขอฝากไว้ว่า ผลตอบแทนทางการเงินเข้ากระเป๋าสูงสุด แม้ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกในการทำธุรกิจ เพราะเมื่อทำธุรกิจต้องมีกำไรกลับคืนมาเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าลืมว่า สุขภาพและชีวิตของคนสำคัญกว่า จึงไม่ควรเอามาตีค่าในเชิงพาณิชย์ ไม่เช่นนั้นคงไม่เรียกว่าเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น