xs
xsm
sm
md
lg

“UAC” เผยข่าวดี โรงไฟฟ้าชุมชนขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด 12 MW ผ่านฉลุย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) ปลื้มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 4 โครงการ (ขอนแก่น 2 แห่ง มหาสารคาม ร้อยเอ็ด) กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 12 เมกะวัตต์ ผ่านคุณสมบัติทางเทคนิคฉลุย ด้าน CEO “ชัชพล ประสพโชค” ลุ้นรอประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการ วันที่ 23 กันยายนนี้ ประกาศมั่นใจศักยภาพ ชูความพร้อมนวัตกรรม การจัดหาแหล่งเชื้อเพลิง และฐานะทางการเงินครบสูตร จ่อเปิดกว้างรับพันธมิตรต่อยอดให้บริการ Consul Service หนุนธุรกิจเติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ล่าสุด ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาอนุมัติคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ.2564 รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ ทั้งนี้การพิจารณาการอนุมัติดังกล่าวส่งผลให้บริษัทย่อยของ UAC ทั้ง 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ครอป พาวเวอร์ 3 จำกัด ที่ตั้งตำบลเมืองเปลือย อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด และบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ครอป พาวเวอร์ 5 จำกัด ที่ตั้งตำบลซับสมบูรณ์ อำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น ได้รับพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติมอีก 2 โครงการ เป็นโครงการผลิตโรงไฟฟ้าประเภทชีวภาพ รวมเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์

โดยก่อนหน้านี้ โครงการของบริษัทฯ ผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิครอบแรกแล้ว จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย บริษัท ยูเอซี แอนด์ ทีพีที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ตั้ง ตำบลนาฝาย อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ครอป พาวเวอร์ 4 จำกัด ที่ตั้งตำบลหนองโก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ส่งผลให้บริษัทผ่านพิจารณาอนุมัติรวมทั้งหมด 4 โครงการ เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 12 เมกะวัตต์

“UAC ยื่นประมูลไปทั้งสิ้น 6 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 18 เมกะวัตต์ เฉลี่ยโครงการละ 3 เมกะวัตต์ และผ่านคุณสมบัติ 4 โครงการ ส่วนอีก 2 โครงการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบสาเหตุ ตามที่ได้ยื่นอุทธรณ์ไปก่อนนี้”

ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนต่อไปบริษัทฯ รอประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 23 กันยายน 2564 และกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก หรือภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล กล่าวตอกย้ำว่าบริษัทฯ มีความพร้อมด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานจากก๊าซชีวภาพมากว่า 10 ปี และยังมีโรงไฟฟ้าต้นแบบอยู่ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่อง พร้อมทั้งยังได้ร่วมมือกับทางวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ในการจัดหาเชื้อเพลิงจะต้องมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดไว้ ซึ่งจากศักยภาพดังกล่าวเป็นการการันตีได้กว่า UAC เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจในระดับฐานรากเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ จากความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการ Consul Service การออกแบบและสร้างโรงงาน Biogas โดยใช้พืชพลังงานเป็นเชื้อเพลิง ทำให้บริษัทฯ มีแผนต่อยอดทางธุรกิจ โดยแตกไลน์ธุรกิจในการเป็นที่ปรึกษา Consult Service ให้ผู้ประกอบการ อย่าง บมจ.ซันสวีท (SUN ) ในการดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบไบโอแก๊ส จากวัตถุดิบเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตของโรงงาน (ซังข้าวโพด) ซึ่งสามารถตอบโจทย์แนวทาง Green Energy สร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชน ในระยะยาว ดังนั้นเพื่อเป็นการขยายไลน์ธุรกิจในการเป็นที่ปรึกษา บริษัทฯ จึงสบช่องทางธุรกิจ โดยเปิดกว้างรับพันธมิตรที่สนใจก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อมาต่อยอดให้บริการ Consult Service พร้อมให้คำปรึกษากับพันธมิตรทุกราย

“UAC มีศักยภาพและความพร้อม ทั้งเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน รวมถึงด้านเชื้อเพลิง ที่สำคัญยังมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และยังมีเครือข่ายความร่วมมือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดังนั้น จึงเชื่อว่าจากปัจจัยดังกล่าวจะช่วยต่อยอดและผลักดันภาพรวมธุรกิจของ UAC เติบโตอย่างยั่งยืน อย่างมีนัยสำคัญ” นายชัชพล กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น