ตั้งแต่มีการผลักดันส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้ากำจัดขยะชุมชน โดยบรรจุเป็นวาระแห่งชาติขึ้น การทำงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ เรื่อง ล่าสุด ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน คือ ไม่ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า และประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ขัดกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ที่ให้ กกพ.ไปออกระเบียบรับซื้อให้กับโครงการที่มีความพร้อม ในอัตรา 3.66 บาทต่อหน่วย (ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาโดยสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) จวบจนถึง แผนพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่แม้ กพช.จะได้เสนอให้ ครม.เห็นชอบปริมาณกำหนดปริมาณรับซื้อโครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทั้งระบบจำนวน 400 เมกะวัตต์แล้ว พร้อมมีบัญชีรายโครงการจำนวนรับซื้อแต่ละโครงการไว้ชัดเจนอันเป็นการแสดงความพร้อมครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็ตาม
ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร เดินหน้าทำงานตามแผน Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ภายใต้วาระแห่งชาติในการบริหารจัดการขยะของประเทศ โดยกำหนดขั้นตอนเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนกับรัฐ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางการจัดการสิ่งปฏิกูล และมูลฝอย และคณะทำงานพิจารณาโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (เฉพาะกิจ) ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ รวมถึง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสำนักงานคณะกรรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยมี SPP และ VSPP 23 โครงการ กำลังผลิต 234.7 เมกะวัตวัตต์ผ่านการคัดเลือก
แต่เมื่อมาถึงขั้นตอนของ กกพ.กลับไม่ดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ ไม่ออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนมารองรับ ปล่อยเวลาทิ้งไปกว่า 3-4 ปี ซึ่งนอกจาก กกพ.จะไม่เดินหน้าแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงนโยบายไปมา มีการเลือกปฏิบัติเร่งด่วนให้กับบางโครงการเท่านั้น และตอนนี้ทำเรื่องให้ กพช. ทบทวนโครงการรับซื้อไฟฟ้าขยะจากชุมชนใหม่ทั้งหมด รวมถึงมีทีท่าเปลี่ยนอัตรารับซื้อไฟฟ้าด้วย ทำให้ SPP VSPP ทั้ง 23 โครงการ อาจะถูกโละทิ้งทั้งหมด มานับ 1 กันใหม่
เบื้องหลังการยืดเวลาออกไป ใครกำกับ และผลดีเกิดกับใครไม่มีใครรู้? แต่ผลกระทบใหญ่กำลังเกิดขึ้น เพราะการที่ กกพ.ไม่ออกระเบียบ และประกาศรับซื้อไฟฟ้า ทำให้เอกชนไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน รวมถึงใบอนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร เพื่อเริ่มทำงานก่อสร้างได้
ตอนนี้เอกชนที่ผ่านการคัดเลือกจากกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะโครงการโรงกำจัดขยะชุมชน กทม.ที่มีรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในโครงการศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ซึ่งเป็นโครงการกำจัดได้ขยะได้ถึงวันละ 1,000 ตัน ปั่นไฟฟ้าป้อนระบบได้ 30 เมกะวัตต์ต่อโรง กำลังตั้งคำถามหนักถึงสาเหตุที่ถูกดองนับปี และอาจถูกโละโครงการเช่นเดียวกับอีก 20 กว่าโครงการ โดยเห็นถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จากความไม่แน่นอนในนโยบายภาครัฐต่อการทำธุรกิจในประเทศไทย และเตรียมดำเนินการต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น
ท่ามกลางความไม่เชื่อมั่นในนโยบายที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของ กกพ.มีเหตุการณ์ที่ทำให้นักลงทุนคลางแคลงใจเพิ่มอีกประเด็น ในการเลือกปฏิบัติ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนบางโครงการ เดินหน้าได้อย่างน่าสงสัย โดยเฉพาะโครงการที่เอกชนรายหนึ่งร่วมลงทุนกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ โครงการนี้กกพ.ยกเว้นขั้นตอนต่างๆ และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับคำเสนอขายไฟฟ้าจากโครงการโดยตรง ทั้งที่โครงการดังกล่าวไม่มีความพร้อมด้านการลงทุนตรงข้ามกับที่ กกพ.ออกมาชี้แจง ยังอยู่ในขั้นตอนการปรับแก้เทคโนโลยีในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
…งานนี้ไม่เฉพาะนักลงทุน แต่มีหลายฝ่ายด้วยกัน ฝากคำถามกับ กกพ.ว่า มีความจริงใจต่อนโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทน และการบริหารจัดการขยะ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่? ใครคือผู้กำกับกิจการพลังงานตัวจริง? การไฟเขียวให้กับบางโครงการ ขณะที่ SPP และ VSPP ทั้ง 23 โครงการถูกโละทิ้งหมด..มีคอนเนกชันอะไรมาเกี่ยวข้องหรือไม่ ??