xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจทนายคดียัดยาบ้ารถสิบล้อ : ตำรวจมีอำนาจ “ชี้เป็นชี้ตาย” ในกระบวนการยุติธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชำนัญ ศิริรักษ์
รายงานพิเศษ


“จะมองเรื่องนี้ โดยตัดเรื่องการประพฤติมิชอบออกไปก่อนก็ได้นะครับ การทำร้ายร่างกายให้ผู้ต้องหา สามารถมองเฉพาะเรื่องกระบวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานโดยมิชอบก่อนก็ได้ เพราะกลายเป็นว่า ระบบการทำงานของศาลซึ่งวินิจฉัยให้จำเลยถูกหรือผิด ก็มักจะยอมรับพยานหลักฐานที่มาจากชั้นการสอบสวน ด้วยการใช้ความเชื่อว่า เจ้าพนักงงานได้หลักฐานมาด้วยความสุจริต ไม่มีอคติกับจำเลย นั่นทำให้การทำงานในขั้นการสอบสวนก่อนจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีราคาสูงขึ้น เจ้าพนักงานกลายเป็นผู้ที่มีอำนาจต่อรองกับผู้ต้องหา เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ได้”

นายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความของคนขับรถบรรทุกที่ถูกตำรวจยัดยาบ้าระหว่างเข้าตรวจค้น แสดงความเห็นที่สะท้อนถึง “อำนาจ” ของตำรวจในกระบวนการสืบสวนสอบสวน ซึ่งเขามองว่า การที่ตำรวจเป็นหน่วยงานต้นทางเพียงหน่วยงานเดียวที่มีอำนาจในการทำสำนวนคดี กลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้เกิดกระบวนการต่อรองคดีก่อนจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“ตรวจแอลกอฮอล์ – สารเสพติด” เรียกรับเงินแทนการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือ พฤติการณ์เดียวกันกับ “ผกก.โจ้”

ทนายชำนัญ ฉายภาพอีกมุมหนึ่งด้วยว่า แต่หากมองไปที่พฤติการทุจริต ประพฤติมิชอบด้วย ก็จะพบรูปแบบการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้กระทำความผิด ซึ่งอาจหมายถึงการจับกุมแล้วปล่อยตัว การจับกุมเพื่อต่อรอง หรือการไม่จับกุมแต่แลกเปลี่ยนกันระหว่างคดีกับทรัพย์สิน ที่เรียกว่า “สมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย”

เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ที่นครสวรรค์ อาจดูรุนแรงเพราะตำรวจใช้วิธีซ้อมทรมาน ใช้ถุงคลุมศรีษะและผู้ต้องหาเสียชีวิต ทนายชำนัญ ยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบว่า ถ้าหันกลับมามองในชีวิตประจำวัน จะพบว่า รูปแบบที่ตำรวจใช้อำนาจชี้ผิดชี้ถูกเพื่อต่อรองผลประโยชน์มีอยู่ทั่วไป ที่เห็นได้เด่นชัดคือการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ ซึ่งมีโทษรุนแรง ทำให้เกิดกระบวนการจ่ายเงินจำนวนหลายพันบาทที่หน้าด่านเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี และอีกตัวอย่างที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ การตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด

“ที่เราพบการร้องเรียนเข้ามามาก เช่น มีรูปแบบการตั้งทีมเจ้าหน้าที่ 4-5 นาย เข้าตรวจปัสสาวะตามบ้าน ตามแคมป์คนงาน เมื่อพบว่ามีสารเสพติด ก็เสนอทางเลือกให้ผู้กระทำความผิดจ่ายเงินแทน เพื่อแลกกับการไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รูปแบบนี้ จริงๆก็ไม่ต่างกับสิ่งที่ผู้กำกับโจ้ทำ เพียงแต่ไม่เคยปรากฎเป็นข่าว เพราะทั้งสองฝ่ายสมประโยชน์ และไม่มีการกระทำรุนแรงกับผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น ทั้งที่จริงๆแล้วเกิดขึ้นบ่อยกว่า เกิดขึ้นเป็นประจำด้วยซ้ำ”


เสนอแยกอำนาจ “สอบสวน” ออกจากโรงพัก ถ่วงดุลอำนาจ ลบ “ขั้นตอนในเงามืด” ออกจากกระบวนการยุติธรรม

เมื่อพูดถึงการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ทนายชำนัญ ย้อนไปอธิบายกระบวนการว่า ตามหลักการกระบวนการยุติธรรม “ศาล” จะไม่ให้น้ำหนักกับ “คำสารภาพ” ของผู้ถูกกล่าวหาที่เกิดขึ้นในชั้นจับกุม แต่จะไปให้น้ำหนักกับกระบวนการในชั้นของการสอบสวน ซึ่งผู้ต้องหาได้รับสิทธิว่าในการสอบสวนจะต้องญาติหรือทนายความร่วมอยู่ด้วย ส่วนที่ในปัจจุบัน มีความพยายามนำ “พนักงานอัยการ” มาช่วยในการการสอบสวนก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ยังทำได้น้อยเกินไป

ดังนั้นปัญหาที่พบการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จะเกิดขึ้น “ในชั้นจับกุม” ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ยังเป็นขั้นตอนที่อยู่ “ในเงามืด”

ทนายชำนัญ มีข้อเสนอที่สอดคล้องกับข้อเสนอการปฏิรูปที่เคยถูกเสนอมาหลายครั้งก่อนหน้านี้ นั่นก็คือ “การแยกอำนาจ สอบสวน ออกมาจากชุดจับกุม” โดยเห็นว่า พนักงานสอบสวน ควรจะแยกออกมาเป็น “องค์กรสอบสวน” โดยเฉพาะ ไม่มีสถานะเป็นเพื่อนร่วมงาน และต้องไม่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของฝ่ายที่ทำหน้าที่จับกุม

“ที่ผ่านมาเขาเคยแยกแล้วนะครับ เหมือนทำให้ในหนึ่งโรงพักมีผู้กำกับ 2 คน คือ ผู้กำกับทั่วไป กับผู้กำกับกการสอบสวนโดยเฉพาะ แต่ทำไปทำมา “ผู้กำกับการสอบสวน” ก็กลายเป็น “รองผู้กำกับโรงพัก” ซึ่งก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม คือ ผู้กำกับการจะมีอำนาจเต็มที่อยู่ในมือ ดังนั้นเราควรจะแยกอำนาจในกระบวนการนี้ออกเป็นสามส่วน คือ 1.ชุดสืบสวนและจับกุม 2.พนักงานสอบสวน และ 3.นิติเวช จึงจะสามารถถ่วงดุลและคานอำนาจกันได้ เว้นแต่จะยังมีผลประโยชน์อยู่ร่วมกัน”


“ตำรวจ ตรวจสอบ ตำรวจ” กระบวนการตรวจสอบที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่สร้างความยำเกรงต่อเจ้าหน้าที่ที่ทำผิด

ถ้าย้อนกลับไปตั้งคำถามว่า “หากผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้กระทำความผิด แต่ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายเพื่อให้รับสารภาพ หรือเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ จะสามารถไปร้องเรียนกับใคร”

ทนายชำนัญ บอกว่า มีคำตอบที่ถูกต้องตามหลักการอยู่ 3 ข้อ แต่ยังไม่พบคำตอบที่ถูกต้องในทางปฏิบัติแม้แต่ข้อเดียว ไล่ไปดูทีละข้อ


1. ตำรวจ ซึ่งหมายถึง จเรตำรวจ หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นหน่วยงานตรวจสอบภายในองค์กร ... คำถามคือ ผู้ร้องเรียน จะมั่นใจแค่ไหนว่าจะได้รับความยุติธรรมจากการที่ใช้กลไก การตรวจสอบกันเองในหน่วยงานเดียวกัน


2. ป.ป.ช. - คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็น “องค์กรอิสระ” ที่มีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ซึ่งมีความหมายเดียวกับการทุจริต ... คำถามคือ ใช้เวลาในการตรวจสอบ “นานแค่ไหน” ในเมื่อมีเรื่องร้องเรียนการทุจริตค้างอยู่ใน ป.ป.ช.หลายหมื่นเรื่อง


3. ป.ป.ท. – คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ มีความเกี่ยวพันกับเรื่องนี้คล้ายกับ ป.ป.ช. แต่มีสถานะเป็น “หน่วยงานรัฐ” สังกัดกระทรวงยุติธรรม

จากกลไกการตรวจสอบที่มีอยู่ ทนายชำนัญ ชี้ให้เห็นว่า ตำรวจ เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากในการทำสำนวนคดีเพื่อชี้ผิดถูก ชี้ว่าใครกระทำความผิดหรือไม่ได้กระทำความผิดอย่างไร แต่กลไกของรัฐ ที่สามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจกลับไม่เข้มแข็ง กลไกที่ตรวจสอบได้จริงเพียงกลไกเดียวกลับเป็นกลไกการตรวจสอบภายในของผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกัน

“กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจที่อ่อนแอ ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ขั้นสูงขึ้นในองค์กร ผู้ใต้บังคับบัญชาพร้อมทำตามคำสั่งที่ไม่ถูกต้องเพราะเชื่อว่า “เจ้านาย” จะปกป้องเขาได้ และนำมาซึ่งกระบวนการ “ซื้อขายตำแหน่ง “ราคาแพง” เพื่อแลกกับการได้ไปสังกัดในพื้นที่ ที่สามารถสร้างเครือข่ายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ได้มาก คนที่อยู่ได้ ได้ดี ต้องอยู่เป็น ส่วนคนที่คิดจะทำดี ไม่ร่วมขบวนการด้วย ก็กลายเป็นอยู่ไม่ได้” ทนายชำนัญกล่าว


ความเหลื่อมล้ำในองค์กร อำนาจมาก ผลประโยชน์สูง แต่ค่าตอบแทนน้อย แม้แต่ “ปืน” ยังต้องซื้อเอง

“ตำรวจต้องหาเงินมาซื้อ ปืน ของตัวเอง นี่เป็นคำถามที่ผมสงสัยมานานแล้วนะ ว่าทำไมรัฐจึงไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอในเรื่องแบบนี้ได้ทั้งที่มันเป็นสิ่งจำเป็นที่เขาต้องมี มีโอกาสได้ใช้อยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเทียบกับทหาร ซึ่งแทบไม่มีโอกาสได้ใช้อาวุธเลย กลับสามารถของบประมาณมาจัดซื้อไว้ได้ในจำนวนมาก”

ถ้าถามว่า “ค่าตอบแทนของ ตำรวจ น้อยเกินไปหรือไม่” และ “เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแสวงหาประโยชน์หรือไม่” ทนายชำนัญ ไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ เพราะก็มีคำถามเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณมาที่ส่วนนี้เช่นกัน

แต่ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงสิ่งที่เรียกว่า “เงินกองทุน” ซึ่งมาจากเงินค่าปรับ ค่าดำเนินการในคดีต่างๆ ซึ่งใช้วิธีการจัดสรรลงมายังโรงพักต่างๆ แต่จะได้ไม่เท่ากัน แบ่งเป็น “เรต” ตามระดับพื้นที่ของโรงพัก และตามหลักการจะต้องถูกจัดสรรลงไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน จึงมีคำถามว่า เงินส่วนนี้ ลงไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติหรือไม่ มีกระบวนการตรวจสอบและบันทึกการจ่ายเงินเหล่านี้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น