วิทยา กุลสมบูรณ์
วิกฤตโควิด 2019 ในกลางปี พ.ศ. 2564 ถือได้ว่ารุนแรงสำหรับประเทศไทยในรอบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องและมีความยากลำบากในการควบคุมโรค เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจรุนแรงและมีการคาดการณ์ว่าการฟื้นคืนกลับของประเทศไทยจะเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในลำดับท้ายๆของประเทศทั่วโลก
ภัยจากโรคอุบัติใหม่เป็นเรื่องที่วงการวิทยาศาสตร์ วงการแพทย์และสาธารณสุขได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าในหลายลักษณะ แต่การออกแบบการรับมือก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นไม่สามารถเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับ หรือเห็นพ้องโดยง่าย โดยเฉพาะในการออกแบบระบบและการสนับสนุน เนื่องจากสังคมโดยเฉพาะภาครัฐไม่คุ้นเคยกับการลงทุนงบประมาณเพื่อการเตรียมการรับมือภัยพิบัติในลักษณะเช่นนี้มาก่อน
หากย้อนไปก่อนปี พ.ศ. 2563 และอนุมานว่าสังคมได้คาดการณ์ว่าจะเกิดเหตุในปี พ.ศ. 2563 และมีผลต่อเนื่องอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. 2564 ดังปรากฎในปัจจุบัน หากเป็นเช่นนี้ย่อมจะมีการระดมสรรพกำลังและตั้งงบประมาณและทรัพยากรจำนวนมากเพื่อการป้องกันประเทศจากภัยโรคอุบัติใหม่
เหตุการณ์ที่รุนแรงครั้งนี้จะถือเป็น “ฉันทมติสังคม” ได้หรือไม่ว่าต่อไปนี้สังคมไทยจะเริ่มตระหนักต่อภัยพิบัติจากโรคอุบัติใหม่รวมทั้งอาจมีภัยพิบัติใหม่ ในลักษณะอื่นที่จำเป็นต้องมีการคาดการณ์หรือเตรียมการเพื่อรองรับและตอบสนองเพื่อลดทอนและหลีกเลี่ยง ผลกระทบที่รุนแรงทั้งต่อความมั่นคงทางสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม
ในยามวิกฤต การถกเถียงเพื่อหาทางออกเฉพาะหน้าเป็นสิ่งจำเป็นเพราะต้องการแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่อย่างเร่งด่วนและเต็มกำลังเนื่องจากมีภาวะคุกคามชีวิตและการทำมาหากินของประชาชนอย่างรุนแรง และในบางครั้งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทั้งในเชิงหลักการและทิศทางการปฏิบัติ ซึ่งในบางกรณีก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากปัจจัยและองค์ประกอบหลายประการ โดยหากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องหาทางออกเพื่อแก้ปัญหา ทั้งความเจ็บป่วย เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา อย่างมีระบบเป็นขั้นตอนโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบจริงจังอย่างที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
กระนั้นก็ตามวิกฤตได้เปิดโอกาสให้สามารถคำนึงถึงอนาคตได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะหากมีโอกาสในกรณีการสร้างฉันทมติสังคม เพื่ออำนวยให้เกิดการเตรียมการรองรับภัยโรคอุบัติใหม่ในอนาคต เพราะ คราวใดเมื่อวิกฤตผ่านไป ก็มักจะลืมเลือน หรือลดทอนจนหมดความสำคัญไป
การต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ ย่อมต้องใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถตอบโจทย์อนาคตได้
ประเทศไทยต้องมีอะไรดีอย่างแน่นอนที่ในปี พ.ศ.2563 เป็นประเทศที่พบเชื้อโควิคจากอู่ฮั่นประเทศจีน จากผู้เดินทางเข้าประเทศเป็นประเทศแรกของโลก
ประเทศไทยต้องมีอะไรดีอย่างแน่นอนที่ในปี พ.ศ. 2563 เป็นประเทศที่มีการจัดการโรคโควิด ได้อย่างมีประสิทธิภาพควบคุมโรคได้มีอัตราติดเชื้อและการตายน้อยมากจนเป็นแบบอย่าง 1 ใน 5 ของโลกในขณะนั้น
ประเทศไทยต้องมีอะไรดีอย่างแน่นอนที่ในขณะนี้ได้มีการริเริ่มและดำเนินการที่จะผลิตวัคซีนชนิด mRNA และ การผลิตวัคซีนจากโปรตีนที่ได้จากพืช เพื่อการรับมือกับโรคโควิด 2519 โดยมีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ไม่รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีวิศวกรรมการแพทย์อีกจำนวนมากที่ได้เกิดขึ้นในขณะนี้
ในทางกลับกัน ในปี พ.ศ. 2563 ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดไม่มากเท่าในปีนี้ประเทศไทยเผชิญปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย การขาดแคลนแอลกอฮอล์ การขาดแคลนเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ และสิ่งที่เป็นปัจจัยจำเป็นในการสู้โรคโควิด สินค้าดังกล่าว มีราคาแพงและคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน และหาซื้อได้ยาก
ในปี พ.ศ. 2564 ปัญหาที่เผชิญในปี 2563 เปลี่ยนไปสู่ ความต้องการชุดตรวจโรคโควิดด้วยตนเอง (Antigen Test Kit ) ความต้องการวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ความต้องการยา เช่น ยา ฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษาโรคเมื่อมีอาการมากก่อนเข้าถึงการรักษาในขั้นตอนต่อไป และ ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการบรรเทาโรคเมื่อมีอาการไม่มากหลังติดเชื้อ ตลอดจนระบบรองรับ เช่น รพ สนาม , Hospitel , Community Isolation หรือ Home Isolation
ปรากฎการณ์เหล่านี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้สังคมทราบว่า โลกไม่ได้ปกติสุขราบรื่นแบบในอดีต และยากต่อการคาดการณ์และการควบคุมเมื่อเกิดเหตุการณ์ในแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่การตระหนักและการเตรียมการน่าจะบรรเทาความรุนแรงได้
หากให้ทุกภาคส่วนที่มีบทบาทในการนำสังคมไทยสามารถใช้ “ญาณทัศนะ” คาดการณ์อนาคต ร่วมกันจะสามรถคาดได้หรือไม่ว่าในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยต้องมีการเตรียมการและลงทุนอะไรที่สำคัญเพื่อตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่และความมั่นคงทางสุขภาพที่อาจกระหน่ำซ้ำประเทศไทยได้อีก คงต้องไม่ลืมว่าในต้นปีที่ผ่านมาสังคมไทยนอกจากจะเชิญภัยโควิด ยังเผชิญกับภัย PM 2.5 ที่ได้มาเยือน จนต้องประกาศการหยุดทำงานให้ทำงานที่บ้าน ปิดโรงเรียน สถานศึกษา และ คาดว่าจะแวะมาเยือนประเทศต่อไปในทุกปี
โดยเร่งด่วนที่สุดสังคมไทยจึงควรมีฉันทมติสังคม ออกแบบการรับมือภัยโรคอุบัติใหม่เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ สร้างระบบรองรับใหม่ หรือ New platform ที่พร้อมต่อการตอบโจทย์ภัยโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนภัยพิบัติใหม่ ระบบดังกล่าวต้อง ออกจากกรอบราชการและกรอบงบประมาณปกติ แต่มีธรรมาภิบาลโปร่งใสตรวจสอบได้โดยสาธารณะ เพื่อตอบโจทย์ที่สังคมไทยเห็นพ้องร่วมกัน คำนึงถึงเป้าหมายและผลลัพธ์ ลดข้อจำกัดทางวิธีการเชิงระเบียบและกฎเกณฑ์พันธนาการที่ล้าสมัย
ในการป้องกันประเทศจำเป็นต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ฉันใด ในการป้องกันภัยพิบัติและภัยจากโรคอุบัติใหม่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยในการสู้รบกับสิ่งรุกรานที่เป็นภัยเช่นเดียวกัน
นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และวิศวกรรมที่ทันสมัย ได้แก่ ยา วัคซีน ชุดทดสอบวินิจฉัยโรค หน้ากากป้องกันเชื้อโรค ฝุ่นพิษ วัสดุอุปกรณ์วิศวกรรมการแพทย์รวมทั้ง ระบบรองรับการแก้ปัญหาที่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย และ ระบบทางระบาดวิทยาในการเฝ้าระวังอุบัติภัยและโรคอุบัติใหม่ ล้วนเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นในการต่อสู้กับสิ่งที่เป็นข้าศึกศัตรูที่มองเห็นได้ยากลำบาก และ มีการโจมตีที่รุนแรงจนสามารถเกิดวิกฤตที่ตั้งตัวไม่ทัน หรือฟื้นคืนได้ยาก จนทำการเกิดผลกระทบมหาศาล ประดุจการพ่ายแพ้สงคราม ระบบการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และวิศวกรรมที่ทันสมัยเหล่านี้ ต้องการการนำการประดิษฐ์การคิดค้น การวิจัยอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง และต้องการการสนับสนุนการลงทุนที่มีจำนวนมากพอเพื่อประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ไม่เพียงดำเนินการในภาวะวิกฤตเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ทันการในการแก้ปัญหา
จากลำดับเหตุผลและความสำคัญ ที่ได้กล่าวถึง เพื่อออกแบบระบบรองรับการตอบโจทย์ความมั่นคงทางสุขภาพที่มีผลกระทบจากวิกฤตภัยโรคอุบัติใหม่และภัยพิบัติ จำเป็นอย่างยิ่งพี่จะต้องให้มี ฉันทมติของสังคมที่เห็นพ้องร่วมกันที่จะมี ระบบสนับสนุนที่มีการลงทุนในลักษณะ กองทุนที่เป็น Platform ในการต่อสู้ภัยพิบัติ
เป็นระบบที่ต้องไม่ถูกพันธนาการด้วยระเบียบของรัฐเป็นระบบที่คล่องตัว มีความเป็นอิสระ ที่ไม่อยู่ในการกำกับดูแลของราชการกระทรวงทบวงกรมปกติ แต่มีทิศทางและนโยบายเชิงรุก ตอบวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่อการรับมือภัยพิบัติ
เป็นระบบที่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่อกรสิ่งรุกรานที่สร้างภัยพิบัติต่อความมั่นคงทางสุขภาพ เช่น การสร้าง ยาและเวชภัณฑ์ วัคซีน เครื่องมือวิศวกรรมทางการแพทย์ เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน วินิจฉัย รักษา หรือ ฟื้นสภาพ เป็นต้น เป็นระบบเสริมที่แข็งแกร่งต่อยอดระบบปกติให้มีพลังในการแก้ปัญหาได้
เป็นระบบที่ผู้คนในสังคม ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน แข่งขันกันทำความดีในการพัฒนาปัจจัยในการต่อสู้สิ่งรุกราน โดยมีความโปร่งใสตรวจสอบได้สังคมให้ความเชื่อถือ
ระบบที่เกิดขึ้นนี้ ผู้คนต้องเห็นพ้อง ประดุจรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มีความเชื่อถือในการขับเคลื่อนระบบต่อสู้ภัยพิบัตินี้ ที่จะบรรลุสู่เป้าหมายในการเอาชนะภัยพิบัติจากโรคอุบัติใหม่และภัยอื่นที่จะเกิดในอนาคตเพื่อความมั่นคงตามสุขภาพและสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกคนในสังคม
วันที่ 1 สิงหาคม 2564