xs
xsm
sm
md
lg

พรรคก้าวไกลที่จะไม่ก้าวไกล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ญัตติแก้รัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการพิจารณาวาระ 1 ขณะที่เขียนต้นฉบับยังไม่รู้ว่า ญัตติของใครจะผ่านบ้าง แต่ดูเหมือนว่า ที่พูดกันมากก็คือ วิธีการเลือกตั้ง

ดูเหมือนพรรคที่เดือดเนื้อร้อนใจมากที่สุดก็คือ พรรคก้าวไกล เพราะต้องยอมรับว่า วิธีการเลือกตั้งแบบสัดส่วนและใช้บัตรใบเดียวแม้จะมีการคิดสัดส่วนปัดเศษแบบพิสดารของ กกต.นั้น ทำให้พรรคได้ประโยชน์มากที่สุดคือ พรรคก้าวไกลหรืออดีตพรรคอนาคตใหม่นั่นเอง

แม้จะมีคนเชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นอาจจะไม่ได้ ส.ส.เท่านี้ ถ้าไม่เกิดเหตุยุบพรรคไทยรักษาชาติแล้วคะแนนที่จะลงให้พรรคไทยรักษาชาติเลยไหลมาที่พรรคอนาคตใหม่พรรคเดียว เพราะในพื้นที่ที่พรรคไทยรักษาชาติลงแข่งแล้วยุบไปนั้นพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งคนลงสมัครเลย

แต่อย่างไรเสียพรรคก้าวไกลก็ยังเชื่อว่าวิธีเลือกแบบสัดส่วนนั้น พรรคตัวเองยังจะได้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นบัตรสองใบหรือใบเดียวก็ตาม แม้ว่าพรรคก้าวไกลคงไม่ประสบความสำเร็จแบบพรรคอนาคตใหม่อีก เพราะครั้งต่อไปพรรคเพื่อไทยมีบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งก่อนแล้ว ก็ต้องระดมผู้สมัคร ส.ส.ลงให้ครบทุกเขตไม่ได้แตกแบงก์ย่อยแบบครั้งที่แล้ว

ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้นเล็งเห็นแล้วว่าการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ยังไงพรรคก็ได้ประโยชน์มากกว่า

พอพรรคเพื่อไทยไม่เอาด้วยกับวิธีเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลต้องการ พวกแนวร่วมของพรรคก้าวไกลพยายามโจมตีว่า พรรคเพื่อไทยสู้ไปกราบไป ในความหมายว่า ไม่ยอมแตกหักกับเผด็จการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ยอมแตะหมวด 1-2

แน่นอนว่าพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ อยากได้คือ กลับไปเลือกตั้งแบบบัตรสองใบตามรัฐธรรมนูญ 2540 มี ส.ส.เขต 400 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน

ส่วนก้าวไกลแม้จะรู้ว่าพรรคตัวเองได้ประโยชน์จากวิธีเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2560 แต่เพราะความที่ไม่อาจยอมรับรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารได้ ก็เลยเสนอให้เลือกแบบบัตรสองใบ (แบบเยอรมนี) แต่ยังคงคิดแบบสัดส่วนเหมือนรัฐธรรมนูญ 2560 เอาไว้ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ถ้ามีคะแนนพรรคทั้งประเทศรวมกันได้ 20% จาก ส.ส. 500 คนพรรคควรจะได้ ส.ส. 100 คน ถ้าได้ระบบเขตมาแล้ว 80 ที่นั่งก็จะได้เพิ่มอีก 20 ที่นั่ง แต่ถ้าได้เกิน 100 คนไปแล้วก็ไม่ได้เพิ่มอีก

เมื่อพรรคเพื่อไทยเขาเห็นแล้วว่า เขามีโอกาสได้ ส.ส.เขตเยอะ แต่โอกาสได้ ส.ส.เพิ่มจากระบบสัดส่วนน้อยซึ่งเห็นมาแล้วจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เขาก็เลยอยากได้แบบบัตรสองใบตามรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมา เมื่อไม่ได้ดังใจพรรคก้าวไกลและกองเชียร์ก็โจมตีว่าพรรคเพื่อไทยไปเข้าร่วมกับฝ่ายเผด็จการ ทั้งที่ขึ้นชื่อว่าพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหนเขาก็ต้องเลือกสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์มากกว่า

พรรคก้าวไกลจึงเหมือนเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง เหมือนกับไม่ได้ของเล่นที่อยากได้ก็อาละวาดลงไปดีดดิ้นกับพื้นแบบเด็กๆ

มีคนมองว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้วแม้จะมีกระแสฟีเวอร์ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจในหมู่คนรุ่นใหม่ก็จริง แต่ปริมาณ ส.ส.ที่ได้มานั้นเป็นเพียงอุบัติเหตุทางการเมือง แม้จะยังสามารถคงการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2560 เอาไว้ได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ไม่มีทางได้ ส.ส.ขนาดนี้อีกแล้ว

ที่สำคัญคนจำนวนมากเห็นแล้วว่า พรรคก้าวไกลนั้นก่อให้เกิดความขัดแย้งที่บาดลึกในสังคมไทยมากกว่าจะเข้ามาทำงานการเมืองแบบสร้างสรรค์ เพราะมุ่งอยู่กับการก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่จะนำความแตกแยกมาสู่สังคมไทย

เชื่อว่าสิ่งที่มองแตกต่างกันระหว่างไก่อ่อนอย่างพรรคก้าวไกลกับมวยเจนเวทีอย่างพรรคเพื่อไทยก็คือ มองจากความเป็นจริง แน่นอนแม้ว่าทั้งสองพรรคจะเสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว.ที่ให้โหวตเลือกนายกฯ เหมือนกัน แต่เชื่อว่า เป็นการเสนอไปตามธรรมเนียมเท่านั้นเอง และรู้แต่ต้นแล้วว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ ส.ว.จะโหวตปิดสวิตช์ตัวเอง

เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 นั้นต้องให้ได้เสียง ส.ว.สนับสนุนด้วย 1 ใน 3 คือ 84 เสียง ซึ่งมีทางเดียวที่จะเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นได้ก็คือ ฝ่ายอำนาจรัฐที่แต่งตั้ง ส.ว.มากดปุ่มให้ ส.ว.ยอมถอยเท่านั้นเอง แต่ดูจนถึงขณะนี้ยังไม่มีทางเลยที่จะเกิดสถานการณ์นั้นขึ้นมา

แม้ส่วนตัวผมเองก็มีข้อเรียกร้องให้ปลดเงื่อนไข ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีมาตลอด เพราะเห็นว่า เป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ยอมรับว่ายากจะเกิดขึ้น

ตอนนี้พรรคเพื่อไทยมองการณ์ไกลไปแล้วว่า การเลือกตั้งครั้งหน้านั้นตัวเองจะมีโอกาสได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 เหมือนเดิม และยิ่งส่ง ส.ส.ลงครบทุกเขตแล้วโอกาสจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กลับมามาก ดังนั้นต้องเลือกทางที่ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด ทำไมจะต้องไปยอมพรรคก้าวไกลที่จับปลาในบ่อเดียวกัน เพราะต้องยอมรับว่า ทั้งสองพรรคนั้นมีฐานเสียงที่ทับซ้อนกัน

พรรคเพื่อไทยมองข้ามเสียงของ ส.ว. 250 เสียงที่ยังมีโอกาสเลือกนายกฯ ได้อีกอย่างน้อยในการเลือกตั้งครั้งหน้าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพราะเชื่อว่า ถ้าตัวเองสามารถระดมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 เสียง เสียง ส.ว. 250 เสียงก็ไม่มีความหมาย ถึงจะโหวตให้อีกฝั่งเป็นรัฐบาลได้ แต่รัฐบาลที่มีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนก็ไม่สามารถตั้งมั่นได้อยู่ดี

ดังนั้นหากการแก้รัฐธรรมนูญได้วิธีการเลือกตั้งไปอย่างที่พรรคการเมืองใหญ่ต้องการ พรรคอย่างก้าวไกลก็จะกลายเป็นพรรคเล็กอย่างแน่นอน เพราะโอกาสได้ ส.ส.เขตคงไม่เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่เดิมที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งลงสมัคร คะแนนก็จะแตกและแบ่งกันไปเพราะมีฐานเสียงเดียวกัน และที่สำคัญคนจำนวนมากเห็นแล้วว่าพรรคก้าวไกลเล่นการเมืองแบบสร้างความแตกแยกมากกว่า

แน่นอนอาจจะมีคนจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เขาต้องการเห็นการวิวัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่รุกเร้า และคุกคามแบบแตกหักแบบที่พรรคก้าวไกลทำอยู่ ซึ่งอาจจะนำมาสู่ความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้ง และเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เริ่มปรับตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยอยู่แล้ว

อย่างไรเสียในทางการเมืองพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ฯลฯ นั้น พูดกันด้วยภาษาเดียวกันเล่นการเมืองช่วงชิงอำนาจกันใครจะแพ้จะชนะได้อำนาจรัฐก็ว่ากันไป ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและสถาบันหลักของประเทศ ไม่มีใครก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์แบบที่พรรคก้าวไกลกระทำอยู่

แม้ว่าจริงๆ แล้ว ส.ส.ของพรรคก้าวไกลหรืออนาคตใหม่หลายคนนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความมีคุณภาพทางการเมืองมากกว่านักการเมืองรุ่นเก่า แต่กลับไปอยู่ในพรรคที่มุ่งเน้นจะลดทอนบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์จนไปบดบังแสนยานุภาพของตัวเองไป

การเล่นการเมืองไม่ใช่เอาแต่แรงปรารถนาของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างจารีตและรากฐานของประเทศด้วย

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น