รัฐสภาเปิดฉากถกแก้ รธน. 13 ร่าง แต่ละพรรคร่ายเหตุผลหลักการ พปชร.ดันบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถอยแก้ ม.144-185 ฝ่ายค้านมุ่งแก้ปมสิทธิ ปชช.-พรรค ปชป.แจงตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เหตุไม่ได้มาจากเลือกตั้งโดยตรง จี้ปลดล็อก ม.272 แก้ขัดแย้งการเมือง
วันนี้ (23 มิ.ย.) การประชุมรัฐสภาเริ่มพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จำนวน 13 ฉบับ โดยผู้ยื่นญัตติแต่ละร่างได้กล่าวรายงานหลักการและเหตุผล เริ่มจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้ยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงหลักการและเหตุผลร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคพลังประชารัฐ ว่า พรรคพลังประชารัฐตั้งใจแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.ขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญไม่จริง หากประเด็นใดแก้ไขเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่สร้างความขัดแย้ง หรือเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินทำประชามติ ก็จะช่วยสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญให้ลุล่วงได้ เป็นการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอมี 5 ประเด็น 13 มาตรา ได้แก่ 1. การแก้ไขมาตรา 29 มาตรา 41 และมาตรา 45 เพื่อเพิ่มการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน อาทิ สิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การประกันตัว การให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐในการฟ้องหน่วยงานรัฐ 2. การแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้แก่ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน พรรคใดที่ส่ง ส.ส.เขตไม่น้อยกว่า 100 คน ให้มีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ พรรคใดจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องได้คะแนนบัญชีรายชื่อไม่ต่ำกว่า 1% ป้องกันปัญหาการเป็น ส.ส.ปัดเศษ
3. การแก้ไขมาตรา 144 ให้ตัดบทลงโทษ ส.ส - ส.ว.และ กมธ.ที่แทรกแซงการแปรญัตติงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม แต่เมื่อมี ส.ว.ทักท้วงว่า การแก้ไขดังกล่าวทำให้หลักการตรวจสอบงบประมาณที่รัฐธรรมนูญปี 60 เขียนไว้อย่างเข้มข้นสูญเสียไป ตนก็เห็นด้วยและรับปากว่าหากรับหลักการแก้ไขวาระ 1 แล้ว การพิจารณาในชั้น กมธ. ตนและพรรคพลังประชารัฐจะเสนอแก้ไขมาตรา 144 ให้คงหลักการเข้มข้นรัฐธรรมนูญปี 60 ไว้ตามเดิม ให้สบายใจได้ แต่ขอหารือว่า ควรพิจารณาถึงเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณที่ได้รับผลกระทบจากมาตรานี้ จะหาวิธีผ่อนคลายอย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณไม่กล้ามาเป็นกมธ.งบ เพราะกลัวเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงตามมาตรา 144
4. การแก้ไขมาตรา 185 เรื่องการยกเลิกการห้าม ส.ส.- ส.ว.เข้าไปแทรกแซง ก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการ ที่ ส.ว.เป็นห่วงเช่นกันว่า จะทำลายหลักการการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของข้าราชการนั้นก็รับปากว่า หากรับหลักการวาระ 1 จะไปผลักดันชั้น กมธ.ให้คงหลักการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานข้าราชการไว้ตามเดิม แต่ขอเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนขึ้น โดยยกเว้นกรณี ส.ส.- ส.ว.ไปติดต่อหน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ให้ถือเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานหน่วยราชการ และ 5. ให้ยกเลิกมาตรา 270 ขอเปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภาในการเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ มาเป็นให้อำนาจส.ส.และส.ว.ร่วมกันติดตาม เสนอแนะเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เรื่องนี้ ส.ว.เป็นผู้เสนอเอง อยากให้ ส.ส.มาร่วมติดตามการปฏิรูปประเทศ
ด้าน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา นำเสนอ 4 ร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 ได้มีการบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่กลับมีบทบัญญัติหลายมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ หลายเรื่องยังขาดความชัดเจนและยังมีปัญหา ได้แก่ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ ทั้งสิทธิในการปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกรณีอื่นๆ เสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองก็ยังขาดสาระสำคัญทำให้กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นบังคับใช้มีบทบัญญัติที่จำกัด และการดำเนินการของพรรคการเมืองอย่างเป็นอุปสรรค และเป็นภาระของพรรคการเมืองเกินความจำเป็น
เพื่อเป็นการแก้กฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันที่มีบทบัญญัติหลายอย่าง ทำให้เกิดปัญหาและปฏิบัติได้ยาก และการให้อำนาจ กกต.ในการควบคุมพรรคการเมืองมากจนเกินไปแทนที่จะเป็นเพียงการกำกับดูแลซึ่งในหลายเรื่องเป็นภาระแก่พรรคการเมืองเกินความจำเป็น ขณะที่การตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากจนเกินไปและการยุบพรรคการเมืองนั้น จะกระทำได้อย่างจำกัด และจะต้องปรากฏหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น
นอกจากนี้ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติที่จะเรียกเอกสารหรือเชิญบุคคลเข้ามาแถลงข้อเท็จจริงให้ความคิดเห็นก็ไม่สามารถที่จะควบคุมหน่วยงานขององค์กรฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระได้ ทำให้หน้าที่ในการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายบริหาร ทำให้ระบบการตรวจสอบเกิดถ่วงดุล ส่งผลให้การดำเนินงานของรัฐสภาไม่มีประสิทธิภาพ จึงสมควรปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการให้มีความเหมาะสม นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแล้วจะทำให้นานาชาติได้เห็นว่าประเทศไทยมีพัฒนาการด้านสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น และให้ความสำคัญกับพันธกรณีระหว่างประเทศ
ส่วนพรรคภูมิใจไทย โดย นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทย แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 แก้ไขมาตรา 55 โดยเพิ่มมาตรา 55/1 ให้ประชาชนมีรายได้พื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง โดยประชาชนไม่ต้องเรียกร้อง แต่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐจัดให้ประชาชนมีรายได้ถ้วนหน้า ให้เงินสดแก่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 2,763 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่สอง คือ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเราเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมี สำหรับประเทศไทยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่เหมาะสม จึงเห็นสมควรให้แก้มาตรา 65 กำหนดยุทธศาสตร์ชาติสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ และร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่สาม เสนอเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ คือ มาตรา 159 ที่มานายกรัฐตรี และยกเลิก มาตรา 272 การให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ
ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชี้แจงการขอแก้ไขกลุ่มมาตราว่าด้วยระบบเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพเลือกผู้แทนและพรรคการเมืองที่ชอบ เพราะบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแยกเลือกคนและพรรคการเมือง ไม่ถูกบังคับเหมือนระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ประชาธิปไตยในรัฐสภาเข้มแข็ง เพราะพรรคการเมืองเข้มแข็ง การเมืองมีเสถียรภาพ คะแนนไม่เป็นเบี้ยหัวแตก ส่วน การแก้ไขมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา มองว่า วุฒิสภาจำเป็นและประเทศไทยควรเป็นระบบรัฐสภาแบบสองสภา แต่เมื่อ ส.ว.ไม่มาจากการเลือกตั้งควรมีอำนาจจำกัด เฉพาะกลั่นกรองกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ควรมีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน คือ ส.ส.
“การแก้ไขมาตร 272 คือ การย่นระยะเวลา 5 ปีที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้สั้นลงเท่านั้นเพื่อกลับเข้าสู่หลักประชาธิปไตยให้เร็วขึ้น ไม่มีผลกีดกันบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปในอนาคต เพราะหากบุคคลนั้นประสงค์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป สามารถนำชื่อไปใส่ในบัญชีที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือลงเลือกตั้ง ก็ได้ และหลังเลือกตั้งบุคคลนั้นสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ย่อมมีสิทธิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเดียวกัน นอกจากนั้นการปลดล็อกมาตรา 272 จะแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองและให้การเมืองมีเสถียรภาพแก้ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบันได้ราบรื่น”
นายจุรินทร์ ย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีมติสนับสนุนญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 ฉบับเพราะมีหลักการที่ใกล้เคียงกัน ส่วนร่างของพรรคพลังประชารัฐที่มีปัญหาต่อมาตรา 144 และมาตรา 185 สามารถ แปรญัตติแก้ไขให้เหมาะสมในวาระสอง ทั้งนี้ การลงมติสนับสนุนไม่ใช่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แต่คือการแสวงหาความร่วมมือที่ไม่ขัดจุดยืนเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญบรรลุผลสำเร็จ เพราะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน รวมถึงใช้เสียง 20 เปอร์เซ็นต์ ของฝ่ายค้านและเสียง ส.ว. 1 ใน 3 สนับสนุนด้วย
จากนั้นได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็น