ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับมาอีกครั้ง หลังรอบที่แล้วแท้งก่อนคลอดกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256 เพื่อให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะโดนศาลรัฐธรรมนูญสกัดกลางทาง
ก่อนที่สุดท้าย ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะทำแท้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนโหวต วาระสาม กลางที่ประชุมรัฐสภา ส่งผลให้พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องกลับมาตั้งลำกันใหม่
รอบนี้เป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่เสนอโดยทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน
เบื้องต้น ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และวิปสามฝ่าย คือวิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เคาะออกมาแล้วว่า คิวการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์หน้า ช่วง 22-24 มิถุนายน โดยฝ่ายพลังประชารัฐ ต้องการเร่งให้พิจารณาเป็นวาระถัดจากร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติที่ยังค้างอยู่
ทำให้คาดกันว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วง 23 มิถุนายน เลยไปถึง 24 มิถุนายน และลงมติในช่วงค่ำวันดังกล่าว ที่เป็นการพิจารณาลงมติวาระแรก ขั้นรับหลักการที่ต้องได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่เกินกึ่งหนึ่ง และต้องได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ถึงจะได้ไปต่อในวาระสอง และสาม ต่อไป
นับถึงตอนนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขรายมาตรา จะมาด้วยกันสามเส้นทางหลัก คือ
หนึ่ง, ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นจ่อหัวแต่ไก่โห่ ไปตั้งแต่ 7 เมษายน ที่ผ่านมาแล้ว อันเป็นร่างที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตรา หลักๆ ก็เช่น เสนอแก้ไขระบบการเลือกตั้งส.ส. จากปัจจุบันที่รัฐธรรมนูญให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แล้วนำคะแนนรวมมาหาสัดส่วนส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์
พลังประชารัฐ ได้เสนอให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ แบบตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ที่จะแยกคะแนนระหว่างส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์ออกจากกัน และพรรคการเมืองที่จะมีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ต้องส่งคนลงสมัครส.ส.เขต อย่างน้อยหนึ่งร้อยเขต อันเป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคใหญ่ อย่างพลังประชารัฐ เต็มๆ
สอง, เป็นร่างที่มาจากสามพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล คือ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา จับมือกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเหตุที่สามพรรคดังกล่าวต้องจับมือกัน เพราะการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือระดับร่วมร้อยคน โดยประชาธิปัตย์ หรือภูมิใจไทย มีส.ส.ไม่ถึง จึงต้องยืมเสียงส.ส.ข้ามพรรคมาช่วยกันเข็น
โดยพรรคร่วมรัฐบาลสามพรรค ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว เมื่อวันพุธนี้ 16 มิถุนายน ที่มีอยู่ด้วยกันประมาณ 7 ร่าง
จุดสำคัญก็มีเช่น ร่างที่ประชาธิปัตย์ผลักดันเอาด้วยกับพลังประชารัฐ นั่นก็คือ การให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์อำนาจส.ว.โหวตนายกฯ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ประกาศแล้วว่าไม่เอาด้วยกับเรื่องนี้ ที่ก็ไม่แปลก เพราะมาตราดังกล่าว เอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับพลังประชารัฐ เพราะ ส.ว. 250 คน ที่คัดสรรและเสนอแต่งตั้งโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือฐานการเมืองสำคัญของพลังประชารัฐ ที่ยังใช้ประโยชน์ได้อีกอย่างน้อยก็อีกหนึ่งสมัย ที่จะเป็นหลักประกันให้พลังประชารัฐได้ว่า เลือกตั้งรอบหน้า ยังไงก็กลับมาเป็นรัฐบาลได้ชัวร์ เพราะมี 250 ส.ว. คอยพร้อมโหวตเลือกคนของพลังประชารัฐ เป็นนายกฯรอไว้อยู่แล้ว พลังประชารัฐ จึงไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นอำนาจส.ว.โหวตนายกฯ มาแต่แรก จนส่งสัญญาณจะโหวตคว่ำ หรือ หากไม่อยากแตกหักมากเกินไป ก็อาจใช้วิธี งดออกเสียง การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้เพื่อให้ร่างตกไป แม้จะเป็นร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม
อย่างไรก็ตาม พบว่าภูมิใจไทย ไล่ตั้งแต่หัวหน้าพรรค อนุทิน ชาญวีรกูล และคนในพรรค บอกแล้วว่าภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตรสองใบ อย่างที่ประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ ต้องการ แต่เบื้องต้นพร้อมจะร่วมลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญกับประชาธิปัตย์ แต่การลงมติ ขอสงวนท่าทีไว้ก่อน
และสาม, ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่นำโดยสองพรรคคือ เพื่อไทยกับก้าวไกล ที่ก็ยื่นต่อประธานรัฐสภา วันพุธนี้ 16 มิ.ย.เช่นกัน
เบื้องต้นฝ่ายค้านเคาะออกมาแล้วว่า จะมีด้วยกัน 5 ร่าง หลักๆ ก็เช่น แก้ไขที่มานายกฯ -ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ รวมถึงการเสนอแก้ 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ก็เสนอกลับมาอีกรอบ
ที่น่าสนใจคือ ฝ่ายพรรคก้าวไกล หรืออนาคตใหม่เดิม ไม่เอาด้วยเต็มสูตรกับพรรคเพื่อไทย ในเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตรสองใบแบบในอดีต แต่ทำหล่อ โดยบอกว่าบัตรสองใบก็ดี แต่ขอใช้ระบบสองใบ แบบทุกเสียงไม่ตกน้ำ ซึ่งเป็นระบบที่ยังไม่เคยใช้ในประเทศไทยมาก่อน
เหตุที่พรรคก้าวไกลไม่เต็มใจเอาด้วยกับระบบสองใบแบบในอดีต ก็เพราะก้าวไกล ก็เหมือนกับภูมิใจไทย คือเป็นพรรคที่จะเสียประโยชน์หากใช้ระบบบัตรสองใบ แยกคะแนน หากแก้ระบบเลือกตั้ง ก้าวไกลมีโอกาสจะได้ ส.ส.น้อยลงกว่าเดิมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะส.ส.บัญชีรายชื่อ
ถึงตอนนี้ จึงพบว่า ทั้งฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างก็มีความเห็นแตกต่าง ขัดแย้งกันอยู่ในทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ เข้าลักษณะแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ในสองประเด็นคือ บัตรเลือกตั้งสองใบ กับปิดสวิตช์อำนาจส.ว.โหวตนายกฯ
ที่สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้ง ความเห็นที่แตกต่าง และการกุมความได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วยกันเอง
เช่น เพื่อไทยที่มีฐานคะแนนเสียงเดียวกับ ก้าวไกล และสองพรรคนี้ ก็ขบเหลี่ยม แย่งซีนกันมาตลอด โดยฝ่ายพรรคเพื่อไทยอยากได้บัตรเลือกตั้งสองใบ เพื่อจะได้ไม่เจ็บปวดแบบตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แม้แต่คนเดียว แต่ก้าวไกล ก็เกรงว่าหากใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่เคยได้ร่วม 50 คน สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่อาจหายไปเกินครึ่งหนึ่ง เป็นต้น
การขบเหลี่ยมกันเองของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ จึงมีให้เห็นเด่นชัด
โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้ ยังเป็นอีกครั้งที่ พรรคพลังประชารัฐ คุมความได้เปรียบค่อนข้างมาก
เพราะมีส.ส.ในพรรคร่วม 122 คน บวกกับส.ว. ที่ล็อบบี้ประสานได้ อีกระดับไม่ต่ำกว่า 230-240 เสียงขึ้นไป ผสมกับ ส.ส.พรรคเล็ก ที่พร้อมรับคำสั่งพลังประชารัฐ ทำให้ ฝ่ายพลังประชารัฐ กดปุ่มสั่ง ส.ส.และส.ว. ไม่ให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ตกไปตั้งแต่วาระแรกได้
พลังประชารัฐ จึงเป็นพรรคที่คุมกระดานทั้งหมดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง