เมืองไทย 360 องศา
ได้เห็นการเคลื่อนไหวของพวกนักการเมือง และพรรคการเมืองต่างๆ ในเวลานี้ ที่กำลังเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลากหลายรูปแบบแล้ว เชื่อว่า หากใครพิจารณากันแบบรู้ทันแล้ว จะต้องรู้สึก “สมเพช” ปนขบขันอย่างแน่นอน เพราะไม่ต่างจาก “ละครตลก” ที่ “ขำไม่ออก” เพราะแต่ละคนแต่ละพรรคที่แสดงออกมาเหมือนกับว่า พยายามจะ “ตีบทให้แตก” แต่มันกลับดูแล้ว“ไม่เนียน” เอาเสียเลย
บางพรรคแสดงท่าทางขึงขังต้อง “ล้มรัฐธรรมนูญเผด็จการ” หรือประกาศฉีกทิ้งผลผลิตของเผด็จการที่เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจให้ได้ แต่เมื่อพิจารณาในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า “ตัวเองได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญเผด็จการ” ซึ่งในใจลึกๆ ไม่ต้องการแก้ไขในประเด็นที่ตัวเองได้ประโยชน์ แต่หากแสดงท่าทีแบบนั้นก็จะเสียภาพนักต่อสู้กับเผด็จการ จึงใช้วิธีการเสนอมาในแบบที่ “เป็นไปไม่ได้” นั่นคือ ไม่มีทางผ่าน หรือ “ถูกคว่ำ” ในสภาแน่นอน
ซึ่งก็รู้ว่าไปไม่รอด แต่อีกด้านหนึ่งตัวเองก็ยังได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ด่าว่าเป็นเผด็จการนี่แหละ) จึงใช้วิธี “กินสองต่อ” นั่นคือ การ “ปลุกม็อบ” สร้างแรงกดดันจากภายนอกมาเคลื่อนไหวป่วน หวังว่า ถึงอย่างไรก็ยังได้ใจมวลชนที่หล่อเลี้ยงกันมา ทั้งที่รู้ว่าในสภาก็จะต้องถูกโหวตคว่ำ และนอกสภาก็จะสร้างพลังกดดันไม่สำเร็จ “ปลุกไม่ขึ้น” เหมือนกับที่ผ่านมา
แน่นอนว่า หากโฟกัสไปที่พรรคร่วมฝ่ายค้านก่อน ก็จะเห็นภาพ “ตลกร้าย” ที่พยายามแสดงออกมาให้เห็นในรูปแบบดังกล่าว เหมือนกับที่เวลานี้แต่ละพรรคต่าง “แตกแยกกันหนัก” เพราะแต่ละฝ่ายต้องการ “หาประโยชน์” เข้าตัวเองทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่ความจริงมันฟ้องอยู่ ก็คือ หากพิจารณาจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล ที่เดินกันคนละทาง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรค และพรรคก้าวไกล ที่มี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค เป็นต้น ได้ยื่นร่างแก้ไขรับธรรมนูญต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาแล้ว โดยแก้ไขเป็นรายมาตรา มี 5 ร่าง คือ 1. ร่างแก้ไข มาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญไปยกร่างฉบับใหม่ ยกเว้นหมวดที่ 1 และ 2 ซึ่งประเด็นนี้พรรคก้าวไกลไม่ร่วมลงชื่อ 2. การเสนอแก้ไข มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ซึ่งฝ่ายค้านเห็นตรงกัน 3. แก้ไขเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน 4. แก้ไขมาตรา 83 ให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่เอาด้วย และ 5. แก้ไขให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ และยกเลิกกฎหมายและคำสั่งที่มาจาก คสช.
ภาพที่เห็นวันนี้สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน ก็คือ “เสียงแตก” และ “แตกแยก” ต่างฝ่ายต่างต้องการสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์ เหมือนกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจรวมถึงเกือบทุกพรรคที่เห็นตรงกันต้องการให้แก้ไขให้มี “บัตรเลือกตั้งสองใบ” เพราะเชื่อว่าตัวเองได้ประโยชน์
ยกเว้นพรรคก้าวไกล ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในประเด็นนี้ เพราะตัวเองได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญที่ตัวเองกล่าวหาว่าเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ ซึ่งเป็นระบบการนับคะแนนแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่ทำให้ผลจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจากวิธีการนับคะแนนในแบบดังกล่าว ทำให้ตัวเองไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง เพราะกลัว “สูญพันธุ์” แต่ขณะเดียวกัน ตัวเองก็ไม่กล้าพูดออกมา จึงใช้วิธีแบบ “เสนอให้ป่วน” หรือเสนอให้ถูกคว่ำ แต่ตัวเองก็ยังได้ “เป็นพระเอก” ในอารมณ์ต่อต้านเผด็จการ อะไรประมาณนั้น
ขณะเดียวกัน เมื่อหันไปพิจารณาท่าทีจากพรรคร่วมรัฐบาลที่เวลานี้แยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่แยกเสนอไปก่อนในประเด็นรายมาตราที่เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งสองใบ และเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งได้เสนอคาไว้ตั้งแต่สมัยประชุมสภาคราวที่แล้ว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็น 3 พรรค ที่มีพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา ที่กำลังเสนอแก้ไขรายมาตราเข้าไปเหมือนกัน นอกเหนือจากแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบแล้ว ก็มีประเด็นอื่น เช่น การตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตนายกฯ เป็นต้น โดยประเด็นหลังนี่ ดูแล้วไม่น่าผ่าน เพราะล่าสุดทาง ส.ว.ประกาศชัดเจนตั้งแต่ต้นเลยว่า ไม่เอาด้วย
ดังนั้น หากพิจารณาสรุปกันในตอนนี้เพื่อให้เห็นภาพรวมๆ ก็ต้องบอกว่าในความเป็นไปได้มากที่สุดในเวลานี้ ก็คือ ประเด็นการแก้ไขให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ เพราะแทบทุกพรรคเห็นตรงกัน ยกเว้นมีเพียง “พระเอก” จากพรรคก้าวไกลเท่านั้นที่ไม่เอาด้วย เพราะตัวเองได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อีกทั้งหากเปลี่ยนเป็นบัตรสองใบ ก็มีการคาดหมายว่าโอกาส “สูญพันธุ์” มีสูงยิ่ง
ขณะเดียวกัน เมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.อย่างน้อย หนึ่งในสาม นั่นคือ ตัวเลข 84 เสียง ดังนั้น การเสนอตัดอำนาจในการโหวตนายกฯ (ที่กำหนดในบทเฉพาะกาล 5 ปี ยังเหลืออีกราวปีกว่าเท่านั้นก็จะสิ้นสภาพไปเอง) ก็ไม่มีทางได้รับการสนับสนุน ซึ่งพวกเขาประกาศท่าทีชัดเจนแล้วว่า ไม่เอาด้วย รวมไปถึงการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถึงแม้จะผ่านวาระแรกไปได้ แต่ต้องใช้เวลา ต้องทำประชามติ ซึ่งบรรยากาศในเวลานี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากแล้ว
เพราะอารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านอาจมองว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ปากท้องเท่าไรนัก มีแต่ผลประโยชน์และอำนาจของนักการเมืองเท่านั้น และที่สำคัญงานนี้มันแค่ “ละครการเมือง” ที่ต่างฝ่ายพยายามเล่น “บทพระเอก” สร้างภาพตบตาชาวบ้านเท่านั้น !!