xs
xsm
sm
md
lg

“ภราดร” ย้ำต้องแก้ รธน.ฉบับกินได้ เพิ่มหลักประกันรายได้พื้นฐาน และแก้ ม.272 ถาม ส.ว.พอหรือยัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.อ่างทอง ภท. อภิปรายต้องแก้ รธน. ฉบับกินได้ เพิ่มหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าให้ ปชช. ยัน ควรแก้ไข มาตรา 272 ย้อนถาม ส.ว. เพียงพอหรือยังกับการดำรงตำแหน่งมาหลายปี


วันนี้ (23 มิ.ย.) นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวอภิปรายและเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ว่า จุดยืนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทย คือ ตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด จึงออกแบบรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนให้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของการเสนอร่างรัฐธรรมนูญเมื่อคราวก่อน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยเปิดช่องให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน แล้วให้ ส.ส.ร. เขียนกติกา และไปรับฟังความคิดเห็นพี่น้องประชาชน ว่า อยากจะเห็นกติกาบ้านเมืองเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ไม่ผ่านสภา จึงเป็นที่มาของร่างรัฐธรรมนูญอีก 3 ฉบับ ที่พรรคภูมิใจไทยได้ร่วมลงชื่อกันกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อที่จะนำมาสู่การพิจารณา โดยแนวคิดทั้ง 3 ร่างของพรรคภูมิใจไทย ยังคงเหมือนเดิม คือ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่หนึ่ง คือ เสนอแก้ไขในหมวดที่ 5 หมวดหน้าที่ของรัฐในมาตรา 55 โดยเพิ่มเป็นมาตรา 55/1 เรียกว่า หลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI : Universal basic Income) หลักคิดคือ ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน เชื่อว่า ประชาชนทุกคนควรที่จะต้องมีหลักประกันรายได้ต่อปีที่เพียงพอสำหรับพวกเขาในการที่จะดำรงชีวิตในสภาพสังคมต่างๆ

“ใครก็ตามที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน คนกลุ่มนั้นเรียกว่า คนจน ปี 2562 เกณฑ์การแบ่งแยกระหว่างคนจน สภาพัฒน์ ได้ขีดเส้นเอาไว้ คนต่างจังหวัดอยู่ที่ 2,700 กว่าบาทต่อคนต่อเดือน ส่วนคนกรุง อยู่ที่ 3,200 กว่าบาทต่อคนต่อเดือน เป็นรายได้ขั้นต่ำที่คนพึงจะมี สำหรับดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือเฉลี่ยทั้งต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ 36,000 บาทต่อคนต่อปี นี่เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่เชื่อว่า รัฐจะต้องสนับสนุนคนกลุ่มนี้ให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต ส่วนเรื่องหลักประกันสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชน ควรที่จะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นหน้าที่ของรัฐเช่นกัน ที่จะต้องทำให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีรายได้ขั้นพื้นฐานให้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ถ้าบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า รัฐสามารถที่จะหาเงินเพื่อที่จะมาตอบโจทย์ประชาชนได้”

ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 เรื่องการแก้ไขในมาตรา 65 เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การวางแผนในระยะยาวกับประเทศจำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน แต่ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 65 เขียนกว้างเกินไป สามารถที่จะเฉพาะเจาะจงให้ชัดเจนมากกว่านี้ได้ในเรื่องของความเป็นพลวัต และควรที่จะถามประชาชน ว่า เขาอยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างไร นี่คือ สิ่งที่ต้องมาร่วมกันคิด การวางยุทธศาสตร์ชาติควรที่จะต้องวางให้รอบด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านความมั่นคง แต่ยังมีด้านอื่นๆ อีกมากมายที่จะต้องอาศัยผู้รู้มาร่วมกันคิดในเรื่องนี้

“ในวันนี้การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราต้องการความอ่อนตัวมากกว่านี้ เพื่อให้สามารถที่จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ของประเทศและของโลกในขณะนั้นๆ”

ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 272 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในตัวบทหลักที่เป็นเรื่องหน้าที่ และอำนาจเรื่องบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา ไม่มีให้สมาชิกวุฒิสภาเลือกหรือกำหนดนายกรัฐมนตรีตลอดกาล หรือตลอดช่วงอายุของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากแต่เพียงกำหนดเอาไว้ในบทเฉพาะกาลเท่านั้น ซึ่งบทเฉพาะกาลกำหนดเอาไว้ 5 ปี

“ที่ผ่านมา 2 ปีกว่า เกือบจะ 3 ปี เพียงพอหรือยังกับการเปลี่ยนถ่าย กับบทเฉพาะกาลที่ว่า ผ่านการเลือกตั้งมา 1 ครั้ง และวุฒิสมาชิกได้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 272 ไปแล้ว เพียงพอหรือยัง ถ้าถามตนเองก็ตอบว่าเพียงพอแล้ว ถ้าถามพี่น้องประชาชน ก็คงจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเพียงพอแล้ว ซึ่งถ้าหากจะย้อนกลับไปถามวุฒิสภา ว่าเพียงพอหรือยัง ก็ไม่แน่ใจกับคำตอบ พรุ่งนี้จะมีคำตอบร่วมกันว่า เวลา 2 ปีกว่าเกือบ 3 ปีเพียงพอหรือยังกับอำนาจพิเศษ ตามมาตรา 272”

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 เรื่องการเปลี่ยนและแก้ไขกติกาการเลือกตั้ง จากบัตร 1 ใบ เป็นบัตร 2 ใบ จาก 350 เขต 150 ปาร์ตี้ลิสต์ จะเปลี่ยนเป็น 400 เขต 100 ปาร์ตี้ลิสต์ หรือจะมีระบบใหม่ บัตร 2 ใบ แต่จัดสรรปันส่วนเหมือนกับบัตร 1 ใบ ที่เราใช้กติกากันอยู่ในขณะนี้ หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่พรรคภูมิใจไทยว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่ในฐานะเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงไม่สมควรที่จะเขียนหรือพิจารณากติกาให้ตัวเอง หรือเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายการเมือง นักการเมือง พรรคการเมือง แต่กติกาควรจะถูกเขียนโดยกรรมการ นั่นคือ ประชาชน นี่เป็นหลักคิดของพรรคภูมิใจไทย

“ขอย้ำว่า รธน.ใดก็ตาม ที่เป็นผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชนโดยตรง พวกเราพร้อมที่จะสนับสนุน แต่ร่างรัฐธรรมนูญใดที่แก้ไขแล้วจะถูกครหาว่าพรรคการเมือง หรือนักการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ไม่ขอร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว และการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ โจทย์ของพรรคภูมิใจไทย คือ ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร จึงเป็นที่มาของการเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่กินได้ เสนอ รธน.หลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า พวกเราขอเป็นไม้ขีดไฟก้านแรก พวกเราขอเป็นไม้ขีดไฟแห่งความหวัง ให้กับพี่น้องประชาชนในการที่จะเข้าถึงหลักประกันรายได้พื้นฐานที่พวกเขาพึงจะมี” นายภราดร กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น