ภูมิใจไทย ตั้งโต๊ะแถลงพร้อมดันแก้รธน.ฉบับกินได้ 3 ประเด็น แก้ปัญหาปากท้อง ชงรัฐมีหน้าที่ให้ปชช.มีรายได้ขั้นต่ำ 3.6 หมื่นต่อปี พร้อมรื้ออำนาจส.ว.เลือกนายกฯ
วันนี้ (15มิ.ย.) เมื่อเวลา 17.35 น. ที่พรรคภูมิใจไทย นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงผลการประชุมส.ส.พรรค ถึงจุดยืนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ว่า พรรคมีประเด็นที่ต้องแก้ไข 3 ประเด็น ได้แก่ 1.เรื่องปากท้องของประชาชนโดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมหนึ่งมาตราเรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้รัฐมีบทบาทหน้าที่เพิ่มขึ้นในเรื่องหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าให้กับประชาชน เพราะเชื่อว่าคนไทยทุกคนควรจะต้องมีหลักประกันรายได้ที่อยู่เหนือเส้นความยากจน ซึ่งจากการคำนวณพบว่าอยู่ที่ 36,000 บาทต่อปี ดังนั้นจะต้องบรรจุคำนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ
2. จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 ที่กำหนดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่จะต้องระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ชาติควรที่จะต้องมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ประเทศและโลก 3. จะต้องแก้ไขมาตรา 272 เรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องแก้ไขให้สมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้
นายภราดร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เสียงสมาชิกจำนวน 1 ใน 5 ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมีทั้งสิ้น 60 กว่าเสียง เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องไปหาเสียงเพิ่มเติมจากเพื่อนสมาชิกพรรคอื่น ซึ่งได้มีการพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนาไว้ ใน 3 ประเด็นดังกล่าว เพื่อขอเสียงเพิ่มจากทั้ง 2 พรรคให้ช่วยสนับสนุนในทั้ง 3 ร่างของพรรคภูมิใจไทย ส่วนร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ทางพรรคภูมิใจไทยมีความเห็นตรงกันว่าจะช่วยสนับสนุนทั้ง 6 ประเด็นของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ทั้ง 2 พรรคสามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาได้ เพื่อพิจารณาในรัฐสภาต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีบัตรเลือกตั้ง นายภราดร กล่าวว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ เพราะเรายืนยันใน 3 ประเด็นที่เสนอมา สำหรับเรื่องบัตรเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ประกาศว่าจะมีการแก้ไขบัตรเลือกตั้งจาก 1 ใบเป็น 2 ใบ ก็จะเป็นไปตามข้อตกลงโดยจะร่วมลงชื่อให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นดังกล่าวด้วย ส่วนจะลงมติหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต ที่จะต้องมีการพูดคุยหารือเพื่อฟังเหตุผลร่วมกันต่อไป
เมื่อถามว่าพรรคภูมิใจไทยมีความมั่นใจในการแก้ไขอำนาจส.ว. อย่างไร นายภราดร กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ตนเชื่อว่าเขาก็มีร่างนี้เหมือนกันและประเด็นตรงกัน ส่วนพรรคฝ่ายค้านก็เชื่อมั่นว่าเขาก็พยายามแก้ไขประเด็นนี้ โดยมีการพยายามเรียกร้องกันมาพอสมควร ส่วนจะโหวตผ่านในวาระที่สามหรือไม่ ตนเชื่อว่าสุดท้ายแล้วการลงมติในวาระที่ 3 ต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสมาชิกด้วย ซึ่งตนตอบแทนส.ว.ไม่ได้ว่ามีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร เพราะเป็นการลดทอนอำนาจหน้าที่ของฝ่ายวุฒิสภา ซึ่งต้องไปถามฝ่ายวุฒิสภาเองว่ามีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร อย่างไรก็ตามพรรคภูมิใจไทยยืนยันว่าจะแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้
ขณะที่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยมีนัดกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา ในการนำรายชื่อที่ได้ลงนามกันในวันนี้ไปมอบให้ และเขาก็ลงนามในร่างของเราในทั้ง 3 ร่าง และจะนำมาให้กับเรา ทั้งนี้คาดว่าจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามหวังว่าเร็วที่สุดเมื่อเข้าสู่การพิจารณาประชาชนจะได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งที่เราเสนอนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องทางการเมืองหรือผลประโยชน์ของพรรคการเมือง เพราะหลักประกันรายได้เป็นแนวคิดที่ในโลกได้มีการคิดกันว่ารัฐเองควรมีหน้าที่ดูแลประชาชนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่มีกำลังพอในเรื่องรายได้ เพื่อให้เป็นหลักประกันว่าคนไทยทุกคนที่มีรายได้ไม่ถึง 36,000 บาท ทุกคนต้องเป็นหน้าที่ของรัฐดูแลคนเหล่านี้