xs
xsm
sm
md
lg

แก้ รธน.บัตรเลือกตั้งสองใบ ก้าวไกล-พรรคเล็ก สูญพันธุ์ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา


ละครแก้รัฐธรรมนูญรอบใหม่เริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเป็นการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บรรดาพรรคการเมืองเสนอเข้ามาจำนวนถึง 13 ฉบับ (และถูกแขวนไว้อีกหนึ่งร่าง) มีการกำหนดเวลาในการพิจารณาวาระแรก สองวันคือ วันที่ 23-24 มิถุนายน แน่นอนว่า ในจำนวนร่างแก้ไขดังกล่าวที่เสนอเข้ามากันเป็นพรวน ก็มีหลากหลายประเภท มีทั้งเสนอแบบมีเป้าหมายเพื่อ “เอาเท่” เอาหล่อ ไม่ได้หวังผลจริงจังนัก เสนอแบบ “ไม่ต้องการให้ผ่าน” โดยหวังจะใช้แบบเดิมแต่กลัว “เสียมวลชน” ก็มี รวมไปถึงบางพรรคที่เสนอเข้ามาแบบ “บอกผ่าน” หวังให้ต่อรอง แต่คงเป้าหมายที่แท้จริงเอาไว้

เพื่อให้เห็นภาพที่ว่านั้นจะเห็นว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เสนอแก้ไข มาตรา 256 และพ่วง มาตรา 15/1 ในเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจากการระบุของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ และย้ำว่า ได้วินิจฉัยโดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า เป็นหลักการและเหตุผลของญัตติดังกล่าวมีสาระสำคัญเหมือนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไปแล้วว่ามีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 และต้องไปทำประชามติก่อนว่าประชาชนประสงค์จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

นอกจากนี้ ก็มีประเด็นเสนอแก้ไขให้ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ในความหมายให้ตัดอำนาจของ ส.ว.ไม่ให้ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งในประเด็นนี้การที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านวาระแรกไปได้ ก็ต้องใช้เสียงสนับสนุนของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ก็ลองหลับตานึกภาพเอาก็แล้วกัน ว่าเมื่อไปตัดมือตัดเท้า ตัดอำนาจเขาแบบนี้มันจะมี ส.ว.โหวตได้ครบหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมา จะมี ส.ว.บางคนประกาศโหวตให้ด้วยเหตุผลหลากหลาย เช่น ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจนี้อยู่แล้ว เพราะคนที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เป็นเสียงข้างมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว.ก็ได้

นอกเหนือจากนี้ การโหวตในวาระแรกยังต้องใช้เสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 อีกด้วย แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่ยากเท่ากับต้องใช้เสียง ส.ว.หนึ่งในสาม หรือ 84 คน

อย่างไรก็ดี ในบรรดา 13 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็จะมี “ประเด็นร่วม” อยู่ในร่างแก้ไขที่เสนอโดยแต่ละพรรคการเมืองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นของพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ 3 พรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และ พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งก็มีแต่ละพรรคที่เสนอแยกย่อยออกไปไม่ตรงกันบางพรรคก็มี

แต่เอาเป็นว่าเวลานี้ประเด็นที่แก้ไขและมีโอกาสผ่านวาระแรกมากที่สุด ก็คือ เรื่องแก้ไขให้กลับไปใช้ “บัตรเลือกตั้งสองใบ” และแก้ไขให้มี ส.ส.ระบบเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่ออีก 100 คน ตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ ปี 50 เคยกำหนดเอาไว้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ นอกจากพรรคพลังประชารัฐที่เป็นผู้เสนอแล้ว ก็มีพรรคเพื่อไทย ที่ปรารถนามาตลอด รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ ก็เอาด้วย ส่วน ส.ว.นั้น เมื่อไม่ได้แตะต้องอำนาจของพวกเขาก็ย่อมยกมือผ่านอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ก็มีเสียงโวยวายเข้ามาพร้อมๆ กัน ในร่างแก้ไขที่ “เสนอมัดรวมเข้ามา” ของพรรคพลังประชารัฐ ใน มาตรา 144 ที่ให้ตัดบทลงโทษ ส.ส.และ ส.ว.และคณะกรรมาธิการที่แทรกแซงการแปรญัตติงบประมาณไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม และการแก้ไข มาตรา 185 เรื่องการยกเลิกการห้าม ส.ส.และ ส.ว.เข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการ ซึ่งหลายฝ่ายออกมาโวยวายคัดค้านว่าเป็นการทำลายการ“ปราบโกง”ที่เข้มงวดของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ล่าสุด นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขของพรรคพลังประชารัฐก็ยอมถอย โดยยืนยันว่า จะไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการให้กลับมายึดหลักการเดิม ซึ่งทาง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ไฟเขียวยอมถอยอย่างชัดเจนแล้ว

หากพิจารณาแบบนี้ ร่างแก้ไขของพรรคพลังประชารัฐในประเด็น “บัตรเลือกตั้งสองใบ” ก็มีโอกาสผ่านวาระแรกสูงมาก เพราะนอกจากเป็น “ความต้องการร่วม” ของพรรคใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ และเมื่อ ส.ว.ไม่ขวาง มันก็น่าจะ “ฉลุย” ขณะเดียวกัน ก็สามารถมองได้ว่าการเสนอแบบนี้ของพรรคพลังประชารัฐ ก็เหมือนกับการ “บอกผ่าน” แล้วให้ “ต่อรองราคา” เมื่อเห็นว่าดันแบบนี้ไม่ไหว ก็ยอมถอย แต่ถือว่า “หลักการสำคัญ” ยังคงอยู่ครบ

อีกทั้งกลายเป็นว่า ต่อไปจะกลับคืนสู่รูปแบบที่การเลือกตั้งเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหญ่ และ “พรรคเก่าแก่” ที่มีสมาชิกพรรคจำนวนมาก ขณะที่บรรดาพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก พรรคใหม่หลายพรรค ที่เกลื่อนกลาดในเวลานี้ส่อแววจะสูญพันธุ์ รวมไปถึงมีความเป็นไปได้ว่าเป็นการ “เตรียมพร้อม” เพื่อรับมือสถานการณ์การเลือกตั้งกันแล้ว

ดังนั้น หากพิจารณาตามรูปการแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญในคราวนี้เป็นการ “สมประโยชน์” พรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพลังประชารัฐ รวมไปถึงประชาธิปัตย์ แต่ประชาธิปัตย์ อาจจะ “ทำตัวหล่อ” อีกตามเคย เพราะจะได้ทั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบที่ตัวเองชอบ แต่อีกด้านหนึ่งก็เล่นภาพนักประชาธิปไตยปิดสวิตช์ ส.ว. ทั้งที่ไม่เป็นจริง ขณะที่พรรคก้าวไกล อยากได้ “มรดกเผด็จการ” เลือกตั้งแบบปัจจุบัน แต่ไม่กล้าพูด จึงต้อง “เสี่ยงสูญพันธุ์” ในที่สุด !!


กำลังโหลดความคิดเห็น