“ชลน่าน” บี้ “ชวน” ทบทวนตีตกแก้ ม.256 ชี้ เป็นหน้าที่สมาชิกวินิจฉัย “พิจารณ์” โวยสภาไม่รอร่างภาคประชาชน ด้าน “ชวน” แจงญัตติ ม.256 เหมือนของเดิม ยันไม่มีใครสั่ง ปธ.ได้ ส่วนร่าง ปชช.ส่งมาเมื่อไหร่พิจารณาทันที
วันนี้ (23 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จำนวน 13 ฉบับ ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ 1 ฉบับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ
ก่อนเข้าสู่วาระประชุม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย สอบถามถึงเหตุผลไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย เรื่องการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากฝ่ายรัฐสภา เห็นว่า ญัตติดังกล่าวเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจะทำหนังสือถึงประธานรัฐสภา ขอให้ทบทวนความเห็นและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุ หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทำประชามติก่อน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ห้ามทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่การยื่นแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ เป็นเพียงกระบวนการจัดทำการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องรองรับไปสู่การทำรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น หากรัฐสภาเห็นชอบก็ให้จัดทำประชามติต่อไป รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ถูกยกเลิก แต่การไม่บรรจุญัตติเท่ากับห้ามแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสิ้นเชิง ไม่อยากให้ตีความเกินคำวินิจฉัย ขอให้ทบทวน การไปยึดติดคำวินิจฉัยจนสมาชิกทำหน้าที่ไม่ได้ ขอให้เป็นหน้าที่สมาชิกวินิจฉัย ไม่ใช่ประธานวินิจฉัยเอง
นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ความคืบหน้าของภาคประชาชนที่กำลังรณรงค์โครงการ “ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์” ล่ารายชื่อประชาชนได้ 40,000 กว่าคนแล้ว ใกล้ครบ 50,000 ชื่อ เสียดายที่ร่างที่ถูกเสนอโดยประชาชน ไม่ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณา หากสามารถรวมร่างทั้งหมดมาพิจารณาได้ จะช่วยประหยัดงบ และเกิดภาพสง่างามการรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน แต่ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวถ้ายุบสภาแล้ว อาจแก้รัฐธรรมนูญไม่ทัน อยากถามว่า ถ้าภาคประชาชนล่าชื่อครบ 50,000 คน โดยที่การพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ยังไม่จบวาระ 3 ร่างของภาคประชาชนจะถูกพิจารณาอย่างไร
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า กระบวนการพิจารณาญัตติจะมีเจ้าหน้าที่รัฐสภาดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องผ่านฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายรัฐสภา ยกเว้นเรื่องสำคัญจะมีที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายช่วยพิจารณา ญัตติดังกล่าวนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่า บรรจุไม่ได้จึงส่งให้ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายรัฐสภาช่วยพิจารณาก็มีความเห็นตรงกันว่า บรรจุไม่ได้ จากนั้นส่งมาให้ตนพิจารณา ตนก็พิจารณาด้วยความรอบคอบ เหตุที่ไม่บรรจุญัตติดังกล่าว เพราะมีมาตรา 15/1 เรื่อง การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จากการตรวจดูพบว่า หลักการและเหตุผลของญัตตินี้ มีสาระสำคัญเหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไปแล้วว่า มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 และให้ไปทำประชามติก่อนว่า ประชาชนประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ดังนั้น จึงมีความเห็นไม่บรรจุ ถ้าบรรจุแสดงว่าไม่ยอมรับคำวินิจฉัย
“ยืนยันว่า 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครมาสั่งประธานได้ นายกฯไม่เคยมายุ่ง ขอให้มั่นใจว่า การวินิจฉัยเป็นไปด้วยความสุจริต ยึดมั่นกฎหมาย ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ส่วนร่างภาคประชาชน ถ้าส่งมาเมื่อใด ก็จะพิจารณาและบรรจุให้ทันที ไม่มีลับลมคมใน ถ้าไปท้าทายคำวินิจฉัย ด้วยการบรรจุญัตติ ก็เท่ากับตนทำผิดรัฐธรรมนูญ”