“ราเมศ” สวนกลับฝ่ายค้าน ป้อง "ชวน" ยึด รธน.และ ข้อบังคับเคร่งครัด สุจริตเป็นกลาง ตรงไปตรงมา อัดอย่าโวยวายคิดทำตามอำเภอใจ
วันนี้ (21 มิ.ย.) นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้านออกมากล่าวหานายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เรื่องการไม่บรรจุญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับว่า การทำหน้าที่ของนายชวน ยึดรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เป็นกลาง ตรงไปตรงมา ให้เกียรติและเคารพทุกคน สร้างบรรทัดฐานของรัฐสภา ยึดมั่นหลักนิติธรรม การจะมากล่าวหาว่าขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทั้งสิ้น นายชูศักดิ์ ศิรินิล พรรคเพื่อไทย เป็นถึงครูบาอาจารย์ต้องย้อนกลับไปดูหลักการรัฐธรรมนูญและข้อบังคับให้ชัด รวมไปถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ประกอบด้วย ไม่ใช่คิดจะทำตามอำเภอใจตนโดยไม่มีหลัก พอไม่ได้ดั่งใจก็ออกมาโวยวายไม่สมราคาของฝ่ายค้านในสภา
นายราเมศ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงยุติว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงมิใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่
“ฉะนั้น ประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าระเบียบวาระการประชุมตามข้อ 119 ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ได้ จึงจะต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตราไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาจึงไม่สามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาได้”
นายราเมศ กล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกอบการพิจารณาด้วยเหตุและผล โดยยึดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับประกอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย แต่ก็ชัดเจนว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังไม่ตกไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 105 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จะตกไป แค่ 2 กรณี คือ 1 รัฐสภาลงมติไม่รับหลักการ 2.รัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบในวาระที่สาม เมื่อร่างยังไม่ตกไป หากต่อไปมีข้อกฎหมายในเรื่องว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป
“หยุดให้ร้ายนายชวน ที่พรรคเพื่อไทยใช้ถ้อยคำว่า “อย่าทิ้งภาระให้ลูกหลาน ประธานสภาอย่าขัดขวางรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ล้วนแล้วแต่บิดเบือนทั้งสิ้น คนอย่างนายชวน มีแต่คิดและทำสิ่งดีๆ ให้ลูกหลาน คนรุ่นหลังมากมาย แต่สิ่งสำคัญนายชวน ไม่เคยทิ้งภาระหนี้สินที่เกิดจากการโกงชาติบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลาน และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่รับมาตั้งแต้ต้น หากฝ่ายค้านนำเสนอถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับไม่มีใครขวางได้แน่นอน ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา”