xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เบรกญัตติด่วนประชามติตั้ง ส.ส.ร.ต้องบังคับใช้ กม.ก่อน รับร่างแก้ รธน.ทำตรวจโกงอ่อนลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เบรก ก้าวไกล กรณีเตรียมเสนอญัตติด่วนให้ ครม.ทำประชามติถาม ปชช.ตั้ง ส.ส.ร. ชี้ ต้องให้เป็น กม.บังคับใช้ก่อน รับร่างที่ยื่นแก้ รธน. มีส่วนทำให้การตรวจสอบทุจริตอ่อนลง

วันนี้ (22 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเสียงวิจารณ์หลายพรรคการเมืองดำเนินการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเอง แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ว่า แล้วจะให้แก้อย่างไรประชาชนจึงจะได้ประโยชน์ ขอให้ไปถามผู้ที่เสนอ หรือเจ้าของร่างจะดีกว่า

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วน ออกมาท้วงติงถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 144 และ 185 ซึ่งเป็นการห้ามไม่ให้ ส.ส. และ ส.ว.เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือแทรกแซงการแปรญัตติงบประมาณไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ลักษณะเช่นนี้จะทำให้คุณสมบัติของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงอ่อนแอลงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า 2 มาตรานี้ถือเป็นปัญหาเช่นกัน หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 มาตราผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในการพิจารณาวาระที่ 1 เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนสามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขให้เข้มข้นมากขึ้น หรือแก้ไขให้มีเนื้อหาชัดเจนมากขึ้น ผู้ยื่นแก้ไขอาจมีความรู้สึกว่าที่ผ่านมาบทบัญญัติ 2 มาตรานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าอะไรที่ทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้บ้าง จนทำให้เกิดปัญหาในการตีความ อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่รู้ว่าเขาจะแก้ไปในทิศทางใด

เมื่อถามว่า หากมีการแก้ไขมาตราเหล่านี้จริงจะทำให้กระบวนการตรวจสอบการทุจริตอ่อนแอลงหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็มีส่วนที่จะเป็นเช่นนั้นได้ แต่อาจจะไม่ใช่เจตนารมณ์ของร่างก็ได้ แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพราะสภาก็อยากจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบัตรเลือกตั้งใบเดียวเป็นสองใบเหมือนในอดีต คิดว่าจะทำให้ประเทศกลับไปสู่สภาพเหมือนกับตอนที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามว่า แนวโน้มการแก้ไขเพื่อจะตัดอำนาจ ส.ว. หรือปิดสวิตช์ ส.ว.จะเป็นไปได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในวาระการพิจารณาของรัฐสภา นายวิษณุกล่าวว่า ตนตอบไม่ถูก เพราะเป็นเรื่องของรัฐสภา นายชวนพูดแล้วว่าไม่ได้ตีตก ตนเข้าใจว่าจะมีการนำเรื่องนี้เข้าไปหารือในที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ระบุว่า หลังจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … ผ่านความเห็นชอบในที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้แล้วจะเสนอญัตติด่วนต่อรัฐสภาให้คณะรัฐมนตรีทำประชามติถามความเห็นของประชาชนต่อการตั้ง ส.ส.ร. เรื่องนี้ทำได้เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติยังไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ตามขั้นตอนแล้วหลังจากที่ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว ทางรัฐสภาจะส่งให้รัฐบาลเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพิจารณา ลงพระปรมาภิไธยก่อนจะนำไปสู่การประกาศใช้ ดังนั้น ถ้าอยู่ๆ จะนำร่างกฎหมายฉบับนี้มาใช้ทั้งที่ยังไม่ได้เป็นกฎหมายเลยก็อาจจะทำให้เกิดการถกเถียงกันไปเปล่าๆ ทั้งนี้ สามารถเตรียมการเอาไว้ได้ แต่ถ้าจะทำถึงขั้นนำกฎหมายนั้นมาใช้เลยคงจะไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น