รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ
ข่าวการทำอัตวินิบาตกรรมของแพทย์จบใหม่ นอกจากจะสร้างความโศกเศร้าให้กับครอบครัวของผู้วายชนม์โดยตรงแล้ว ยังเป็นการสะท้อนปัญหาอันเหลวแหลกและเรื้อรังมานานถึงสภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตของแพทย์พยาบาลทั่วประเทศ และเชื่อว่าข่าวนี้คงไม่อาจเรียกความสนใจจากผู้มีอำนาจโดยตรงรวมทั้งสื่อมวลชนในการช่วยผลักดันให้เกิดการสอบสวนและแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแบบที่ประเทศอันเจริญแล้วเขาทำกัน แต่สำหรับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นั้น ข่าวนี้ถือเป็นการสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นและที่สำคัญคือเป็นการสูญเสียที่ป้องกันได้แต่กลับไม่ได้รับการป้องกันหรือแก้ปัญหาอย่างมืออาชีพ....นอกเหนือจากการไม่พยายามแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแล้วยังมีการแก้ปัญหาด้วยการล้อมรั้วคุกให้สูงขึ้นด้วยการออกคำสั่งให้เพิ่มจำนวนค่าปรับใช้ทุนหลายล้านบาท แทนที่จะสร้างสภาพแวดล้อมให้แพทย์อยากไปทำงานและไม่ลาออกจากระบบ เมื่อไม่มีเงินค่าไถ่ตัวในการออกจากคุก เราอาจได้เห็นการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้อีกก็เป็นได้
ผู้เขียนยังจำได้ดีถึงวันคืนเก่า ๆ เมื่อต้องไปทำงานใน รพ.ที่มีสภาพการทำงานคล้าย ๆ กันนี้ได้ดีเมื่อสามสิบปีก่อน ปัญหานี้เมื่อสามสิบสี่สิบที่แล้วเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็ยังคงเหมือนเดิม และน่าจะเลวร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ เสียด้วยซ้ำ เพราะสภาพสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนไป โดยเฉพาะปัญหาการเรียกร้องแต่สิทธิที่รัฐบาลสร้างขึ้นเพื่อคะแนนนิยมแต่ไม่เคยตระหนักถึงสมดุลในสิทธิของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ทุกวันนี้แพทย์ทั้งจบใหม่และไม่ใหม่ ต้องรับภาระงานมหาศาลพร้อม ๆ กับความเครียดจากความคาดหวังของผู้ป่วยที่ไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความพร้อมและข้อจำกัดของระบบ
ข้อมูลเท่าที่ทราบและพอจะเปิดเผยได้นั้น แพทย์ใหม่ป้ายแดงท่านดังกล่าว เป็นคนอารมณ์ดี เป็นที่รักใคร่ของเพื่อน ๆ เรียนดีและฉลาดระดับได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ ไม่เคยมีประวัติปัญหาทางสุขภาพจิตมาก่อนแต่อย่างใด มีความรับผิดชอบในการงานสูงตั้งแต่ครั้นเรียนในโรงเรียนแพทย์ ถึงขนาดก่อนจะตัดสินใจชั่ววูบนั้น ยังทำงาน(round ward)ให้การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ...ส่วนข้อมูลการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่หนักหนาสาหัสอันน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจผิดเพียงชั่ววูบนั้น พบว่าสัมพันธ์กับภาระงานที่ถูกบังคับให้รับ ดังนี้
- ส่วนใหญ่แล้วต้องทำงานในรอบ ๑ สัปดาห์ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ชม. (เฉลี่ยไม่น้อยกว่า ๑๔ ชม.ต่อวัน!!)
- มีหลายวันใน ๑ สัปดาห์ที่ต้องรับผิดชอบเวรมากกว่า “๒๘ ชม.ต่อ ๑ วัน”
- มีหลายวันที่นอกจากจะอดนอนทั้งคืนแล้วยังต้องทำงานต่อวันรุ่งขึ้นในเวลาราชการทันที
- มีการบังคับให้แพทย์ต้องทำงานโดยไม่ได้พักผ่อนข้ามวันข้ามคืน!!!มากกว่า ๑ ครั้งต่อสัปดาห์
- ในรอบ ๑ สัปดาห์ ไม่มีวันใดเลยที่ไม่ต้องปฏิบัติงานเต็มวัน (๒๔ ชม.)
- ไม่ได้รับโอกาสได้พักผ่อนต่อเนื่องกัน มากกว่า ๘ ชม. โดยไม่มีเวรที่ต้องรับผิดชอบเลย
- เวลาเริ่มปฏิบัติงานส่วนใหญ่คือ ตีห้า!!
- ระยะเวลาการทำงานส่วนใหญ่คือ ๑๑-๑๒ ชม. ต่อเนื่องกันโดยไม่มีช่วงเบรค
นอกเหนือจากตารางงานดังกล่าวข้างต้น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทราบดีว่ายังมีภาระงานที่ไม่ได้ถูกกำหนดในตารางเป็นทางการอีกมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องความเป็นความตายของคนไข้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตอบสนองโดยทันที แม้จะได้อยู่เวรก็ตาม ดังนั้นหากนับรวมภาระงานดังกล่าวนี้เข้าไปด้วย เชื่อแน่ว่าจะมีแพทย์หลายคนต้องทำงานสัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า ๑๒๐ ชม.!! ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า “จะมีอาชีพใดที่มี “จำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงาน” และขาดโอกาสพักผ่อนและทำธุระส่วนตัว โหดร้ายกว่าที่บุคลากรการแพทย์และพยาบาลได้รับอยู่ในขณะนี้อีก?” และอย่าลืมว่าหากไม่ใช่งานด้านเสริมความงามแล้ว งานของแพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นงานเร่งด่วน ไม่เลือกเวลา ทั้งค่ำคืนหรือรุ่งเช้า เมื่อถูกตามตัวแล้วต้องตอบสนองทันที ไม่งั้นคงไม่เห็นปรากฎการณ์ในโลกโซเชียลว่า “มารพ.เห็นแต่หมาไม่เห็นหมอ”
เมื่อ สามปีก่อน ผู้เขียนได้ดำเนินการสำรวจภาระงานของแพทย์ เพื่อใช้นำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน ประโยชน์สำคัญที่คาดว่าจะได้รับอันเป็นผลพลอยได้จากการลดภาะงานและใช้เป็นข้อมูลเพิ่มอัตรากำลังแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยเพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสี่ยงชีวิตกับแพทย์ที่ต้องอดหลับอดนอน มีปัญหาสุขภาพจิต หรือติดยานอนหลับแล้วต้องมาทำงานรักษาผู้ป่วยคนอื่น ... ผลสำรวจที่ได้ไม่ต่างไปจากตารางงานข้างต้นคือ แพทย์เกือบจะ ๑๐๐%ต้องเคยมีประสบการณ์ทำงานติดต่อกันข้ามวันข้ามคืนโดยไม่ได้พักผ่อนเลย แพทย์ประมาณ ๑/๔ต้องทำงานติดต่อกันเกิน ๗ วันต่อสัปดาห์ เกือบ ๑๐๐%มีประสบการณ์ลาป่วยไม่ได้เพราะจะไม่มีคนทำงานแทน แพทย์เกิน ๕๐%ต้องรับมือผู้ป่วยนอกเกินกว่า ๑๐๐ คนต่อวัน และที่น่าตกใจคือแพทย์ > ๙๐%ยอมรับว่าเคยรักษาผิดพลาดเพราะภาระงานมากเกินไป และความผิดพลาดถึง ๑ใน๔นั้นทำให้ผู้ป่วยไม่ตายก็พิการ แพทย์ส่วนใหญ่ ๗๐%ป่วยด้วยโรคที่มาก่อนวัยอันควรและต้องใช้ยานอนหลับหรือยาบำรุงกำลังเพื่อให้อยู่ในสภาพที่จะรับภาระงานผิดมนุษย์ที่ถูกบังคับให้รับมอบหมายมา และแพทย์มากกว่า ๗๐%ยอมรับว่าไม่มีความสุขในชีวิตการทำงานและต้องการออกจากงานนี้โดยเร็วที่สุด ....ผลสำรวจนี้สอดคล้องกับปัญหาดังกล่าว และน่าจะสัมพันธ์กับเหตุการณ์อันน่าเศร้าโศกข้างต้น ซึ่งน่าจะต้องทำให้ฝ่ายบริหารกล้าตัดสินใจและเริ่มต้นแก้ปัญหานี้มานานแล้ว แต่ไม่ทราบด้วยเหตุอันใดจึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
เมื่อผลสำรวจนี้ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากผู้มีอำนาจระดับสูงสุดและฝ่ายนิติบัญญัติของชาติซึ่งมีพลังอำนาจมากพอที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ..สิ่งที่ผู้เขียนพอจะทำได้เต็มที่เมื่อดำรงตำแหน่งกรรมการแพทยสภาวาระที่แล้วคือ การผลักดันให้คณะกรรมการแพทยสภาผ่านประกาศ “หน้าที่พึงปฏิบัติของผู้ป่วย” เพื่อให้ผู้ป่วยตระหนักถึงข้อเท็จจริง ข้อจำกัดและภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมกับการเสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาครอบคลุมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยด้วยการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานและค่าตอบแทนรวมทั้งอัตรากำลังพลที่เหมาะสม “พรบ.ชั่วโมงการปฏิบัติงานที่เหมาะสมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์” เข้าไปยัง คณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุข ในสมัยท่าน รมต.ปิยะสกล แต่ก็ลงเอยเหมือนทุกครั้งคือ เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารระดับสูงและตัวบุคคลในคณะกรรมการ ร่างนี้ก็กลายเป็นเศษกระดาษที่ถูกลืม ....และแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ เมื่อปีที่แล้วกระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งการจัดตั้งคณะทำงานและประชุมเพื่อจัดทำข้อมูลกำลังคนด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบ ผู้เขียนได้รับโอกาสจากท่านนายกและท่านเลขาธิการแพทยสภาให้เข้าไปช่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่คณะกรรมการชุดนี้ตลอดจนหน่วยงานที่สำคัญที่มีส่วนชี้เป็นชี้ตายในการจัดอัตรากำลังพลคือ “คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, กพ.” จนในที่สุดที่ประชุมท่านประธานจึงยอมเพิ่มภารกิจอีกประการคือ “การกำหนดมาตรฐานจำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุข และอัตราส่วนกำลังคนต่อภาระงานที่เหมาะสม” แต่ก็ยังเกรงว่าจะเหมือนการประชุมที่ผ่าน ๆ มาคือได้แต่หนังสือสรุปเล่มหนึ่งที่ถูกบรรจุเป็นผลงานขึ้นหิ้งโดยไม่ได้รับการปฏิบัติใด ๆ ให้เป็นรูปธรรมเหมือนเช่นเคย
ถึงตอนนี้คงต้องรอดูว่าผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงจะเหลียวมามองและให้ความสำคัญกับปัญหานี้หรือไม่ ในอดีต อจ.สืบ นาคะเสถียร เคยใช้ “หนึ่งชีวิตแลกความเปลี่ยนแปลง” ให้กับชีวิตของสัตว์ป่าที่ไม่อาจส่งภาษามนุษย์เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ คราวนี้เหตุการณ์ “ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน” ที่ถูกจุดขึ้นด้วยชีวิตของแพทย์จบใหม่อนาคตไกล จะสร้างความสนใจจากผู้มีอำนาจโดยตรงและแลกความเปลี่ยนแปลงให้กับ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “แพทย์และพยาบาล” ได้หรือไม่