xs
xsm
sm
md
lg

สงครามกลางเมืองพม่ายังแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โสภณ องค์การณ์



รัฐบาลทหารพม่าของพลเอกมิน อ่อง หล่าย ยังคงทำสงครามกับประชาชนเพื่อหวังอยู่ในอำนาจพร้อมผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจการค้าให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้จะมีการลุกฮือของประชาชน และสงครามกองโจรจรยุทธ์เกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ปฏิบัติการตอบโต้การรัฐประหารยึดอำนาจโดยมาตรการอารยะขัดขืนได้ผลเป็นวงกว้าง ทำให้องค์กรต่างๆ ในพม่าแทบอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต ประชาชนและกลุ่มเยาวชนจับอาวุธต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นเพียงปืนแก๊ปโบราณ มีด และอะไรที่ใช้ทำร้ายได้

เป้าหมายของการโจมตีคือเจ้าหน้าที่ของรัฐและสมาชิกครอบครัว ข้าราชการหน่วยงานต่างๆ เริ่มรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย ทำให้ทหารและตำรวจต้องตั้งด่านตรวจสอบเพื่อระงับเหตุก่อการร้าย ทั้งการลอบวางระเบิด การซุ่มยิง

ทหารพม่ายังคงปราบปรามประชาชนที่เดินขบวนต่อต้านในระบบอารยะขัดขืน มีผู้ถูกสังหารและบาดเจ็บทุกวัน ขณะเดียวกันก็ใช้มาตรการจับกุมคุมขังประชาชน และกลุ่มต่างๆ จับกุมทั้งครู ข้าราชการ และบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ยอมทำงาน

ล่าสุดมีการสั่งจำคุกครู 3 คน ซึ่งไม่ยอมสอนเพราะอยู่ในเครือข่ายอารยะขัดขืน เช่นเดียวกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งถูกจับกุมไปกว่า 51 ราย

กลุ่มอารยะขัดขืนได้หลบเข้าไปฝึกอาวุธในป่า จัดการโดยกองกำลังชนกลุ่มน้อยซึ่งเข้าร่วมต่อต้านคณะรัฐประหารของพลเอกมิน อ่อง หล่าย จากนั้นก็กลับเข้าปฏิบัติการในเมือง เช่นการลอบวางระเบิดตามจุดธุรกิจเชื่อมโยงกับกองทัพพม่า

โรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองใหญ่เริ่มขาดแคลนแพทย์และบุคลากรหลังจากจำนวนหลายพันคนได้ละทิ้งหน้าที่ หลบเข้าร่วมกับขบวนการของประชาชน รัฐบาลพยายามป้องกันและจับกุมแพทย์ซึ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่บาดเจ็บจากการต่อสู้

เศรษฐกิจของประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตเพราะธนาคารยังไม่เปิดทำธุรกิจตามปกติ ประชาชนเริ่มขาดแคลนกระแสเงินสดและสิ่งของใช้จำเป็นอุปโภค บริโภค การนำเข้าสินค้าและส่งออกแทบหยุดชะงักเพราะงานบริการท่าเรือ ศุลกากรติดขัดหนัก

ภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ตลาดย่านการค้าต่างๆ แทบไม่มีกิจกรรม ก่อนหน้านี้มีรายได้จากการท่องเที่ยว และการขนส่ง มาถึงจุดนี้แทบไม่มีความเคลื่อนไหว

โรงงานและธุรกิจของจีนหลายแห่งในย่านอุตสาหกรรมยังคงถูกรังควานโดยการซุ่มโจมตี ทำให้บรรยากาศในเมืองย่างกุ้งและเมืองอื่นๆ เต็มไปด้วยความไม่ปลอดภัย

นอกจากกลุ่มอารยะขัดขืนแล้ว รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ จัดตั้งโดยกลุ่มของอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลนางอองซาน ซูจี ต่างมีกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลทหาร ทำให้พลเอกมิน อ่อง หล่าย ประกาศว่ารัฐบาลเงา NUG เป็นองค์การก่อการร้าย

โลกยังไม่ลืมการดิ้นรนของชาวพม่าก็จริง แต่ข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ออกสู่โลกภายนอกน้อย ทั้งๆ ที่ความพยายามขององค์กรต่างๆ เชื่อมโยงกับองค์การสหประชาชาติยังกดดันรัฐบาลพม่า และมาตรการคว่ำบาตรโดยกลุ่มประเทศตะวันตก

รัฐบาลมิน อ่อง หล่าย ยังได้ออกหนังสือเวียนให้บรรดา ส.ส.ที่ถูกเลือกในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2020 ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มรัฐบาลพลัดถิ่น NUG โดยเด็ดขาด และยังพยายามแสดงให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมาย

แต่ไม่มีประเทศใดในโลกให้การรับรองรัฐบาลทหารพม่า แม้จะมีการติดต่อกับบางประเทศเช่นอินเดีย ซึ่งมีการเยือนของรัฐมนตรีกลาโหม โดยเข้าพบกับพลเอกมิน อ่อง หล่าย นอกจากนั้นก็ยังพึ่งพารัสเซียด้านอาวุธและเงินตราจากการขายสินค้าให้จีน

การค้าขายสินค้าสำคัญเช่นก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และหยก ให้จีนยังเป็นแหล่งสร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศสำหรับรัฐบาลมิน อ่อง หล่าย ซึ่งทำให้ธุรกิจเป็นไปตามปกติ แม้จะมีความเสี่ยงจากสงครามกลางเมือง และความล่มสลายของเศรษฐกิจ

รายได้จากการขายก๊าซและน้ำมันดิบจากแหล่งในทะเลอันดามันให้จีนผ่านท่อยาว 800 กม. ถือเป็นความสำคัญสำหรับพม่าและจีน และเสี่ยงต่อการถูกโจมตีและก่อวินาศกรรม ทำให้จีนส่งกองกำลังทหารมาอารักขาในพื้นที่เสี่ยงภัย

ถ้าหยุดชะงักหรือท่อเสียหาย จะทำให้เสียรายได้มหาศาลต่อกองทัพพม่า

มีข่าวจากแหล่งข่าวในย่างกุ้งว่ารัฐบาลทหารยังพยายามให้โครงการก่อสร้างต่างๆ เดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนสำหรับผลิตไฟฟ้าในเขตอิทธิพลของกะเหรี่ยงในพื้นที่ตะหนินตาหยี ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐบาลกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทย

พลเอกมิน อ่อง หล่าย ได้เดินทางเข้าพื้นที่ในวันที่ 31 เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเจรจากับกลุ่มกะเหรี่ยงโดยอ้างความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งเขื่อน Hatgyi Dam เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ

นอกจาก กฟผ.เป็นผู้ลงทุนจากฝ่ายไทย ฝ่ายพม่าคือบริษัท Sino-hydro, IGE Company Limited, ซึ่งถือหุ้นโดยน้องชายของผู้บัญชาการทหารเรือของพม่า และเป็นพื้นที่ที่มีการปะทะกันระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยง KNLA และ KNU

ความพยายามที่จะให้โครงการต่างๆ เดินหน้าต่อไปให้ได้ ทำให้เหมือนว่ารัฐบาลทหารพม่าได้รับการยอมรับโดยประเทศที่เข้าไปเข้าร่วมในกิจการลงทุนในพม่า

กองทัพพม่ายังพยายามที่จะเปิดโรงงานผลิตเหล็กลงทุนโดยกลุ่มธุรกิจรัสเซียในย่านชนเผ่าในปะโอ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของธุรกิจกองทัพถูกปิดก่อนหน้านี้ในยุคของรัฐบาลนางอองซาน ซูจี เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่

นอกจากความเสียหายด้านอื่นๆ ยังมีการระบาดของโควิด-19 ในหลายพื้นที่ ไม่สามารถควบคุมได้เพราะขาดการจัดการโดยกลุ่มแพทย์และโรงพยาบาลที่ต่อต้านรัฐบาล


กำลังโหลดความคิดเห็น