แม่ฮ่องสอน - กรมทหารพรานที่ 36 จัดกำลังพลระดมช่วยชาวบ้านท่าตาฝั่งทุกหลังคา 1,085 ชีวิต-โรงเรียนฯ ขุดหลุมหลบภัยสร้างบังเกอร์ เตรียมพร้อมรับผลกระทบพม่ารบกะเหรี่ยงริมฝั่งสาละวินซ้ำ
หลังจากกองกำลังกะเหรี่ยง KNU/KNLA ปะทะกับทหารพม่าในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ตรงข้าม อ.ขุนยวม-อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อย่างรุนแรงเป็นระยะๆตั้งแต่ 27 เม.ย. 64 เป็นต้นมา รวมทั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารได้ประกาศก่อตั้งกองกำลังภาคประชาชนขึ้นทุกพื้นที่เพื่อปฏิบัติการสู้รบกับกองทัพเมียนมา
ซึ่งสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมายังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลงนั้น ส่งผลกระทบต่อชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน โดยเฉพาะบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง ที่อยู่ห่างจากพื้นที่สู้รบระหว่าง KNU/KNLA กับทหารพม่าเพียง 1-2 กม. ประชากรในหมู่บ้าน 1,085 คน ต้องอยู่กันอย่างหวาดผวา เพราะมีกระสุนปืนครกถูกยิงมาตกฝั่งไทยเมื่อ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมาด้วย
ล่าสุด พ.อ.สมรรถชัย แปงสาย ผบ.ฉก.กรมทหารพรานที่ 36 ได้สั่งการกองร้อยทหารพราน 3604 ฐานฯ ท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จัดกำลังพลให้ความช่วยเหลือชาวบ้านท่าตาฝั่ง เพื่อให้ร่วมสร้างหลุมหลบภัยขนาดเล็กหมู่บ้านทุกหลังคาเรือน ครอบครัวละ 2 หลุม
นอกจากนี้ยังช่วยสร้างหลุมหลบภัยขนาด 8×5×1.50 เมตร ให้กับโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง เพื่อเป็นสถานที่ให้นักเรียน 160 คน ที่ใกล้จะเปิดเทอมใหม่ได้หลบภัย เมื่อเกิดกองกำลังชนกลุ่มน้อย KNU ยิงประทะกับทหารเมียนมา และเหตุการณ์ในประเทศเมียนมายังไม่สงบ
นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง เปิดเผยว่า เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จะเปิดทำการเรียนการสอนในเทอมใหม่ ต้องเตรียมสถานที่กำบังเด็กๆ จากสะเก็ดระเบิดที่อาจเป็นอีกหนึ่งผลกระทบจากสงครามในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะทำเป็นกำแพงโอบล้อม มีความหนาของกำแพง 0.25 ม. สูง 1.50 ม. พื้นที่ทั้งหมดรวม 24 ตร.ม. ความกว้าง 3 ม. ความยาว 8 ม. สามารถรองรับได้ถึง 100 คน
แต่ในระยะแรกจะเน้นใช้งานเฉพาะเด็กอนุบาล ประมาณ 30 คน เด็กๆ สามารถหลบอยู่หลังกำแพงเพื่อความปลอดภัย และจะมีตาข่ายเชือกถักคลุมเป็นใยแมงมุม เพื่อป้องกันเศษวัสดุที่อาจหล่นลงตรงที่เด็กๆ อาศัยอยู่ ซึ่งสามารถใช้หลบกำบังชั่วคราวก่อนจะเคลื่อนย้ายไปในพื้นที่ปลอดภัย
พื้นรองรับของเบบี้ บังเกอร์ จะปูพื้นด้วยทราย และใช้ตาข่ายเชื่อมโยงเข้ากับสะพาน บ้านต้นไม้และบันไดป่ายปีนออกไปยังเนื้อที่ต่างๆ นอกจากนี้ กำแพงกันภัย ยังเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ระบายสีและแต่งแต้มรูปทรงตามที่เด็กๆ ชอบใจ ทำให้ลดความตึงเครียด เกิดความผ่อนคลายในสนามชีวิต
นอกจากนี้ยังปรับรูปแบบการเรียนการสอนบนฐาน "ทุนที่เรามี" "บริบทที่เราเป็น" และ "พรุ่งนี้ที่อยากเห็น" ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มากที่สุด เน้นการออกแบบโดยใช้สถานการณ์ (Phenomenon Based Learning) เช่น ในภาวะสงครามเช่นนี้จะสร้างทักษะชีวิตด้านใดให้แก่นักเรียน การพักอาศัยอยู่ในป่าต้องทำอย่างไร รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เป็นต้น และที่นี่สอนได้แต่แบบออนไซด์ เพราะมีเพียงไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ยังไม่เพียงพอ อินเทอร์เน็ตที่สัญญาณต่ำมากไม่เสถียร และยังขาดอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็กอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หากเปิดทำการเรียนการสอนแล้ว แต่ยังคงมีสถานการณ์แทรกซ้อน โรงเรียนมีเป้าหมายหลัก คือ ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เป็นสำคัญ ซึ่งหากเกิดเหตุได้เตรียมแผนรวบรวมพลเรือน อพยพเข้าไปยังจุดรวมพล พร้อมจัดสรรที่พักอาศัยและอาหาร เรียบร้อยแล้ว