xs
xsm
sm
md
lg

พม่า-กะเหรี่ยงปะทะห่างแค่ 1 กิโลฯ! “ร.ร.ท่าตาฝั่ง-แม่สะเรียง” ต้องสอนทักษะเด็กกลางสงคราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม่ฮ่องสอน - โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง ห่างพื้นที่ปะทะกะเหรี่ยง-พม่า ริมสาละวินแค่ 1 กิโลฯ เตรียมแผนการสอนบนฐาน "ทุนที่เรามี-บริบทที่เราเป็น และพรุ่งนี้ที่อยากเห็น" เน้นฟื้นฟูสภาพจิตใจ-สร้างทักษะให้เด็กเอาตัวรอดในภาวะสงครามก่อน


นายสายัญ โพธิ์สุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง เปิดเผยว่า เดิมกระทรวงศึกษาธิการให้เปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 แต่จากการประเมินความพร้อมของโรงเรียน ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์การสู้รบชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ห่างจากโรงเรียนเพียง 1 กิโลเมตร ที่ยังคงมีการปะทะอย่างต่อเนื่องจากกองกำลังทหารพม่า-กะเหรี่ยง KNU/KNLA จึงต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนมีเป้าหมายหลัก คือ ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เป็นสำคัญ ซึ่งหากเปิดเรียนแล้วเกิดเหตุก็ได้เตรียมแผนรวบรวมพลเรือนอพยพเข้าไปยังจุดรวมพล พร้อมจัดสรรที่พักอาศัยและอาหารเรียบร้อยแล้ว

ส่วนแผนการเรียนการสอนจะปรับรูปแบบการเรียนการสอนบนฐาน "ทุนที่เรามี" "บริบทที่เราเป็น" และ "พรุ่งนี้ที่อยากเห็น" ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มากที่สุด เน้นการออกแบบโดยใช้สถานการณ์ (Phenomenon Based Learning) เช่น ในภาวะสงครามเช่นนี้จะสร้างทักษะชีวิตด้านใดให้แก่นักเรียน การพักอาศัยอยู่ในป่าต้องทำอย่างไร รวมถึงการบริหารจัดการเรื่องความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เป็นต้น


นอกจากนี้ ในห้วงที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้ร่วมกับคริสตจักรบ้านท่าตาฝั่งเยียวยาเรื่องสภาพจิตใจของนักเรียน ผู้ปกครอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและเด็กๆ เนื่องจากก่อนหน้านี้เด็กต้องหนีภัยสงคราม ที่ยากกว่านั้นเด็กๆ ต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจ เพราะยังกลัวกับเสียงปืนและระเบิด ครูจึงต้องปรับการสอนฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กอันดับแรก

“ที่นี่สอนได้แต่แบบออนไซต์ เพราะมีเพียงไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ยังไม่เพียงพอ อินเทอร์เน็ตที่สัญญาณต่ำมากไม่เสถียร และยังขาดอุปกรณ์การเรียนสำหรับเด็กอีกจำนวนมาก และขณะนี้เด็กๆ ยังอยู่กับครอบครัว ญาติพี่น้อง ในอนาคตหากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ทางโรงเรียนจะเตรียมความพร้อมเรื่องที่พัก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมให้แก่นักเรียนต่อไป”






กำลังโหลดความคิดเห็น