xs
xsm
sm
md
lg

NGO แฉไทยกดดันผู้หนีภัยกลับพม่าจันทร์นี้ ชี้เมียนมายังไม่สงบ-ริมสาละวินยังมีปะทะ กระสุนตกแม่สะเรียง 3 นัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม่ฮ่องสอน - เอ็นจีโอแฉ ฝ่ายความมั่นคงไทยกดดันผู้หนีภัยกลับพม่า 24 พ.ค.นี้-ปิดกั้นพื้นที่กระทบการช่วยเหลือ ทั้งที่รัฐประหารเมียนมายังไม่สงบ ริมฝั่งสาละวินยังมีปะทะต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน ล่าสุด กระสุนตกฝั่งแม่สะเรียงถึง 3 นัด


นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดน ไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน แถลงข่าวสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา จ.แม่ฮ่องสอน ว่า จนถึงขณะนี้ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ที่ยังอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว จ.แม่ฮ่องสอน 4 จุด จำนวน 1,569 คน

ซึ่งหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 ได้ให้การดูแลในเรื่องของความปลอดภัย และการช่วยเหลือขั้นต้นตามหลักมนุษยธรรม นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และโรคมาลาเรียด้วย ซึ่งหากมีผู้ป่วยก็จะรักษาพยาบาลเบื้องต้น หรือนำส่งโรงพยาบาลในพื้นที่

ส่วนชาวบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง ได้เดินทางมายังตำบล รวบรวมพลเรือนตามแผนการอพยพพลเรือนในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ 153 คน ซึ่งหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 ร่วมกับจังหวัดฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้การช่วยเหลือประชาชนตามแผนการป้องกันฝ่ายพลเรือน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา เกิดการสู้รบระหว่างทหารเมียนมา กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยเชื้อสายกะเหรี่ยง (KNLA) บริเวณฐานด๊ากวิน ฝั่งประเทศเมียนมา ตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง และมีกระสุนไม่ทราบฝ่ายข้ามมาตกยังฝั่งไทย บริเวณพื้นที่ป่าทางทิศเหนือของบ้านท่าตาฝั่ง 3 นัด แต่ไม่มีประชาชนและทรัพย์สินได้รับผลกระทบ

หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 ได้ทำการยิงเตือนด้วยกระสุนควันตามกฎการใช้กำลัง เพื่อเตือนให้สองฝ่ายทราบว่า มีกระสุนมาตกยังฝั่งประเทศไทย รวมทั้งได้ทำหนังสือประท้วงผ่านคณะกรรมการชายแดนท้องถิ่น ไทย-เมียนมา (TBC) อีกทางหนึ่งด้วย


ด้านเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวิน และภาคี ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยพิจารณาการชะลอการส่งกลับ และให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม แก่ผู้หนีภัยความไม่สงบที่พรมแดนไทย-พม่า ริมแม่น้ำสาละวิน โดยระบุว่า สถานการณ์พรมแดนไทย-พม่า ริมแม่น้ำสาละวิน ยังคงความตึงเครียด

ขณะที่ฝ่ายความมั่นคง ยังคงสกัดกั้นการเข้า-ออก ยังชายแดนแม่น้ำสาละวิน เป็นการปิดกั้นเส้นทางการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากกลุ่มบุคคล และองค์กรที่มีความประสงค์ในการช่วยเหลือผู้หนีภัยสงคราม ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ยังคงไม่สามารถเข้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือได้อย่างเปิดเผย ทั้งที่เป็นการส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ สิ่งของจำเป็นเร่งด่วนด้านมนุษยธรรม อาทิ ข้าวสาร อาหาร ยา เวชภัณฑ์ ฯลฯ

ซึ่งส่งผลให้ผู้หนีภัยตามชายแดนมายังฝั่งไทยริมฝั่งน้ำสาละวินจากความไม่สงบ ราว 3 พันคน ต้องมีสภาพการอยู่ที่ลำบาก ต้องทนทุกข์ทรมาน ขาดอาหารและน้ำดื่มสะอาด ที่พักพิงเป็นเพียงเพิงผ้าใบที่ไม่สามารถกันแดดและฝน นอกจากนี้ ยังขาดสุขอนามัยพื้นฐาน เพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพ การระบาดของโรค มีผู้หนีภัยที่ล้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก คนชรา ผู้หญิง

กลุ่มบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ ระบุว่า ยังมีประชาชนที่หนีการโจมตีจากทหารพม่า หลบซ่อนตัวกระจายตามป่าเขาในฝั่งรัฐกะเหรี่ยงอีกไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน ประชาชนเหล่านี้เผชิญกับการโจมตีโดยเครื่องบินรบของทหารพม่า และยังมีการส่งโดรนตรวจการณ์บินลาดตระเวนอยู่ตลอดจนบัดนี้ ประชาชนเหล่านี้จึงยังหวาดกลัว ไม่กล้ากลับเข้าอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ไม่สามารถคืนสู่บ้านเรือนและไร่นาของตนเองได้

สถานการณ์ในฝั่งพม่านับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร เกิดความไม่สงบ เกิดความรุนแรง เข่นฆ่า และบาดเจ็บ ตามที่มีในรายงานข่าว สำหรับพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน ก็เกิดการบุกโจมตีโดยเครื่องบินของทหารพม่าเป็นเดือนที่ 3 แล้ว โดยสถานการณ์ยังไม่ทีท่าว่าจะสงบลงในเวลาอันใกล้ ส่งผลให้ประชาชนต้องอยู่ในความเสี่ยงต่อชีวิต และต่างหวังว่าจะเกิดสันติภาพบนแผ่นดินมาตุภูมิในเร็ววัน

แต่เมื่อวันที่19 พฤษภาคม มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทย เดินทางไปแจ้งผู้หนีภัยจากการสู้รบมาอาศัยอยู่ทางฝั่งไทย ให้เดินทางกลับทั้งหมดภายในวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2564

ในนามของชุมชนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนไทย ขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลไทย พิจารณาแก้ปัญหาวิกฤตมนุษยธรรมโดยเร่งด่วน ดังนี้

1. ขอให้ชะลอการส่งกลับผู้หนีภัยจากการสู้รบชายแดน ทุกจุด จนกว่าจะมีการประเมินสถานการณ์ปลอดภัย เหมาะสม และมีส่วนร่วม ยึดหลักการห้ามผลักดันกลับ 2. ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงเปิดเส้นทางในการเข้าช่วยเหลือเยียวยาด้านมนุษยธรรมในทันที

3. ให้ฝ่ายความมั่นคง มอบภารกิจในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้แก่ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาสังคม องค์สาธารณกุศล ดำเนินการแก้ปัญหา 4. ตั้งคณะกรรมการระดับประเทศ ประกอบด้วยกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานของสหประชาชาติ เช่น UNHCR และประสานกับองค์กรในพม่า ร่วมคลี่คลายปัญหาจากสถานการณ์นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น