xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศไทยจะเป็นไปอย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


แฟ้มภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชา วิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ประเทศไทยในขณะนี้ มีความเห็นกลุ่มกษัตริย์นิยม (Royalist) และกลุ่มปฏิกษัตริย์นิยม (Anti-royalist) หรือแบ่งออกเป็นสองขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความจำเป็นหรือการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นคำถามที่ไม่เคยต้องถามกันมาก่อนในสังคมไทย

คำถามเช่นนี้เคยถามกันมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2475 เมื่อคณะราษฎรปฏิวัติยึดอำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ (ที่อ้างว่า) ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คณะราษฎรแบ่งออกเป็นสองฝ่ายสำหรับความเห็นในเรื่องการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ คณะราษฎรฝ่ายทหารสายฝรั่งเศส อันมีจอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นแกนนำมีความเห็นว่าต้องกำจัดล้มล้างสมาชิกในราชวงศ์จักรีให้หมดไป เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟเมื่อเกิดการปฏิวัติบอลเชวิคและเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐในทันที ในขณะที่สมาชิกคณะราษฎรส่วนใหญ่ ยังมีความจงรักภักดีในระดับหนึ่ง ด้วยกลัวเสียน้ำพระพิพัฒน์สัตยามาก่อน ทั้งเห็นว่าสถาบันยังมีบารมีสูงมาก หากแตกหักการปกครองบ้านเมืองจะไปต่อไม่ได้

มาในปี สองปีนี้ ขบวนการล้มล้างต่อต้านสถาบัน สามารถยุยงปลุกระดมด้วยสงครามไซเบอร์จนเกิดการต่อต้านสถาบัน ใส่ร้ายป้ายสีสถาบันอย่างมากมาย มีคนเนรคุณสองแผ่นดิน สามสัส เป็นแกนนำอยู่เบื้องหลังเด็ก ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทำลายสถาบัน แสดงพฤติกรรมต่อต้านต้องการล้มสถาบัน ต้องการสาธารณรัฐ รับเงินจากต่างชาติมหาอำนาจเข้ามาเคลื่อนไหว เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การชูธงอุยกูร์ ซินเจียง ตะโกนคำว่า ฟรีทิเบต และฟรีฮ่องกง และไต้หวันเป็นประเทศเอกราช ชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้านอย่างชัดเจน

เรื่องการต่อต้านสถาบันนี้ มักเกิดขึ้นในตอนต้นรัชกาล หรือตอนปลายรัชกาล เป็นประจำ ในแผ่นดินก่อน พระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ทรงต้องพบกับการต่อต้านสถาบันตอนต้นรัชกาลอย่างรุนแรง จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยึดอำนาจจากจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ทำให้ในหลวง ร. 9 ทรงงานเพื่อประชาชนได้ราบรื่น และทำให้สามารถเสด็จไปเยือนต่างประเทศเพื่อเจริญพระราชไมตรีได้ ซึ่งเป็นคุณอนันต์กับประเทศไทยในกาลต่อมา

ผมขอลองฉายภาพตามความรู้เท่าที่มี ว่าถ้าหากประเทศไทยไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ดังนี้

ข้อแรก นักการเมืองและข้าราชการประจำจะกร่างมาก สถาบันเป็นด่านสุดท้ายที่ไม่ทรงยอมโปรดเกล้านักการเมืองเลวหรือลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าข้าราชการเลว ๆ แม้จะไม่ได้ทรงใช้พระราชอำนาจพิเศษ เหล่านี้มากนัก แต่ก็เป็นด่านที่นักการเมืองและข้าราชการเลว ๆ เกรงกลัว

ข้อสอง นักการเมืองและข้าราชการประจำจะประพฤติตัวเลว โกงกิน ทุจริต คอรัปชั่นหนักขึ้นมาก ด่านสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรมหรือการร้องทุกข์ของราษฎรคือการถวายฎีกา แต่หลายกรณีก็ได้รับพระมหากรุณาปัดเป่าทรงช่วยเหลือ ข้าราชการที่ดีและนักการเมืองดีก็มีกำลังใจในการทำงาน อย่างน้อยก็รู้ว่าฟ้ามีตา สวรรค์มีใจ และทุกสิ่งอย่างยังอยู่ในพระเนตรพระกรรณ

ข้อสาม นักการเมืองจะทะเลาะตบตีกันหนักมากจนไม่มีใครฟังใคร ประชาชนจะถูกยุยงปลุกปั่นให้ออกมาทะเลาะกันรุนแรงเพื่อผลประโยชน์แต่ละฝ่าย โดยไม่มีใครยอมใคร ไม่มีใครฟังใคร บ้านเมืองจะวุ่นวายมาก เพราะขาดผู้ที่มีบารมีพอที่ทุกคนเต็มใจฟัง และยอมให้ ดีไม่ดีจะตีกันตายจนเกิดสงครามกลางเมือง

ข้อสี่ ประชาชนจะเคว้งขว้าง ขาดศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจ ความคิดในการเสียสละทำเพื่อบ้านเมืองจะลดลงมาก มีความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น คนที่คิดทำเพื่อผู้อื่นจะอยู่ยาก ไม่มี role model และไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่อใคร ไร้เป้าหมายที่จะปกป้อง ไร้แรงบันดาลใจในการทำความดีเท่าที่ควร

ข้อห้า ประเทศไทยจะแตกออกเป็นประเทศหลายประเทศ ไทยเหนือ ไทยใต้ ต่างชาติจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย แผ่นดินไทยจะร้อนระอุไม่ได้แตกต่างจากหลาย ๆ ประเทศที่สิ้นชาติ หรือแบ่งออกเป็นหลาย ๆ ประเทศ แน่นอนว่าชาติมหาอำนาจย่อมหวังเข้ามาแทรกแซงไทย หลาย ๆ ประเทศเมื่อสิ้นสถาบันแล้วมหาอำนาจก็เข้ามาครอบงำ ทำให้ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของชาติมหาอำนาจตลอดเวลา

ภาพที่ผมฉายให้เห็นนี้ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย