ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชา วิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
โครงการพระราชดำริในรัชกาลก่อน มีอยู่กว่าสี่พันกว่าโครงการ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทราบดีว่าหน่วยราชการหลายแห่งจะทำอะไรก็ล่าช้า และไม่ทราบความต้องการของประชาชน ติดขัดที่ระเบียบราชการ ทรงโปรดทำงานแบบโง่ (NGO) ที่มีความคล่องตัว ทรงใช้คำนี้จริงๆ ด้วยพระราชอารมณ์ขัน และทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งต้นทำโครงการพระราชดำริต่างๆ ไปก่อนที่หน่วยราชการจะเข้ามารับสนองพระราชดำริทำงานถวายแทบจะทั้งหมด
ยิ่งในช่วงต้นรัชกาล ไม่ทรงมีพระราชอำนาจใด ๆ เลย จอมพล ป พิบูลสงคราม ไม่สนับสนุนและเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันอย่างชัดเจน แต่ก็ทรงงานโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ไปด้วยพระองค์เองตามลำพัง จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเริ่มมีการสนองพระราชดำริในการทรงงานโครงการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นว่าการปล่อยให้พระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงงานโครงการพระราชดำริมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน สมควรที่รัฐบาลและหน่วยราชการต่างๆ ควรรับสนองพระราชดำริเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระ จึงเกิดการตั้งสำนักงาน กปร. ขึ้น กปร. คือ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยประสานงานหน่วยราชการเพื่อทำโครงการพระราชดำริต่าง ๆ ถวาย
งบประมาณแผ่นดินเพื่อโครงการพระราชดำริ จำนวนสี่พันโครงการนั้น ก็ทำไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน และมีหน่วยราชการทำงานนั้น ๆ ถวายเป็นเจ้าภาพ แต่พระราชดำริสำคัญในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลคือ โครงการพระราชดำริใดสำเร็จแล้ว ให้กลับไปอยู่ในความดูแลบำรุงรักษา ของหน่วยราชการ ไม่ได้ทรงดูแลจัดการด้วยพระองค์เองหากทำได้สำเร็จแล้ว ไม่ได้ให้สำนักงาน กปร. เป็นคนดูแลด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นโครงการพระราชดำริ เก็บน้ำจากเขาใหญ่ ปราจีนบุรี นครราชสีมา และนครนายก ป้องกันน้ำท่วมนครนายก ปราจีนบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพ ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ชลประทานเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ โครงการสร้างเขื่อนนี้สำเร็จแล้ว เป็นประโยชน์มหาศาล แต่ต้องมีค่าดูแลบำรุงรักษา ซึ่งกรมชลประทานเป็นเจ้าภาพ รับสนองพระราชดำริดูแลต่อ
งบประมาณดูแลบำรุงรักษาเขื่อนขุนด่านปราการชล สมมุติว่าปีละ 50 ล้านบาท ไม่ใช่งบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป และไม่เคยใช่ด้วย เพราะงบประมาณในการสร้างเขื่อนย่อมต้องเป็นกรมชลประทานขอมาสร้างสนองพระราชดำริ การดูแลรักษาก็เป็นของกรมชลประทาน ประเทศชาติได้ประโยชน์ ประชาชนได้ประโยชน์
ในหลวง สำนักพระราชวัง สำนักงาน กปร. ไม่ได้มีโอกาสอะไรที่จะใช้เงินเหล่านี้เพื่อตัวเองหรือเพื่อหน่วยงานของตนเองเลย แต่เงินงบประมาณแผ่นดินเหล่านี้ใช้ไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน
หากไม่มีงบประมาณในการบำรุง ดูแลรักษาต่อยอด โครงการพระราชดำริเหล่านี้ ใครจะเดือดร้อน คำตอบคือประเทศชาติและประชาชน เขื่อนที่ไม่มีหน่วยงานดูแล จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เกิดหายนะภัย อุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาอื่น ๆ ได้อีกมากมาย และผมก็เชื่อว่าโครงการพระราชดำริที่ทำสำเร็จแล้ว แต่ต้องบำรุงดูแลรักษาก็มีมากถึงสี่พันโครงการ
การใส่ร้ายป้ายสีสถาบัน ด้วยการรวมงบจากหลายร้อยหลายพันหน่วยงาน ที่เป็นโครงการพระราชดำริ มาเป็นงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่น่าจะประสงค์ดีใดๆ ต่อสถาบัน แต่ต้องการใส่ร้ายว่าสถาบันใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจากภาษีกูทำงานของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่เป็นงานของหน่วยราชการต่างๆ และเป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน จึงเป็นเรื่องของคนที่ไม่หวังต่อสถาบัน และไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง
คนที่มีความคิดวิจารณญาณ (Critical thinking) มีสติปัญญา ปราศจากอคติ ย่อมสามารถคิดและวิเคราะห์ได้ว่า มีนักการเมืองเลวๆ ประสงค์ร้ายต่อชาติบ้านเมือง อย่าให้ราคา และอย่าไปสนใจ ไม่ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จที่ต้องการใส่ร้ายสถาบัน
แม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เกิดจากพระราชดำริในรัชกาลที่ 5 ถ้าอย่างนั้นก็ต้องรวมงบประมาณของจุฬาเข้าไปด้วยเป็นงบประมาณโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอย่างนั้นหรือ?
อันที่จริง โครงการพระราชดำริของในหลวง ร.9 ได้ช่วยชาติบ้านเมืองและประชาชนมามากมาย น่าเสียดายที่คนเนรคุณเหล่านี้และพรรคพวกของคนเนรคุณสองแผ่นดิน หาได้มีความสำนึกและความกตัญญูกตเวทิตาอย่างแท้จริงไม่ หากแต่แอบอ้างว่าจงรักภักดี แต่เสี้ยมแซะทำร้ายและใส่ร้ายสถาบันตลอดเวลาที่มีโอกาส คนเหล่านี้สุดท้ายจะไม่ได้ตายดีและจะไม่มีแผ่นดินอยู่