พบ 8 แอกเคานต์ “ล้มเจ้า” สุดเหิม ไม่กลัว “ดีอีเอส” ท้าทาย “คำสั่งศาล” ยัง “ลอยนวล” หมิ่นเบื้องสูงเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น รู้แล้วใคร.. เด็กหนุ่มชูป้ายชี้แจงงบสถาบันกลางสกายวอล์ก ที่ชาวเน็ตแห่ชื่นชม ระบุ บิดเบือนมา 10 ปีแล้ว
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (4 มิ.ย. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ข้อความระบุว่า
“ยังลอยนวลเป็นแถว ดีอีเอสหน้าเสีย? 8 แอกเคานต์ “บ่อนทำลายชาติ” ไม่สนคำสั่งศาลลบบัญชี ท้าทายโพสต์พาดพิงสถาบัน!!
#ดีอีเอสหน้าเสีย #8 แอคเคาท์ #บ่อนทำลายชาติ
ทั้งนี้ เนื้อหาจาก TRUTHFORYOU.CO มีรายละเอียดว่า
“หลังจากเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาเปิดเผยว่า ได้เชิญผู้ให้บริการมารับทราบคำสั่งศาลที่มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์บัญชีผู้ใช้บริการในเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และรหัสประจำตัวผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก (Facebook ID) และข้อมูลหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP ADDRESS) ที่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เชื่อมโยงบัญชีผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก จำนวน 8 บัญชี ออกจากระบบคอมพิวเตอร์
ได้แก่ 1. Pavin Chachavalpongpun 2. Andrew MacGregor Marshall 3. รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง 4. Suda Rangkupan 5. ป้าหนิง DK 6. Aum Neko 7. KTUK - คนไทยยูเค และ 8. Pixel HELPER ซึ่งขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องระงับการแพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14(2) (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามคำสั่งศาลโดยรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากมีเหตุล่าช้าก็ต้องดำเนินการภายใน 24 ชั่วโมงล่าสุด ปรากฏว่า บัญชีทั้ง 8 แอกเคานต์ยังเคลื่อนไหวโพสต์ข้อความต่างๆ และมีการพาดพิงสถาบันฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง ที่ไม่ได้ปิดกลุ่ม อย่างในเฟซบุ๊กของ Suda Rangkupan ได้เคลื่อนไหวโจมตีเรื่องวัคซีนจากแอสตราฯ ว่า สถาบันมีส่วนเกี่ยวข้อง, บัญชีของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ โพสต์รูปธงในหลวง ร.๙ และธงพระพันปี พร้อมด้วยข้อความในทำนองพาดพิง
ส่วนเฟซบุ๊กของ Andrew MacGregor Marshall ได้โพสต์ข้อความ หลังจากมีข่าวสั่งลบบัญชี ว่า ผมถามชัยวุฒิว่าทําไมยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เขาไม่ตอบกลับ
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทำให้สังคมเกิดขึ้นถามว่า นายชัยวุฒิ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะมีวิธีดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะทั้ง 8 บัญชียังคงอยู่ โดยโพสต์สร้างกระแสป่วนอย่างต่อเนื่อง และมีการพาดพิงสถาบันฯ หากทำไม่ได้ หรือไม่เอาจริง แน่นอนว่าประชาชนจำนวนมากจับตาดูอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะที่มีตำแหน่งดูแลเรื่องนี้โดยตรงด้วย”
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH เช่นกัน โพสต์ข้อความระบุว่า
“รู้แล้วใคร? เด็กหนุ่มยืนชูป้ายแจงความจริงงบสถาบันฯกลางสกายวอล์ก พร้อมเปิดใจถึงพระมหากษัตริย์
โดยรายละเอียด ระบุว่า “จากกรณี เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 ในส่วนงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ค่อนข้างจะมีความคลาดเคลื่อน และไม่เป็นความจริงนั้น???
ต่อมา ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ข้อความอธิบายถึงงบประมาณดังกล่าวไว้บางช่วงที่น่าสนใจว่า
สามหมื่นกว่าล้านจริงหรือ? งบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ ชื่องบประมาณที่ถูกต้อง เรียกว่า “งบประมาณส่วนราชการในพระองค์”
1. งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ ตั้งขึ้นโดยสำนักงบประมาณเหมือนกับงบประมาณอื่นๆ 2. งบประมาณส่วนราชในพระองค์ เดิมอยู่ที่หกพันล้านบาท แต่มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็นแปดพันล้านบาท เนื่องจากงบที่ตามมาพร้อมกับการถ่ายโอนกำลังพล งบประมาณส่วนราชการในพระองค์จึงไม่ได้แตกต่างจากงบส่วนราชการอื่นๆ ที่จำนวนอัตราของข้าราชการถูกจำกัดและควบคุมโดยกฎเกณฑ์ของสำนักงานข้าราชการพลเรือน หรือ สำนักงาน ก.พ.
3. งบประมาณส่วนราชการในพระองค์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.25% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ครอบคลุมค่าใช้จ่าย 3 ด้าน ค่าดำเนินการ ค่าจ้างเงินเดือนบุคลากรประมาณ 14,000 คน และค่าสาธารณูปโภค 4. งบประมาณที่ถูกเหมารวมจนกลายเป็นสามหมื่นกว่าล้านบาท เป็นงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ที่ตั้งงบขึ้นมาโดยการอ้างถึงสถาบันฯ แล้วนำไปใช้เองภายในกิจการของกระทรวงนั้นๆ
5. งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ไม่เพียงพอต่อการใช้จริง รายได้ของข้าราชการในพระองค์บางส่วน จึงมาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และจะประดับ อินทรธนู ททน ซึ่งย่อมาจาก “เงินท้ายที่นั่ง”
การปั่นกระแสบิดเบือนโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ในประเด็นงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ จึงเป็นการจงใจสร้างความเข้าใจผิด เพื่อก่อให้เกิดความเกลียดชังและความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
น่าสงสัยว่า กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการปั่นกระแสบิดเบือนนี้ กำลังปั่นหัวคนรุ่นใหม่ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเป็นขบวนการ เพื่อหวังบิดเบือนให้ร้าย บ่อนทำลายความศรัทธา นำไปสู่การต่อต้านและโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ เลียนแบบการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ป่าเถื่อนหรือไม่?
แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับการบิดเบือนให้ร้ายงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ 0.25% ที่สร้างอาชีพให้กว่า 14,000 ชีวิต เอาเวลาไปสนใจงบประมาณอีก 99.75% กับการบริหารของนักการเมืองไม่ดีกว่าหรือ?
ล่าสุด วันนี้ (4 มิถุนายน 2564) ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) ได้แชร์ข้อความพร้อมภาพเกี่ยวกับงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์เอาไว้ ทำให้มีคนเข้ามาร่วมแสดงความเห็นชื่นชมกันเป็นจำนวนมาก อาทิ
“ขอบคุณคุณ Pasakorn_Ton_Kongsakorn และขอบคุณอาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ที่แชร์จ้า โอ้โห จ้องมอง ด้วยความภาคภูมิใจ เห็นเหมือนกันไหมคะ ความจริงเป็นสิ่งที่ต้องเผย น้องหล่อมาก ทั้งกาย และใจ แถมสติ เยี่ยม แยกแยะได้ สมเป็นคนรุ่นใหม่ เต็มด้วยคุณภาพ PRIDE นอกจากจะเป็นเดือนของคนคิดต่าง แต่ คิดต่าง และเห็นความจริง นั่นค่ะคือความภาคภูมิใจขอบคุณที่เผยแพร่ความจริง #TeamThailand_เรารักสถาบัน”
“ขอบคุณคนรุ่นใหม่ ที่ศึกษาเรียนรู้ความจริง”
“ขอบคุณน้องๆ ไทรักษา”
“ภูมิใจและชื่นชมนะคะ ลูกหลานคนไทยต้องไม่โง่ค่ะ มีสมองไม่ปล่อยให้คนมาปั่นหัว กุข่าวบิดเบือน มั่วข่าวตลอด ขอบคุณนะคะ อนาคตของไทยพอมีหวังอยู่”
ด้วยเหตุนี้ที่ทำให้ทีมข่าวเดอะทรูธ ตรวจสอบว่า บุคคลที่ไปยืนแสดงออกปกป้องสถาบันนั้นเป็นใคร มาจากไหน ซึ่งจากการเข้าไปตรวจสอบที่เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า ไทรักษา ก็พบข้อความและภาพของเหตุการณ์ที่กำลังพูดถึงกันดังนี้
ไทรักษา อยู่ที่ สกาย วอล์ก สนามกีฬา-สยาม
“นับ 10 ปีแล้ว ที่ขบวนการทำลายสถาบัน ใช้เรื่องงบสถาบันพระมหากษัตริย์ เอามาบิดเบือนให้ร้าย!! หลอกคนให้เข้าใจผิด สร้างความเกลียดชังสถาบันแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง แต่กลับไม่มีการลุกขึ้นมาต่อสู้และโต้แย้งอย่างเป็นรูปธรรมเลย
ต่อไปนี้พวกเราทุกคนจงลุกขึ้นมาสู้เรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ใช้หลักการตลาดช่วยในเผยแพร่ เอาข้อมูลที่ถูกต้องนี้ไปบอกกับประชาชนทั้งประเทศว่า …. งบสถาบันที่เป็นเงินภาษีของประชาชน ไม่ใช่เงินรายได้ส่วนตัวของพระมหากษัตริย์
อย่างที่พวกเขาหลอกลวงพวกเรามาตลอด พวกมันดูถูกสติปัญญาผู้คนมานานเกินพอแล้ว จงลุกขึ้นมาด้วยกัน แพร่กระจายข้อความในสารนี้ออกไป เพื่อรักษาความถูกต้องเอาไว้ ก่อนที่พวกมันจะทำลายจนหมดสิ้น เพราะฉะนั้นอย่าหยุดที่จะทำ อย่าหยุดที่พูดความจริง #สถาบันพระมหากษัตริย์ #ควรได้รับความเป็นธรรม”
แน่นอน, นี่คือ ภาพสะท้อนสองด้านระหว่าง กลุ่มคนที่ต้องการล้มล้างสถาบันฯ กับ กลุ่มคนที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ
สำหรับ กลุ่มล้มเจ้า หรือ ต้องการล้มล้างสถาบันฯนั้น นอกจากกลุ่มคนที่ยากเอาผิด เพราะเงื้อมมือกฎหมายยากเอื้อมถึงแล้ว กลุ่มพวกนี้จะแสดงออกอย่างชัดเจน ไม่เกรงกลัวความผิด เพราะถือว่า ตัวเองอยู่นอกราชอาณาจักร และส่วนใหญ่ก็คือ ผู้ลี้ภัย คดี ม.112 ในต่างประเทศนั่นเอง
ส่วนที่มีการเคลื่อนไหวในประเทศ มักอ้างเหตุผลต้องการ “ปฏิรูปสถาบันฯ” สอดรับกับม็อบเยาวชนปลดแอก หรือ ม็อบราษฎร 2563 ทว่า พฤติกรรมการตรวจสอบสถาบันฯ ก็ทำให้เห็นชัดว่า มีเป้าหมายอะไร โดยเฉพาะพรรคการเมืองบางพรรค ที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของม็อบราษฎร ราวกับเป็นพรรคพวกเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนหนึ่งด้วย
ด้านกลุ่มปกป้องสถาบัน ส่วนใหญ่เริ่มรวมกลุ่ม และแสดงออกอย่างชัดเจน หลังจากม็อบคณะราษฎร มีการล่วงละเมิดสถาบันรุนแรงขึ้น ทั้งการปราศรัยในที่ชุมนุม และการโพสต์ข้อความและภาพผ่านสังคมออนไลน์ ทั้ง ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ จนดูเหมือนเป็นเรื่องเล่น เรื่องปกติไปแล้ว ทั้งที่เป็นความผิดต่อสถาบัน ตาม ป.อาญา ม.112 (หมิ่นสถาบัน) จนคนไทยที่มีความจงรักภักดีสุดที่จะทน ดังตัวอย่างที่กล่าวแล้ว
เหนืออื่นใด สิ่งที่สะท้อนให้เห็น ยังดูเหมือนว่า รัฐบาล “ลุงตู่” โดย กระทรวง “ดีอีเอส” ไม่สามารถทำอะไรกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายหลักในการปราบปรามได้ ทั้งที่ชัดเจนแล้วว่า คนกลุ่มนี้ มีส่วนอย่างมากในการปลุกปั่นยุยงเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้หลงผิดเกี่ยวกับสถาบัน จนทำให้คนไทยบางส่วนเริ่มมองว่า รัฐบาลไม่มีน้ำยาที่จะปราบปรามได้ จึงพยายามที่จะปลุกเร้าประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบัน ให้แสดงออกและตอบโต้ด้วยตัวเอง จนน่ากลัวว่า ที่สุดอาจนำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงของคนสองส่วนนี้ตามมา อย่าลืมว่า เมื่อฟางเส้นสุดท้ายมาถึง อะไรก็เกิดขึ้นได้ หรือว่าไม่จริง?