xs
xsm
sm
md
lg

สวรรคตปริศนา ร.๘ คดีที่ยังปิดไม่สนิท! วิกฤติราชบัลลังก์ที่ผ่านพ้นด้วยความกล้าหาญของ ร.๙!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งทรงศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์จึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทยในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ พร้อมพระราชชนนี ซึ่งเปรียบดังน้ำทิพย์ชโลมใจชาวไทยให้ต่อสู้กับภาวะลำเค็ญที่เกิดขึ้นหลังสงคราม

ทรงออกเยี่ยมราษฎรและหน่วยทหาร เสด็จออกรับการตรวจพลสวนสนามในฐานะองค์พระประมุข ร่วมกับ ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตเตน ผู้บัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของสัมพันธมิตรที่มาเยือนไทย ทำให้ความรู้สึกว่าประเทศไทยถูกยึดครองหมดไปทันที ทุกคนต่างมีขวัญกำลังใจที่จะเผชิญกับความวิกฤตอย่างมั่นใจ

ในขณะนั้นจีนเป็น ๑ ใน ๕ ชาติมหาอำนาจที่เป็นฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้คนจีนในไทยบางกลุ่มสำคัญผิด ข่มขู่เรียกร้องสิทธิจากรัฐบาลไทย ตั้งกลุ่มขึ้น“เลี๊ยะพะ”ทำร้ายคนไทย จนเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่เยาวราชในปลายปี ๒๔๘๘ ใช้อาวุธเข้าประหัตประหารกัน รัฐบาลจึงต้องใช้กำลังทหารเข้ายื่นคำขาดให้วางอาวุธ เหตุการณ์ร้ายจึงสงบ

เมื่อทรงทราบข้อบาดหมางระหว่างคนไทยกับคนจีน ด้วยความห่วงใยพสกนิกรทุกหมู่เหล่า จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสมานไมตรีให้แนบแน่นเช่นเดิม ทรงเสด็จไปสำเพ็งอย่างเป็นทางการพร้อมสมเด็จพระอนุชาในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ซึ่งยังความปลาบปลื้มให้คนจีนเป็นล้นพ้น ทำให้บรรยากาศร้าวฉานหมดไป

แต่แล้วหลังจากประทับอยู่ในเมืองไทย ๖ เดือนกับ ๕ วัน ก่อนมีหมายกำหนดการจะเสด็จกลับไปศึกษาต่อปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ ก็ได้เกิดเสียงปืนดังขึ้นในห้องพระบรรทมทม ณ พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวังในเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น.ของวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นเสมือนอสุนีบาตฟาดลงกลางใจของไทยทั้งประเทศ รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ว่า

“ด้วยนับตั้งแต่แต่วันที่ ๒ มิถุนายน ศกนี้ เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เริ่มทรงประชวรเกี่ยวกับพระนาภีไม่ปกติ และทรงเหน็ดเหนื่อยไม่มีพระกำลัง แม้กระนั้นก็ดี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จประพาสเยี่ยมเยียนราษฎรอันเป็นพระราชกิจของพระองค์ ครั้นต่อมาพระอาการเกี่ยวกับพระนาภีก็ยังมิได้ทุเลา จึงต้องเสด็จประทับอยู่แต่บนพระที่นั่ง มิได้เสด็จออกงานตามหมายกำหนดการ ครั้นวันที่ ๙ ศกนี้ ตอนเช้าเวลา ๖ นาฬิกา ได้เสวยพระโอสถน้ำมันละหุ่ง แล้วเข้าห้องสรงซึ่งเป็นพระราชกิจประจำวัน แล้วเสด็จเข้าพระที่ ครั้นเวลาประมาณ ๙ นาฬิกา มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนบนพระที่นั่ง จึงรีบเข้าไปดู เห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ มีโลหิตไหลเปื้อนพระองค์และสวรรคตเสียแล้ว มหาดเล็กห้องพระบรรทมจึงไปกราบทูลสมเด็จพระราชชนนีให้ทางทราบ แล้วเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ ต่อนั้นมามีพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ได้เข้าไปกราบถวายบังคม และอธิบดีกรมตำรวจกับอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ไปตรวจพระบรมศพและสอบสวน สันนิษฐานว่า คงจะทรงจับคลำปืนพระแสงตามพระราชอัธยาศัยที่ทรงชอบ แล้วเกิดอุปัทวเหตุขึ้น”

แถลงการณ์ฉบับนี้ไม่อาจคลายความข้องใจของประชาชนทั่วไปได้ หลายคนไม่เชื่อคำแถลงการณ์ จึงเกิดกระแสข่าวลือต่างๆขึ้น เมฆหมอกแห่งความมืดครึ้มปกคลุมไปทั่วประเทศ และเต็มไปด้วยสีดำจากการไว้ทุกข์อย่างพร้อมเพรียงของคนทุกระดับ

ในที่สุดรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนพฤติกรรมการสวรรคตขึ้นในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ฝ่ายตำรวจได้ตั้งกรรมการแพทย์ทำการชัณสูตรพระบรมศพขึ้น ๒๑ นาย มีพลตรี พระยาดำรงแพทยคุณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นประธานกรรมการ ประกอบด้วยแพทย์ไทย ๑๕ คน แพทย์ต่างประเทศ ๑ คน และตำรวจผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืน ๑ คน ต่อมาได้รายงานต่อ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีที่เข้ารับตำแหน่งแทน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ลาออกเพื่อรับผิดชอบในกรณีสวรรคตว่า

“คณะกรรมการเห็นว่า ในกรณีอันจะพึงเป็นต้นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตได้นั้น สำหรับกรณีอุบัติเหตุ คณะกรรมการมองไม่เห็นทางว่าจะเป็นไปได้เลย ส่วนอีกสองกรณีคือ ถูกลอบปลงพระชนม์และปลงพระชนม์เองนั้น การถูกลอบปลงพระชนม์ไม่มีหลักฐานและเหตุผลที่แน่นอนแสดงว่าจะเป็นไปได้ แต่ไม่สามารถจะตัดออกเสียโดยสิ้นเชิง เพราะว่ายังมีท่าทางของพระบรมศพค้านอยู่ ส่วนในกรณีปลงพระชนม์เองนั้น ลักษณะของบาดแผลแสดงว่าเป็นไปได้ แต่ไม่ปรากฏเหตุผลหรือหลักฐานอย่างใดว่าได้เป็นเช่นนั้นโดยแน่ชัด คณะกรรมการจึงไม่สามารถที่จะชี้ขาดว่าเป็นกรณีหนึ่งกรณีใดในสองกรณี ทั้งนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการสืบสวนและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป”

สรุปว่า ไม่อาจชี้ชัดลงได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดแน่ แม้ต่อมาในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๗ ศาลฎีกาจะตัดสินให้ประหารชีวิตจำเลย ๓ คนในคดีลอบปลงพระชนม์ แต่ก็ยังไม่อาจคลายความมืดมนของคดีนี้ได้

ในคืนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต รัฐสภาได้เปิดประชุมฉุกเฉินเพื่อเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เถลิงราชย์สมบัติเป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อลงมติแล้ว ที่ประชุมได้ถวายพระพรด้วยการยืนขึ้นเปล่งเสียงไชโยโดยพร้อมเพรียงกัน แต่กระนั้นก็ยังหวั่นเกรงกันทั่วไปว่า สมเด็จพระราชชนนีจะไม่ทรงยินยอมให้พระราชโอรสซึ่งเหลืออยู่พระองค์เดียวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้กราบทูลสมเด็จพระบรมราชชนนีถึงมติของรัฐสภา สมเด็จพระบรมราชชนนีได้มีพระราชดำรัสถามพระราชโอรสว่า

“รับไหมลูก?”

ขณะนั้นกรณีสวรรคตเป็นคดีอึมครึมที่หาสาเหตุไม่ได้ และเป็นเรื่องที่น่าวิตก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบเพียงสั้นๆว่า

“รับ”

คำสั้นๆ คำนี้นับว่าเป็นความกล้าหาญและเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทย ทำให้ขวัญกำลังใจกลับคืนมา แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความห่วงใยต่อพสกนิกร ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบต่อพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๙ ในราชวงศ์จักรี ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”

วันที่ ๙ มิถุนายนนี้ จึงเป็นวันที่เป็นมงคลยิ่งวันหนึ่งชาวไทย และในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ยาวนานกว่ากษัตริย์ทุกพระองค์ในโลก ทั้งยังทรงเป็นที่ยอมรับทั่วไปในนานาประเทศว่า เป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดเพื่อความสุขของพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า จนมีคำกล่าวว่า “คนไทยโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ผู้มีคุณอันประเสริฐ” หรือ “ทรงเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์”
.
ในโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้ ประชาชนชาวไทย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จึงพร้อมใจกันจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีขึ้นในวันที่ ๘-๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๙ ประเทศที่มีสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินี ตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลไทย เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสนี้อย่างเป็นทางการจำนวน ๒๕ ประเทศ จาก ๒๙ ประเทศในโลก โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาด้วยพระองค์เองเป็นจำนวน ๑๓ ประเทศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งผู้แทนพระองค์ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน ๑๒ ประเทศ นับเป็นการชุมนุมพระประมุขจากประเทศต่างๆ มากที่สุดในโลก งานนี้จึงทำให้สายตาของชาวโลกพุ่งมาที่ประเทศไทย
.
นอกจากภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจที่มีโอกาสได้เห็น สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินี พระมุขของประเทศต่างๆมาชุมนุมอยู่ในงานนี้มากที่สุด ได้เห็นกระบวนเรือเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ซึ่งแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมอันสูงส่งของไทยที่มีมาแต่โบราณกาลแล้ว ชาวโลกยังได้ตื่นตลึงยิ่งขึ้นในวันที่ ๙ มิถุนายน ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออกสีหบัญชรพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงรับการถวายพระพร มีประชาชนสวมเสื้อสีเหลืองโดยพร้อมเพรียงกัน เข้าเฝ้าถวายพระพรจนล้นลานพระบรมรูปทรงม้า แออัดไปตามถนนราชดำเนินจนสุดสายตา ทำให้เกิดคำถามขึ้นทั่วโลกว่า “ทำไมคนไทยถึงได้รักพระมหากษัตริย์ของเขาถึงเพียงนี้” ซึ่งได้ตอกย้ำให้คนไทยได้สำนึกอีกครั้งว่า เราโชคดีที่สุดแล้วที่ได้เกิดในประเทศนี้ ใต้ร่มพระบรมสมภารของพระมหากษัตริย์ผู้มีคุณอันประเสริฐ และทรงเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์