คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งกำลังรณรงค์ย้ายประเทศกัน ส่วนตัวผมคิดว่า เราควรจะสนับสนุนมากกว่าจะไปคัดค้าน เพราะเป็นสิทธิและอิสรภาพของเขาที่จะดำรงอยู่บนแผ่นดินไหนก็ได้ในโลกนี้ ห่วงก็แต่ว่า ความหวังของพวกเขาจะเป็นจริงไหม และมีสักกี่คนที่จะดำรงอยู่ต่างแผ่นดินเกิดได้อย่างมีความสุข
จริงๆ แล้วผมก็เป็นลูกหลานของคนอพยพที่จากบ้านเกิดเมืองนอนมาเพื่อหาชีวิตที่ดีกว่าบนแผ่นดินไทย ปู่เป็นคนจีนมาจากเมืองซื่อฮุ้ย (四会) ในกวางตุ้ง ลงเรือมาขึ้นที่เกาะปีนัง ก่อนจะย้ายเข้ามาแผ่นดินไทย ส่วนฝั่งแม่ก็เป็นคนไทยที่อยู่บนแผ่นดินนี้อยู่ก่อน แต่อาจจะมาจากที่อื่นเพราะการอพยพไปมาของมนุษย์ก่อนที่จะปักหลักถาวรย่อมจะเคลื่อนไหลไปตามแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์กว่า
แน่นอนคนในยุคนั้นหลีกหนีความยากจนข้นแค้นจากแผ่นดินเกิด เพื่อจะหาแผ่นดินยังชีพที่ดีกว่า และเมืองไทยเป็นเมืองที่มีชาวจีนโพ้นทะเลมากที่สุดในโลก และเป็นแผ่นดินที่คนจีนสามารถกลมกลืนอยู่กับคนที่อยู่มาก่อนได้ดีที่สุด เพราะมีความคิดความเชื่อและอารยธรรมที่ใกล้เคียงกัน
ยุคหนึ่งคนไทยจำนวนมากก็อพยพไปหากินที่อเมริกาไปเป็นโรบินฮู้ด ทำงานใช้แรงงานแลกข้าวต่างเหงื่อด้วยค่าแรงที่สูงกว่าในประเทศ ทำงานเสิร์ฟในร้านอาหาร เป็นผู้ช่วยในครัว แบบต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ตรวจคนเข้าเมืองของเขา มีคนจำนวนมากสามารถตั้งหลักปักฐานได้เป็นเจ้าของธุรกิจ แต่มีคนไม่น้อยเหมือนกันที่ไม่ประสบความสำเร็จ และจำนวนไม่น้อยที่พาชีวิตบั้นปลายกลับมาอยู่ที่เมืองไทยบ้านเกิดเมืองนอน
ทุกวันนี้ก็มีคนไทยจำนวนมากที่อยากไปทำงานในต่างแดน แต่เป็นพวกใช้แรงงานในประเทศอิสราเอล ญี่ปุ่น เป็นหมอนวดในยุโรป เป็นแม่บ้านในฮ่องกง หรือเป็นผีน้อยที่เกาหลี หรือไปทำงานที่คนของเขาไม่ทำ ดูเหมือนการดิ้นรนไปหาแผ่นดินที่ดีกว่านั้นเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ในขณะที่พม่า ลาว เขมร ก็ดิ้นรนมาทำงานที่เมืองไทยที่คนไทยไม่อยากทำ
ดังนั้นประเทศอื่นก็ไม่ต่างกับเมืองไทย เขาก็ต้องการแรงงานที่คนของเขาไม่ทำ นั่นคือพลเมืองจากชาติที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นกว่าดิ้นรนไปทำงานในประเทศที่เจริญกว่า แต่การอยู่ในต่างประเทศที่ไม่ใช่เป็นพวกแรงงานชั้นสูง (high skill labor) ก็ไม่ได้สุขสบายนัก หลายคนเพียงแต่มุ่งหวังจะทำงานด้วยความอดทนเก็บเงินเพื่อกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิดที่บั้นปลายมากกว่าจะไปปักหลักเป็นพลเมืองของเขาจริงๆ
พวกที่อยู่อย่างมีความสุขมีรายได้ดีจริงๆ จึงเป็นพวกแรงงานชั้นสูงที่ตลาดต่างประเทศต้องการ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร ไอที พวก Construction Carpenter,Steel worker,Mechanical Design Engineer,Electronic Design Engineer หรือ IT System Engineer ฯลฯ แต่คนที่มีความรู้ความสามารถแบบนี้ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในบ้านเราได้ แม้จะมีรายได้ที่น้อยกว่าต่างประเทศก็ตาม
เห็นเพจย้ายประเทศกันเถอะ ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่วันก็มีคนเข้าร่วมหลายแสนคน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในยุคโซเชียลมีเดียที่เมื่อมีกระแสอะไรคนก็สามารถแสดงตัวตอบรับได้ง่าย เพราะเข้าไปคลิกติดตามและทำตามเงื่อนไขที่เขาวางไว้เท่านั้นเอง แน่นอนคนที่เข้าไปร่วมมีทั้งคนที่อยากไปอยู่ต่างประเทศจริง คนที่เข้าไปฟังดูเพื่อให้รู้เห็นทันสถานการณ์ คนที่ไม่เห็นด้วย แต่เข้าไปส่องเพื่อเอามาติฉินค่อนแคะก็มี
ดูเหมือนความหมายของพวกเขาคืออยากจากประเทศนี้ไปเป็นพลเมืองของที่อื่นไม่ใช่แค่ไปทำงานหาเงิน
ฟังจากแอดมินเพจย้ายประเทศกันเถอะ จากเพจเดอะสแตนดาร์ด เขาบอกเหตุผลที่อยากจากประเทศนี้ไปว่า “การที่เราไปไม่ได้แปลว่าจะไม่สู้แล้ว เราแค่รู้สึกว่าอยากไปอยู่ในที่ที่คุณภาพชีวิตดีกว่านี้เพราะเราเกิดมาแค่ครั้งเดียว ชาติหน้าก็ไม่รู้จะได้เกิดเป็นคนหรือเปล่า อีก 5-10 ปีเราก็ไม่อยากจะเสี่ยงว่าลูกเราต้องเติบโตมาในสังคมแบบไหน”
เขาว่า “ถ้าประเทศดีขึ้นคนพร้อมจะกลับมา แต่ถ้าไม่ดีขึ้นเขาก็พร้อมที่จะไป” เมื่อถามว่ามีอะไรทำให้เขาเปลี่ยนใจได้ไหม เขาบอกว่า “มันไม่ได้สายเกินไปแต่เป็นไปได้ยาก ยากเกินกว่าที่ทุกคนจะคาดหวัง เพราะเราอยากเป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ เราอยากเป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี มีรายได้ที่สอดคล้องกับชั่วโมงการทำงาน เราอยากมีสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์ เราอยากกำจัดระบบอุปถัมภ์และระบบราชการเก่าๆ ถ้าประเทศมันดีขึ้นคนพร้อมจะกลับมาอยู่แล้ว แต่ถ้ามันไม่ดีขึ้นเขาก็พร้อมที่จะไป”
แน่นอนแอดมินเพจก็มีทัศนะไปในทางเดียวกับคนหนุ่มสาวที่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะไม่พอใจความเป็นอยู่กับประเทศนี้ เขาเป็นแนวร่วมกับม็อบสามนิ้วอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเรามักได้ยินม็อบพูดถึงการเรียกร้องรัฐสวัสดิการในประเทศนี้ แต่เขาไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า การเป็นรัฐสวัสดิการนั้นต้องแลกมากับอะไร
เห็นสถานทูตสวีเดนออกหน้ามาขานรับการย้ายประเทศ แน่นอนเขาต้องการแรงงานไปทำงานที่คนของเขาไม่อยากทำ เขาต้องการคนหัวกะทิเพื่อไปพัฒนาประเทศของเขา มันเหมือนกับทุกประเทศทั่วโลกนั่นแหละ แต่การเป็นรัฐสวัสดิการของเขาต้องแลกกับภาษีที่สูงแม้จะมีรายได้ที่ดีก็ตาม
คนไทยพร้อมจะจ่ายภาษีในอัตราที่สูงถึง 57% แบบสวีเดนไหม ในขณะที่ประเทศไทยนั้นคนเกือบ 70 กว่าล้านคน เสียภาษีเงินได้เพียง 4 ล้านคน เราชอบพูดกันว่า ภาษีกู โดยอ้างว่าเราเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต แต่เชื่อไหมว่า แม้รัฐบาลตั้งภาษีแวตไว้ 10% แต่เก็บได้จริงๆ แค่ 7% เมื่อไหร่ที่มีข่าวจะขยับภาษีแวตก็จะมีเสียงเรียกร้องโวยวายตามกันมา ดังนั้นจึงเป็นคำถามว่าถ้าเราจะสร้างรัฐสวัสดิการเราควรจะต้องคิดให้ได้ก่อนว่ารัฐจะเอาเงินมาจากไหน และเราพร้อมที่จะสละรายได้เพื่อจ่ายภาษีในอัตราที่สูงหรือไม่
บางคนบอกว่าก็จ่ายค่าแรงแบบยุโรปสิ ยินดีจะจ่ายภาษีสูง แต่ในความเป็นจริงมันทำได้หรือ ถ้าทำได้ทั่วโลกคงจะมีอัตราค่าแรงราคาเดียวกันหมดแล้ว
ผมเคยอยู่ในต่างประเทศนานที่สุดคือ 1 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นและสัมผัสได้คือ มันไม่ได้สะดวกสบายเหมือนบ้านเรา และต้องพบกับความว้าเหว่เปลี่ยวเหงา การหมิ่นแคลนจากคนท้องถิ่นจนเกิดเรื่องชกต่อยกันก็มี และทุกวันนี้กระแสต่อต้านคนเอเชียในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ก็สูง
แต่ผมไม่ขัดขวางคนที่คิดว่าบ้านเรามันไม่ดี มีผู้นำที่ไม่ดี ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีรัฐสวัสดิการ อยากไปอยู่ประเทศที่ดีกว่านะครับ ตอนนี้ที่ห่วงคือ จากที่คาดหวังกันนั้นมีสักกี่คนที่ไปได้จริงๆ ไปแล้วมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ใช่ไปใช้แรงงานที่คนของเขาไม่ทำแบบที่คนพม่า เขมร ลาว เข้ามาทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ
ผมคิดว่าปล่อยให้พวกเขาไปเถอะ ช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนเมื่อเขามีทัศนคติในเชิงลบต่อชาติตัวเอง เพราะเชื่อว่า เมื่อไปแล้ว เขาจะรู้สึกว่าเมืองไทยของเรานี้ดีอย่างไร
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan