xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หนังจีนในยุคสมัยของเรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์....ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล


 ผมเป็นคนชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็กจนโต และเดี๋ยวนี้ก็ยังชอบอยู่ไม่รู้เบื่อ แต่ตอนที่เป็นเด็กโตเข้าโรงเรียนแล้วนั้น หนังจีนเป็นหนังสัญชาติหนึ่งที่ผมได้ดูค่อนข้างบ่อย ส่วนหนึ่งอาจมาจากการเป็นลูกจีนของผมเอง ที่หลายครั้งหลายคราผู้ใหญ่ในบ้านพาไปดู และตอนที่ผมโตจนรู้ความมากขึ้นแล้ว หนังจีนที่ได้ดูส่วนใหญ่มักเป็นหนังฮ่องกง 

ในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 จัดเป็นช่วงที่หนังฮ่องกงเฟื่องฟูมาก

เวลานั้นมีสภาพแวดล้อมหลายอย่างที่ทำให้ผมได้ดูหนังฮ่องกง เช่น เพื่อนบ้านรับนิตยสารหนังฮ่องกง ผมซึ่งที่โอกาสได้อ่านแทบทุกฉบับเลยทำให้รู้ข่าวคราวเกี่ยวกับหนังฮ่องกงอยู่เสมอ ถ้าจำไม่ผิดนิตยสารหนังฮ่องกงนี้ดูเหมือนจะเป็นเฉพาะของบริษัท ชอว์ บราเดอร์ จำกัด ที่ตอนนั้นเป็นบริษัทผู้ผลิตหนังรายใหญ่ของฮ่องกง

การเป็นลูกจีนที่ได้เรียนภาษาจีน การมีเพื่อนเด็กที่ชอบดูหนังเหมือนๆ กัน และการได้อ่านเรื่องจีนในแง่มุมต่างๆ อย่างนิทาน นิยายภาพ วรรณกรรม ฯลฯ ก็เป็นอีกสภาพแวดหนึ่งที่จูงใจให้อยากดูหนังจีน

นอกจากหนังฮ่องกงแล้ว หนังจากไต้หวันก็มีเข้ามาฉายเหมือนกัน แต่น้อยกว่าหนังฮ่องกง หนังจีนจากสองพื้นที่นี้ทำให้ผมรู้จักชื่อดาราและผู้กำกับหนังไปด้วย ครั้นโตเป็นวัยรุ่น ผมก็เหมือนวัยรุ่นสมัยนี้ที่มีดาราที่ตนชื่นชอบ ชอบคนไหนก็มักติดตามข่าวคราวของคนนั้นด้วยความสนอกสนใจ

แต่พอเริ่มโตเป็นหนุ่มความชื่นชอบการดูหนังของผมก็พัฒนามากขึ้นอีกเล็กน้อย คือนอกจากดูเพื่อความบันเทิงแบบสมัยเด็กแล้วก็ยังศึกษาเทคนิคการสร้างหนังด้วย ยิ่งได้อ่านบทวิจารณ์หนังที่ตอนนั้นเริ่มมีนักวิจารณ์มากขึ้นด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้การดูหนังของผมสนุกยิ่งขึ้น

ยิ่งแยกแยะคุณภาพของหนังได้ด้วยแล้วก็ยิ่งรู้สึกสนุก

 แต่กล่าวเฉพาะหนังจีนแล้ว เมื่อผมย้อนรำลึกความหลังเมื่อครั้งที่ดูหนังจีนตอนเด็กจนถึงตอนที่โตเป็นหนุ่มแล้ว ก็ได้ข้อคิดหรือข้อสังเกตหลายอย่างเมื่อแก่ตัวลงในบัดนี้ ความหลังครั้งอดีตที่รำลึกได้ก็คือ ทุกครั้งที่ดูหนังจีนไม่ว่าเมื่อครั้งอยู่ต่างจังหวัด หรือเมื่อมาอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วนั้น ผมสังเกตได้ว่า คนที่ดูหนังจีนโดยส่วนใหญ่หากไม่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลก็จะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน อย่างหลังนี้ผมหมายถึงลูกหลานจีนที่เกิดในไทย 

หากจับเวลาในช่วงระหว่างทศวรรษ 1960 จนถึงทศวรรษ 1970 แล้ว ตอนนั้นชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นที่หนึ่งยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย ส่วนคนไทยเชื้อสายจีนหรือลูกหลานจีนที่เกิดจากรุ่นที่หนึ่งก็เริ่มมีมากขึ้น และจัดเป็นชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นที่สอง จากนั้นรุ่นที่สองก็ผลิตรุ่นที่สาม สี่ ห้า ไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้

มีความแตกต่างกันระหว่างรุ่นที่หนึ่งกับรุ่นที่สองคือ รุ่นที่หนึ่งย่อมใช้หรือรู้ภาษาจีนมากกว่ารุ่นที่สองที่เป็นลูกหลานของตน ยกเว้นรุ่นที่สองที่ได้เรียนภาษาจีนมาอย่างแตกฉาน ซึ่งก็หาได้น้อยมาก

การที่หนังจีนในไทยมีคนดูเป็นคนจีนหรือเชื้อสายนี้ส่วนหนึ่งย่อมแสดงให้เห็นด้วยว่า คนจีนกลุ่มนี้ฟังภาษาจีนกลางในหนังรู้เรื่อง คนที่ฟังจีนกลางไม่ได้ก็อ่านคำบรรยาย (subtitle) จีนได้ แน่นอน คนที่ฟังจีนกลางรู้เรื่องย่อมดูสนุกกว่าคนที่อ่านจากคำบรรยาย

 แต่ประเด็นที่ทำให้รำลึกถึงการดูหนังจีนในอดีตของผมก็คือ การที่คนดูทั้งสองกลุ่มต่างรู้ภาษาจีนดี คนจีนที่ดูหนังจีนในห้วงเวลานั้นจึงจัดเป็นคนจีนที่ยังคงความเป็นจีน (Chineseness) เอาไว้ได้ ในแง่นี้จึงทำให้เห็นว่า การแพร่หลายของหนังจีนในเวลานั้นส่วนหนึ่งย่อมมาจากคนดูที่เป็นคนจีนเหล่านี้ด้วย 

 แต่แล้วภาพดังกล่าวก็ค่อยๆ เลือนหายไปเมื่อถึงปลายทศวรรษ 1970 ต่อทศวรรษ 1980 

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นมีอยู่สองประการด้วยกัน  ประการแรก ชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นที่หนึ่งค่อยๆ ล้มหายตายจากกันไป ส่วนรุ่นที่สองที่มีมากกว่ารุ่นที่หนึ่งก็มีผู้รู้ภาษาจีนน้อยลง แต่มีการศึกษาที่สูงขึ้นและหันไปดูหนังสัญชาติอื่นนอกเหนือจากหนังสัญชาติจีน

และกล่าวเฉพาะที่ดูหนังจีนแล้วก็กลายเป็นว่า ผู้นำเข้าหนังจีนต้องใส่เสียงพากษ์ไทยเข้าไปแทนเสียงจีนด้วย เพื่อให้หนังตอบสนองคนดูที่ไม่รู้ภาษาจีน ซึ่งอาจเป็นลูกจีนที่ไม่รู้ภาษาจีนหรือเป็นคนไทยทั่วไปก็ได้

 ประการที่สอง กระแสความนิยมหนังจีนเริ่มลดน้อยถอยลง ที่เป็นเช่นนี้ส่วนสำคัญมากจากช่วงที่หนังจีน (ซึ่งส่วนใหญ่คือหนังฮ่องกง) กำลังได้รับความนิยมอยู่นั้น ที่ฮ่องกงได้เกิดกระแส  “น้ำขึ้นให้รีบตัก”  ขึ้นมา คือได้มีการฉวยโอกาสสร้างหนังออกมาจำนวนมาก กล่าวกันว่า บางปีมีหนังที่ถูกสร้างมากถึง 300 เรื่องเลยทีเดียว

เรียกได้ว่าผลิตกันแทบจะวันละเรื่องกันเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ หนังจีน (ฮ่องกง) จึงมีคุณภาพด้อยลง บางเรื่องสร้างแบบสุกเอาเผากิน จนคนดูรู้สึกว่าตนถูกดูถูกสติปัญญาจากผู้สร้างหนังเหล่านี้ การเสื่อมความนิยมในหนังจีนนี้ไม่เพียงจะเกิดขึ้นในไทยเท่านั้น แม้แต่ในฮ่องกงเองคนดูก็รู้สึกไม่ต่างกับคนไทย ดังนั้น ในห้วงทศวรรษ 1980 หนังจีนจึงแทบจะหายไปจากเมืองไทย

จากสาเหตุสองประการดังกล่าวทำให้เห็นว่า หนังจีนในเวลานั้นในด้านหนึ่งจึงสะท้อนความเป็นจีนของคนจีนในไทยไปด้วย นั่นคือ สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของความเป็นจีนของชาวจีนในไทยจนสังเกตเห็นได้

จะอย่างไรก็ตาม ในขณะที่ความเป็นจีนของลูกหลานจีนที่ในเวลานั้นมาถึงในรุ่นที่สามหรือสี่หรือห้าแล้วนั้น ได้ลดลงมากแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นที่หนึ่ง คนดูหนังจีนที่ส่วนใหญ่เคยเป็นคนจีนก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นคนดูทั่วไป ส่วนหนังจีนที่เข้ามาน้อยลงนั้น ที่เข้ามาได้ก็มักเป็นหนังที่ค่อนข้างมีคุณภาพ

 หนังเรื่องหนึ่งที่จัดเป็นหนังคุณภาพในเวลานั้นคือ อิงสงเปิ่นเซ่อ (A Better Tomorrow) หรือที่มีชื่อไทยว่า โหด เลว ดี (1986) แต่ก็ด้วยคุณภาพที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จนี้เอง ก็มิวายทำให้มีการสร้างภาคต่อที่ด้อยคุณภาพตามมาอีกในแบบ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” และกลายเป็นตัวอย่างหนึ่งของการฉวยโอกาสของผู้สร้างหนัง 

นอกจากจะเข้ามาน้อยแล้ว พอถึงทศวรรษ 1990 ก็เริ่มมีหนังจีนจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาฉายในไทย แม้จะเข้ามาไม่มากเมื่อเทียบกับหนังฮ่องกง แต่ที่เข้ามาก็จัดเป็นหนังที่มีคุณภาพสูง หนังจากจีนแผ่นดินใหญ่หลายเรื่องจึงได้รับเสียงวิจารณ์ในทางที่ดีจากนักวิจารณ์ชาวไทย

แต่จะด้วยเหตุที่คนดูในไทยเข็ดเขี้ยวกับหนังฮ่องกงด้อยคุณภาพ หรือเป็นเพราะลูกหลานจีนหันไปดูหนังสัญชาติอื่นแทนหรือไรมิอาจทราบได้ ปรากฏว่า หนังคุณภาพจากจีนแผ่นดินใหญ่กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเรื่องรายได้ ซ้ำบางเรื่องยังเข้ามาแบบเงียบๆ และหายไปแบบเงียบๆ หลังเข้าฉายได้ไม่กี่วันอีกด้วย

แต่จะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นหนังคุณภาพจากฮ่องกง จีนแผ่นดินใหญ่ หรือไต้หวัน เมื่อเข้ามาฉายในไทยแล้ว รอบฉายโดยส่วนใหญ่จะเป็นหนังที่พากษ์เสียงภาษาไทยในฟิล์ม ส่วนที่เป็นเสียงจีนกลางนั้นมีรอบฉายน้อยและมักเป็นรอบดึก

จนผมอดสงสัยไม่ได้ว่าใครจะมีแก่ใจไปดู เพราะถ้าเป็นจีนรุ่นที่หนึ่งก็คงจะแก่ชราแล้ว ถ้าเป็นลูกหลานจีนก็แสดงว่ารู้ภาษาจีนดี คนเหล่านี้หากดูได้หรือได้ดูก็แสดงว่าหากไม่มีความอดทนสูงก็คงรักการดูหนังเอามากๆ ผมซึ่งไม่มีแก่ใจจะดูรอบดึกจึงนับถือน้ำใจของคนกลุ่มนี้ด้วยใจจริง ว่าอย่างน้อยก็ยังสะท้อนความเป็นจีนของตนให้เห็น แม้จะผ่านเพียงแค่การดูหนังจีนในเสียงจีนกลางก็ตาม

และอีกเรื่องหนึ่งที่ผมนับถือน้ำใจก็คือ ในขณะที่หนังจีนเสียงไทยมีรอบฉายเป็นส่วนใหญ่นั้น แต่ก็ยังมีโรงหนังบางโรงที่ยอมฉายด้วยเสียงจีนกลางทุกรอบ แต่โรงนี้ได้หายไปหลังมีการเปลี่ยนเจ้าของห้างสรรพสินค้าที่โรงหนังนี้ตั้งอยู่นานนับสิบปีแล้ว

ทุกวันนี้หนังจีนยังคงเข้ามาฉายในไทยน้อยเรื่อง แต่ที่เปลี่ยนไปก็คือ มีหลายโรงที่ฉายด้วยเสียงจีนกลาง ถึงแม้โดยส่วนใหญ่จะเป็นเสียงไทยก็ตาม

ที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับความเป็นจีนดังแต่ก่อนอีกแล้ว เพราะทุกวันนี้คนที่รู้ภาษาจีนดีมีทั้งลูกหลานจีนและลูกหลานไทย ภาษาจีนไม่ได้ถูกสอนเพื่อให้รักษาความเป็นจีนดังอดีต ในขณะเดียวกันผู้เรียนก็เรียนด้วยเหตุผลอันหลากหลายที่มิใช่เพื่อรักษาความเป็นจีนอีกแล้ว

แต่ด้วยเหตุผลเพื่องานที่ทำ เพื่ออ่านวรรณกรรมจีน เพื่อจีบคนจีน เพื่อคุยกับคนจีนในที่ทำงานเดียวกับตน ฯลฯ

หนังจีนหลายเรื่องที่เข้ามาในยุคนี้เป็นหนังคุณภาพ แต่ความนิยมก็ลดลงจากอดีตไปอย่างเทียบกันไม่ได้ บางเรื่องผมเล็งที่จะดู แต่เข้าฉายไม่กี่วันก็ออกจากโรงเสียก่อนจนทำให้ผมไม่ทันได้ดู การที่คนดูหนังจีนน้อยลงนี้ส่วนหนึ่งจึงมาจากการที่ชาวจีนรุ่นที่หนึ่งและสองเหลือน้อยลงนั้นเอง

ในขณะที่รุ่นสาม สี่ ห้า.... เมื่อความเป็นจีนลดน้อยลงก็ไม่มีแรงจูงใจอันใดที่จะดู ส่วนคนรุ่นใหม่ที่รู้ภาษาจีนดีไม่ว่าจะมีเชื้อจีนหรือไม่ก็ตาม ผมเดาว่าคงเพราะไม่ชอบดูหนังโดยนิสัยก็เลยไม่ดู

 ผมซึ่งชอบดูหนังเป็นนิสัยจึงได้แต่กลัวว่า สักวันหนึ่งจะไม่มีหนังจีนเข้ามาให้ดูอีก 


กำลังโหลดความคิดเห็น