นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตนักการทูต โพสต์ข้อความลงในเพจของตนเอง “ทูตนอกแถว” ถึงกรณีกระแส “ย้ายประเทศกันเถอะ” ยันประเทศไทยยังคงมีสิ่งดีๆ มากมายและเป็นประเทศที่น่าอยู่ แต่สิ่งเหล่านั้นกลับน้อยลงทุกวันเพียงเพราะคนแค่ไม่กี่คน จากบ้านเมืองที่เคยรุ่งเรืองต้องกลายเป็นประเทศที่มีคนไม่น้อยอยากหนีออกไป
จากกรณีเป็นกระแสร้อนแรงในโลกออนไลน์ เมื่อมีชาวโซเซียลฯ สนใจรวมกลุ่มกันแชร์ความเห็นและประสบการณ์ในการไปใช้ชีวิตในต่างประเทศในเฟซบุ๊ก ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” ว่ากันว่าหลังจัดตั้งมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.แค่สองสามวันที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีคนสนใจเข้าร่วมมากกว่า 5.5 แสนคน และคาดว่าคงจะขยับเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ สำหรับเฟซบุ๊ก “ย้ายประเทศกันเถอะ” เนื้อหาส่วนใหญ่เห็นว่า สมาชิกพูดกันถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อไปอยู่ในต่างประเทศ ทั้งเรื่องการเตรียมเอกสารขอวีซ่า การเรียนภาษา เพื่อไปเรียน ไปทำงาน ไปจนถึงการไปถาวรเพื่อลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวในต่างประเทศ
สมาชิกกลุ่มยังคอมเมนต์เกี่ยวกับแนวคิดอยากย้ายประเทศซึ่งพบว่าแต่ละคนในกลุ่มต่างก็มีเหตุผลหลากหลาย เช่น ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำ รัฐสวัสดิการไม่ดีเมื่อเทียบกับในหลายประเทศ ไม่พอใจการบริหารจัดการการแก้ปัญหาโควิด-19 ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล ไปจนถึงอยากลี้ภัยทางการเมือง
ความฮอตฮิตของกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” ยังทำให้มีกลุ่มอื่นๆ เกิดมาในลักษณะเดียวกันแตกแยกย่อยออกมาตามอย่าง เช่น “กลุ่มหมอก็อยากย้ายประเทศ” พร้อมๆ กับตั้งทีมประเทศนั้นประเทศนี้ แนะนำประเทศปลายทางที่คิดกันว่าดี แม้แต่สถานทูตสวีเดนก็โดดมาร่วมโหนกระแสไวรัลนี้ โดยเสนอเป็นประเทศทางเลือกหากคนไทยคิดจะย้ายประเทศ
ท่ามกลางความมืดมนของสถานการณ์โควิด และผิดหวังต่อรัฐบาล ก็ไม่น่าแปลกใจที่ไวรัล แฮชแท็ก # ย้ายประเทศกันเถอะ จะกลายเป็นดรามาในเวลาต่อมา
ล่าสุดวันนี้ (4 พ.ค.) เพจ "ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador" ของ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตนักการทูต ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยได้ระบุว่า
“ย้ายไปอยู่ประเทศไหนกันดี วันนี้ขอมาคุยเรื่องอินเทรนด์การย้ายไปอยู่ประเทศอื่นกันบ้าง ในฐานะที่ผมก็เคยมีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศอยู่หลายปี
ในฐานะนักการทูตเราต้องออกไปประจำการในต่างประเทศซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง โดยทั่วไปจะใช้เวลาประจำการเฉลี่ยประมาณสี่ปี โดยเริ่มจากหลังแรกเข้ารับราชการได้ราวสี่ปีก็จะถึงวาระที่จะต้องออกประจำการครั้งแรก แล้วก็กลับมาทำงานในประเทศไทยต่ออีกราวสี่ปีจึงออกประจำการใหม่ สลับกันไปเช่นนี้ พร้อมกับตำแหน่งที่สูงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ (แต่ก็มีข้อยกเว้นบ้าง บางคนอาจออกประจำการมากกว่าคนอื่น และที่ขอไม่ยอมออกประจำการเลยก็มีเช่นกัน)
ผมเคยออกประจำการทั้งหมดหกครั้ง ครั้งแรกที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา ครั้งที่สองที่นครโฮจิมินห์ (เป็นสถานกงสุลใหญ่) ประเทศเวียดนาม ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ที่แขวงสะหวันนะเขต (สถานกงสุลใหญ่) สปป.ลาว ที่กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก และที่กรุงนูร์-ซุลตัน คาซัคสถานเป็นประเทศสุดท้าย ก็ได้ไปอยู่มาหลายทวีป
คำถามที่ผมได้รับบ่อยที่สุดคือชอบประเทศไหนมากที่สุด ซึ่งสำหรับผมก็ตอบยากเพราะแต่ละที่ก็มีความประทับใจไปคนละแบบ สนุกไปคนละอย่าง แต่ก็ล้วนได้ประสบการณ์ที่ดีจากทุกที่
สิ่งหนึ่งที่ผมถือปฏิบัติเสมอมาเวลาไปทำงานต่างประเทศคือเราต้องคอยมองหาข้อดีของประเทศนั้นๆและหาวิธีที่จะสนุกกับการทำงาน เพราะเอาเข้าจริงถ้าจะหาข้อเสียกัน มันก็มีทุกประเทศนั่นแหละ ต่อให้ไปอยู่ประเทศเจริญแค่ไหนจะยุโรปหรืออเมริกามันก็หาข้อติได้ทั้งนั้นถ้าตั้งใจจะติ ดังนั้นการมีทัศนคติที่ดี การเปิดกว้างทางความคิด การยอมรับและเข้าใจในขนบธรรมเนียม วิถีชีวิตแนวปฏิบัติที่ต่างออกไป จะช่วยให้เราปรับตัว ทำงานได้ง่ายและมีความสุขยิ่งขึ้น ถ้าจะย้ายไปอยู่ประเทศไหนก็ควรมีสิ่งนี้นะครับ
จะว่าไปนักการทูตที่ผมรู้จักก็มีไม่น้อยนะครับที่ชอบติ ชอบว่าประเทศเจ้าบ้านที่ตนไปประจำ ซึ่งโอเค บางครั้งมันก็มีบ้างไม่ว่ากัน แต่ถ้ามากไปจนกลายเป็นอคตินิสัยประจำมันก็ไม่ส่งผลดีทั้งในแง่การทำงานและความเป็นอยู่ เพราะจะทำให้เราไม่รู้สึกมีความสุข
แต่ผมก็มักคิดว่าเวลาเรานินทาประเทศอื่นว่าทำงานห่วยโง้นงี้ แต่หากลองคิดกลับกันว่านักการทูตอื่นหรือคนต่างชาติที่ต้องมาทำงานในไทย เจอหน่วยราชการไทยทั้งหลายเข้าไป คงไม่ยากจะคิดว่าเขาคงรู้สึกเช่นใดนะครับ
จะอย่างไร มาถึงตรงนี้ผมก็อยากบอกว่าแม้จะเคยเดินทางไปหลายที่ในโลก ผมก็ยังคิดว่าประเทศไทยมีสิ่งดีๆ มากมายและเป็นประเทศที่น่าอยู่ แต่มันน่าเสียดายที่สิ่งเหล่านี้ลดน้อยถอยลงไปทุกๆ วัน ด้วยน้ำมือของคนเพียงไม่กี่คนที่เห็นแก่ตัวอย่างถึงที่สุด จนจากบ้านเมืองที่เคยรุ่งเรืองต้องกลายมาเป็นประเทศที่มีคนไม่น้อยอยากหนีออกไป
ผมรักประเทศไทยแต่ไม่เคยเป็นโรคคลั่งชาติมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แม้เราจะมีจุดดีมากแต่เราก็มีข้อเสียไม่น้อย เรามีความเลวร้ายที่บางครั้งบางกรณีมันแย่ยิ่งกว่าประเทศอื่นในโลกมาก และสิ่งเหล่านี้แทนที่จะลดน้อยลงกลับยิ่งทับถมทวีคูณมากขึ้น ผมเองรู้สึกเห็นใจและไม่แปลกใจกับการมีคนที่สิ้นหวังกับความห่วยแตกต่างๆ ในสังคมไทยจนต้องการไปหาประเทศอื่นอยู่
และอยากเล่าให้ฟังด้วยว่า เมื่อหลายสิบปีมาแล้วมีนักการทูตรุ่นน้องคนหนึ่งซึ่งมาจากครอบครัวที่มีทั้งฐานะและสถานะสังคมดีมาก ออกประจำการที่อเมริกา พอครบวาระเขาก็ขอลาออกจากราชการและขอสมัครทำงานจากนักการทูตเป็นลูกจ้างพนักงานท้องถิ่นของสถานทูตนั้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลับไปอยู่ที่ประเทศไทยที่เขาทนรับระบบต่างๆ ไม่ได้ (ซึ่งในกรณีเช่นนี้ก็ไม่ใช่มีแค่เพียงกรณีเดียว)
นี่คือหลายสิบปีมาแล้ว และคือคนที่ถือว่าฐานะไม่ได้เดือดร้อน จำได้ว่าบิดาซึ่งมียศตำแหน่งสูงมากโกรธและผิดหวังอย่างยิ่ง แต่คือจะบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่จะมีคนที่เขาไม่อยากอยู่ในประเทศไทย
ก็เอามาเล่าสู่กันฟังกันนะครับ ผมเองไม่เคยติดยึดกับอะไรนักหนา เข้าใจและเห็นใจโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ถ้าเขาจะไปหาสิ่งที่ดีกว่าที่อื่นมันก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลก และเห็นด้วยว่าเราควรจะคิดว่าเราเป็นประชากรของโลก อยู่ที่ไหนก็สร้างประโยชน์ได้เช่นกัน
มันไม่แปลกอะไรกับการที่คนต้องการหาสิ่งที่ดีกว่าในชีวิต แต่ที่มันแปลกและบ้ามากคือพวกคนที่ยังคิดว่าประเทศเราไม่มีปัญหา ยังดีเลิศกว่าใคร ยังเชียร์ในระบอบปัจจุบันที่สร้างความถดถอยในทุกด้านให้กับประเทศชาติ ยังพอใจที่จะจมอยู่กับปลักและความเน่าเหม็นต่างๆ นี่จึงคือความแปลกและบ้าคลั่งอย่างแท้จริง ที่ทำให้คนไทยอีกไม่น้อยต้องเอือมระอาและอยากหนีไปให้พ้นๆ”