โดย ฉัตรแพร ตรีเทพวิไล
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
ผู้ที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมักจะมีความอ่อนไหวไปกับการเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ลงทุนที่ผันผวนรุนแรง และมักจะมีคำถามตามมาว่า “ควรเปลี่ยนแผนการลงทุนดีไหม” เป็นคำถามง่ายๆ แต่คำตอบนั้นไม่ง่ายเลยทีเดียว และผู้ตอบคำถามได้ดีที่สุด คือ นักลงทุนเอง ซึ่งต้องกลับไปพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการลงทุน ความสามารถในการรับความเสี่ยง ช่วงอายุของสมาชิก ระยะเวลาการลงทุน และเป้าหมายของเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณก้อนนี้ ดังนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงมีหลายแผนเพื่อให้เหมาะสมในแต่ละบุคคล แต่เพราะมีหลายแผนให้เลือกจึงเป็นที่มาว่าแล้วเราควรเลือกแผนไหนดี?
แผนไหนถึงเหมาะกับฉัน? เริ่มที่สมมติว่าเส้นทางราคาของสินทรัพย์ที่กองทุนเข้าไปลงทุนนั้น คือเส้นทางตามภูเขา (ที่ยังไม่มีใครสำรวจ เราไม่มีทางรู้ทางข้างหน้าได้เลยว่าจะมีขึ้น มีลงอีกกี่หุบเขา) ตัวเราคือผู้ขับรถคันหนึ่งที่วิ่งอยู่บนเส้นทางบนภูเขานี้ และเราสามารถควบคุมรถ กำหนดความเร็ว โดยการเหยียบคันเร่งหรือจะชะลอรถด้วยการเหยียบเบรก ซึ่งเปรียบเสมือนกับการกำหนดความเสี่ยงในการลงทุนที่เรารับได้ และมีมูลค่าสินทรัพย์สำหรับการเกษียณเป็นเป้าหมาย
สถานการณ์แรก สมมติ คุณเอ คุณบี และคุณซี เป็นสมาชิกที่เพิ่งเริ่มเลือกแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครั้งแรก คุณเอ อายุ 25 ปี ขับรถขึ้นเขา อาจจะเลือกใช้ความเร็วระดับ 6 เพราะประเมินตนเองแล้วว่ามองเห็นสภาพถนนชัดเจน และถึงหากพลาดพลั้งเกิดอุบัติเหตุก็คงไม่เสียหายรุนแรงและพอมีเวลาให้สินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ฟื้นตัวกลับมาได้ คุณบี อายุ 50 ปี อาจจะใช้ความเร็วที่น้อยกว่า อยู่ที่ระดับ 2 เพราะสายตาเริ่มมองไม่ค่อยชัด การตัดสินใจอาจจะไม่ดีเหมือนตอนสาวๆ และมีเวลาการลงทุนเหลือน้อย (กว่าคุณเอ) ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุต้องใช้เวลาพักฟื้นนานและอาจไม่มีเวลาเหลือพอให้สินทรัพย์ที่ลงทุนฟื้นตัวกลับมา “ค่อยๆ ขับรถแบบไม่รีบแต่มั่นคง ค่อยๆ ไปดีกว่า”
พอขับได้สักระยะ คุณซี อายุ 35 ปี ที่ขับด้วยความเร็วระดับ 4 เห็นรถหลายคันแซงตัวเองไป จึงเหยียบคันเร่งมากขึ้น เป็นความเร็วระดับ 6 เพราะเห็นรถคันอื่นขับด้วยความเร็วก็ยังไม่เห็นจะมีอุบัติเหตุเลย แต่พอตัวเองขับไปไม่นานเป็นทางลาดชันลงเขา ด้วยความเร็วที่ขับมาทำให้รถพุ่งลงเขาด้วยความเร็วนั้นเช่นกัน
คำถามยอดฮิต คือขาดทุนแล้ว เปลี่ยนแผนดีไหม? รถตกเขาลงมาแล้ว เอายังไงดีเราจะเหยียบเบรกหรือเหยียบคันเร่งดี ถ้าเรารู้ว่าตอนนี้รถเราอยู่ตีนเขาแล้วข้างหน้าเป็นทางขึ้นเขาทางเดียว ไม่มีเหวข้างหน้ารอเราอยู่ แน่นอนเราคงตัดสินใจเหยียบคันเร่งแน่นอน แต่ประเด็นคือไม่มีใครรู้เลยว่าทางข้างหน้าเป็นอย่างไร
ถ้ารู้ว่าทางข้างหน้าเป็นทางขึ้น เราคงตัดสินใจคงความเร็วหรือเพิ่มความเร็ว ก็อาจจะมีโอกาสกลับขึ้นเขาในระดับก่อนที่รถพุ่งลงมา แต่ถ้าข้างหน้ายังมีเหวลึกลงไปต่อ ใครที่ชะลอความเร็วไว้ จะพยุงไม่ให้รถยิ่งพุ่งลงเหวไปด้วยความเร็วและแรง เพราะไม่มีใครรู้หนทางข้างหน้า แม้เราเจอทางขึ้นเขาก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เจอเหวอีก ดังนั้นเราต้องตัดสินใจเลือกความเร็วรถอย่างรอบคอบโดยประเมินโอกาสของหนทางข้างหน้า และประเมินความเสี่ยง (ที่จะไม่เป็นอย่างที่คิด) อย่างรอบคอบ
คำแนะนำที่ดีที่สุด คือคุณควรเริ่มออกตัวรถของคุณด้วยความเร็วที่เหมาะสมกับคุณ การปรับเปลี่ยนความเร็วรถเป็นเรื่องที่สามารถทำได้แต่ต้องทำด้วยความรอบคอบพร้อมรับผิดชอบผลลัพธ์ที่จะตามมา และไม่ควรทำบ่อยจนเกินไปนัก หากเปรียบเทียบกลับมาเป็นเรื่องการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ คุณควรประเมินความสามารถรับความเสี่ยงของตัวเอง พิจารณาว่าคุณเองเหมาะกับการลงทุนในกองทุนความเสี่ยงมากหรือน้อย หมั่นศึกษาและติดตามสภาวะตลาดการเงินการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นปัจจัยพิจารณาประกอบในการเพิ่มหรือลดความเสี่ยงในการลงทุน สุดท้ายนี้ การยกตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงเชิงเปรียบเทียบให้เห็นภาพเท่านั้น หวังว่าจะได้รับข้อคิดในการตัดสินใจลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคุณได้ดีมากขึ้น